ในบทความของ The Wall Street Journal โดย Jeanne Whalen หัวข้อเรื่อง ” การอ่านช้า ๆ ส่งผลดีกับสมองและลดความเครียด”
ให้เราใช้เวลาในการอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือตัวเล่มหรือ ebook อย่างน้อย 30 นาทีสำหรับโดยที่ไม่ต้องมีอะไรเข้ามาแทรก
ที่เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ สมาชิกของชมรมนักอ่านนัดหมายกันมาที่คาเฟ่สัปดาห์ละครั้ง หลังจากที่แตละคนเลือกเครื่องดื่มที่ชอบ ปิดโทรศัพท์แล้วพากันนั่งจ่อมจมบนเก้าอี้นุ่มๆ อ่านหนังสือท่ามกลางความเงียบเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง
จุดประสงค์ของชมรมนี้ไม่ได้พูดถึงงานวรรณกรรม แต่เพื่อปลีกตัวออกมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งเสียงรบกวนและใจจดจ่ออยู่กับการอ่านหนังสือโดยที่ไม่ต้องมีอะไรมากวนใจ
ชมรมนี้เรียกตัวเองว่า Slow reading club หรือ กลุ่มการอ่านอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มนักอ่านที่ชื่นชอบและโหยหาการอ่านในวัยเรียนดังเช่นแต่ก่อน
การอ่านอย่างช้า ๆ ช่วยขัดเกลาให้เรากลับมามีนิสัยการอ่านที่มีสมาธิซึ่งได้ลดน้อยถอยลงในช่วงหลายปีมานี้ ก่อนหน้าที่จะมี google สมาร์ทโฟน หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ มาดึงความสนใจและเวลาจากเราไปเพิ่มขึ้นทุกที
มีงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร The Journal Neurology เมื่อปลายปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์จากการอ่านในวัยเด็กเล็กจนกระทั่งถึงช่วยวัยกลางคน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุจำนวน 300 คน
ผลการวิจัยกับกลุ่มที่ต้องเจอกับกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิอยู่เสมอ ๆ อย่างเช่น การอ่าน มีอัตราสูญเสียความทรงจำในอัตราที่ช้ากว่าหลายปี นอกจากนี้แล้วยังมีผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ปลายปีที่แล้วเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่าการอ่านนวนิยายช่วยให้คนเราสามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและชุดความเชื่อที่คนอื่น ๆ มีได้ดี ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ของบุคคล
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Development Psychology ปี 1997 ที่แสดงให้เห็นว่าทักษะในการอ่านของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีความสัมพันกันอย่างใกล้ชิดกับความสำเร็จในการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หลายปีให้หลังมานี้ นิสัยการอ่านได้ลดลงไป จากการสำรวจโดย Pew Research Center ในปีนี้พบว่าชาวอเมริกันที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 76% บอกว่าพวกเขาอ่านหนังสืออย่างน้อยหนึ่งเล่มในปีที่ผ่านมา ลดลงจาก 79% ในปี 2011
หน้าจอได้เปลี่ยนรูปแบบการอ่านของเราไป จากที่เคยอ่านในแนวตรง จากซ้ายไปขวา กลายมาเป็นการอ่านแบบกวาดตาไปทั่วเพื่อที่จะมองหาคำสำคัญและจุดข้อมูลที่เราสนใจ
การศึกษาในปี 2006 เรื่องการเคลื่อนไหวของลูกนัยน์ตาจากกลุ่มสำรวจจำนวน 232 คน ในการอ่านหน้าเว็บไซต์ พบว่า พวกเขาอ่านหน้าเว็บไซต์ในรูปแบบของตัว F
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่าไม่ได้ส่งผลดีต่อการสร้างความสามารถในการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการอ่านตัวหนังสือที่แทรกด้วยลิงค์ออกไปยังเนื้อหาภายนอกนั้นทำให้เราทำความเข้าใจได้ยากขึ้นมากกว่าการอ่านเนื้อเรื่องธรรมดาที่ไม่มีลิงค์แทรกอยู่
การวิจัยในปี 2007 กับกลุ่มตัวอย่าง 100 คน พบว่าการนำเสนอแบบมัลติมีเดียที่ผสมกับตัวอักษร มีเสียงและภาพเคลื่อนไหวประกอบ ส่งผลให้การทำความเข้าใจกับเนื้อหาได้ต่ำก่วาการอ่านเฉพาะตัวอักษรเพียงอย่างเดียว
การอ่านอย่างช้า ๆ หมายความถึงการกลับไปสู่ความต่อเนื่อง ในรูปแบบของการอ่านที่เป็นเส้นตรง ใช้เวลาในการอ่านอยู่ราว ๆ 30 – 45 นาที ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ บนเก้าอี้ที่นั่งสบายโดยปราศจากเสียงรบกวนหรือสิ่งที่จะมาเบี่ยงเบนความสนใจอย่างโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็เหมือนกับช่วงตารางเวลาสำหรับออกกำลังกายเพียงแต่เราเปลี่ยนมาเป็นช่วงเวลาสำหรับการอ่านหนังสืออย่างแท้จริง นอกจากนี้แล้วการจดโน๊ตย่อระหว่างการอ่านจะช่วยทำให้เรามีสมาธิกับตัวหนังสือได้มากขึ้นอีกด้วย
ผู้สัดทัดกรณีบางคนแนะนำว่า การอ่านหนังสือตัวเล่มจะส่งผลดีมากกว่า เนื่องจากเราสามารถมองเห็นหนังสืออยู่ทั่วบ้านและคอยกระตุ้นให้เราอยากอ่านหนังสือ แต่บางคนก็กล่าวว่า การอ่าน ebook ก็ให้ผลไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตอนที่เราอ่านนั้นไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางคนก็ใช้วิธีอ่าน ebook บนมือถือ แต่เปิด airplane mode ไว้ เพื่อไม่ให้มีอะไรมารบกวนระหว่างที่อ่าน
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า การอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ การทำโยคะ เป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกัน