
พร้อมรับประกันการจัดส่งถึงบ้าน
ไม่ได้รับสินค้า ยินดีคืนเงินเต็ม 100%
Tel : 08-5464-1644
..........................................
ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สมัยที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร ได้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขยายตัวแบบกึ่งอุตสาหกรรม มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ วางท่อส่งน้ำยาวหลายกิโลเมตร สร้างโรงไฟฟ้า บังกาลอร์เป็นหนึ่งในหลายเมืองที่มีไฟถนนที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปราว 70 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลองบึงน้อยใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่รอบ ๆ เมืองไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง
อินเดียประกาศเอกราชจากการปกครองของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947
……

source : Street Scene In British Era Bangalore, Old PC 1920 – Past-India
คราวนี้มองย้อนกลับไปในอดีตใกล้ๆ สักหน่อย เมื่อ 40 กว่าปีก่อนที่เมืองบังกาลอร์ สถานที่แห่งนี้ยังเป็นทุ่งหญ้าเขียวโปร่งโล่งขจี วิวทิวทัศน์ที่เงียบสงบ ประชากรยังไม่มากมาย ส่วนใหญ่ทำการเกษตร แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อโอกาสมาถึงจากยุคโลกาภิวัฒน์ทางด้านไอที ชาวอินเดียเริ่มตระหนักได้ว่าพวกเขาก็มีความสามารถทางด้านไอทีไม่แพ้ที่ใดในโลก ดังนั้นทศวรรษที่ 80 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคไอทีในอินเดีย เริ่มสร้างชื่อจากการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาซอฟท์แวร์แห่งใหม่นอกสหรัฐฯ ประกอบกับในปี 1984 รัฐบาลอินเดียได้มีนโยบายเปิดเสรีทางด้านคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของเมืองบังกาลอร์ขจรขจายออกไปทั่วโลก ดึงดูดการลงุทนจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนหรือว่าลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคขึ้นในอินเดีย
ที่อินเดียมีคนเก่ง ๆ อยู่มากมาย โดยเฉพาะเมื่อเราเปรียบเทียบค่าแรงกับการทำงานในสหรัฐฯ ที่ค่าจ้างต่อชั่วโมงเฉลี่ยอยู่ราว ๆ 50 เหรียญฯ ต่อชั่วโมง แต่หากจ้างคนอินเดียทำงานแบบเดียวกันนี้จะมีค่าแรงอยู่ที่ 15 เหรียญฯ ต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมใหม่นี้เบ่งบาน เติบโตอย่างรวดเร็วในอินเดียประกอบกับภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวจนได้รับสมญานามว่า “ซิลิคอนแวลลีย์แห่งอินเดีย”
ผู้คนต่างเริ่มหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเมืองบังกาลอร์แห่งนี้ โดยในปี 2011 ในเขตตัวเมืองมีประชากรอาศัยอยู่ราว 8.4 ล้านคน ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามของอินเดียและมากที่สุดในเขตอินเดียใต้
จากนั้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 2014 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเมืองบังกาลอร์เป็นชื่อใหม่ว่าเบงกาลูรูเมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ อย่างเป็นทางการ
…………………………………………..

ในปัจจุบันประชากรเมืองบังกาลอร์เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน พื้นที่ตัวเมืองก็ขยับขยายออกไปกว่าเดิมมาก ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเมืองจะเติบโตได้เร็วในอัตราทวีคูณได้ขนาดนี้ เมื่อเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน แหล่งน้ำที่มีในอดีต ไม่ว่าจะเป็นห้วย หนอง คลอง บึง อ่างเก็บน้ำ จากในอดีตที่มี 1,000 กว่าแห่ง ในปัจจุบันเหลือไม่ถึง 30 แห่ง !!
แล้วเรื่องแหล่งน้ำเกี่ยวอะไรกับเมืองบังกาลอร์ ? บังกาลอร์เน้นไอที ทำซอฟท์แวร์ ทำแอพพลิเคชัน ไม่ได้เน้นเรื่องน้ำ !!!
นั่นก็เพราะว่า แหล่งน้ำที่นำมาอุปโภคบริโภคในเมืองแห่งนี้นั้นกำลังแห้งเหือดลงไปจากเดิมถึง 50%
คนเขียนโปรแกรมไม่ดื่มน้ำ ไม่อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ซักผ้า ไม่เข้าห้องน้ำกดชักโครกหรือไง ? ไม่กินข้าว ไม่ต้องทำกับข้าวเหรอ ?
เมื่อตัวเมืองขยายตัวออกไปเร็วกว่าที่ใครจะคาดคิดทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาที่ตามมาหลายอย่างและปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ซึ่งไม่ใช่เป็นการขาดแคลนแบบไม่มีใครเอาน้ำมาส่งไว้หน้าห้อง หน้าออฟฟิศสำนักงาน แต่เป็นการขาดแคลนน้ำในระดับที่แหล่งน้ำในธรรมชาติมีปริมาณน้ำลดลงอย่างมาก
เมื่อตัวเมืองขยาย ผู้คนเพิ่มจำนวน การใช้น้ำก็เพิ่มมากขึ้นในอัตราทวีคูณ สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน อาคารขนาดใหญ่ ถนน หนทาง ที่เพิ่มพื้นที่คอนกรีตก็ทำให้การซึมผ่านของน้ำในอากาศทำได้ยากขึ้น แล้วในช่วงหลังมานี้ก็เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อินเดียต้องเผชิญกับภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดความแห้งแล้งแต่ปริมาณการใช้น้ำยังอยู่ในระดับสูงเท่าเดิม ทำให้นอกจากไม่มีน้ำมาเติมเต็มห้วย หนอง คลอง บึง ยังดึงเอาน้ำที่กักเก็บไว้ไปใช้จนลดต่ำลงไปมากกว่าเดิมอีก
……………………………….

ผู้คนในเมืองบังกาลอร์ต้องพึ่งพิงน้ำจากแม่น้ำคอเวอรีที่อยู่ห่างออกไปราว 100 กิโลเมตรทางตอนใต้ของเมืองและเป็นแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวที่เหลืออยู่ ชาวเมืองบอกว่าพวกเขาจะได้ปันส่วนจากแม่น้ำคอเวอรีเพียงสัปดาห์ละครั้ง น้ำประปาเหล่านี้ไม่เพียงพอ ต้องไปซื้อน้ำบาดาลเพิ่มด้วย โดยจะมีรถบรรทุกน้ำมาส่งให้ถึงที่แต่น้ำพวกนี้จะนำมาดื่มไม่ได้ ต้องไปซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดแยกต่างหาก อย่างน้อย ๆ ต้องมี 4-5 ขวดต่อวัน ตีคร่าว ๆ ว่าบ้านหลังหนึ่งต้องมีน้ำดื่มอย่างน้อย 30 ลิตร ในขณะที่รถบรรทุกน้ำก็จะมาส่งเฉพาะวันจันทร์ โดยน้ำที่มาส่งแต่ละครั้งไม่ได้พอใช้ทั้งอาทิตย์ อย่างมากก็พอใช้ได้แค่ 2-3 วัน ทำให้ต้องแยกน้ำในส่วนนี้ไว้เฉพาะทำกับข้าวหรือทำอะไรเล็ก ๆ น้อย เพื่อให้เหลือพอใช้จนถึงอาทิตย์ถัดไป เรื่องน้ำกินน้ำใช้เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรเพราะมันก็ทำได้เท่านี้ ทุกอย่างก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น
บังกาลอร์ต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำราว ๆ 500 ล้านลิตรต่อวัน
………………………….
ในปี 2022 อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกคือราวๆ 1,400 ล้านคน ส่งผลให้ทรัพยากรน้ำกลายเป็นของหายากและมีค่ามีราคาในประเทศนี้
……………………………..

ในมุมมองของคนขับรถบรรทุกน้ำ บอกว่า ธุรกิจในเมืองต้องการน้ำปริมาณมาก ๆ มีโทรศัพท์เข้ามาให้ไปส่งน้ำไม่ต่ำกว่า 50 สายต่อวัน เราต้องเอารถไปเติมแท้งก์น้ำของพวกเขาให้เต็ม หากพวกเขาไม่มีน้ำใช้แล้วจะเดือดร้อนมาก ทนได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยรถบรรทุกน้ำคันหนึ่งสามารถบรรทุกน้ำได้ราว 7,000 ลิตร ที่เห็นได้ชัดคือพักหลังมานี้เราต้องขับรถออกไปไกลจากเดิมเพื่อหาแหล่งน้ำใหม่เนื่องจากแหล่งน้ำเดิมที่เคยใช้นั้นน้ำเหลือน้อยลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำบาดาลหรือว่าน้ำที่ไหน ๆ ก็มีปริมาณลดลงไปจากเดิมเยอะมาก อย่างน้ำบาดาลที่เราเคยเจาะเมื่อไม่กี่ปีก่อน เจาะลงไป 300 เมตรก็เจอน้ำแล้ว แต่ตอนนี้อย่างต่ำ ๆ เลยต้องลึกกว่า 600 เมตร มันหายากขึ้นกว่าเดิม ก่อนจะมาขับรถบรรทุกน้ำผมทำเกษตรมาก่อน แต่ก็อย่างที่ทราบเรามีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ แล้วปลูกอะไรก็ต้องใช้น้ำ ไม่อย่างนั้นแล้วก็แห้งตายหมด ผมถึงต้องเปลี่ยนอาชีพแต่ผมเองก็ไม่ได้เรียนหนังสือจะให้ไปทำงานในบริษัทไอทีพวกนั้นก็คงไม่ได้ ตรงชานเมืองนั่นเมื่อก่อนก็มีแต่ถนนลูกรัง แต่ตอนนี้เต็มไปด้วยโครงการบ้านจัดสรร อาคารต่างๆ ที่ผมรู้ก็เพราะว่าผมต้องไปส่งน้ำแถบนั้นด้วยเช่นกัน เทศบาลเองก็จัดหารถน้ำไปส่งในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนเหมือนกันแต่ก็ไม่พออยู่ดี พวกเขาถึงต้องพึ่งพาเราเป็นหลัก
…………………………………
การนำน้ำจากแม่นำคอเวอรีนั้นไม่ได้ทำกันบ่อยนัก แต่เนื่องจากลำพังการที่รถบรรทุกน้ำมาส่งสัปดาห์ละสองครั้งนั้นไม่เพียงพอ พวกเขาต้องใช้วิธีการปิดเปิดประตูน้ำเพื่อส่งน้ำไปยังแต่ละเขตสลับกันเพื่อให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง โดยทั่วไปแล้วบ้านหลายหลังก็มีการขุดเจาะน้ำบาดาล แต่เมื่อน้ำมันแห้งพวกเขาก็จะโทรหาเรา จะเห็นได้ว่ารถบรรทุกน้ำมีบทบาทอย่างมากในการบริหารจัดการความต้องการน้ำของที่นี่
คนขับรถบรรทุกน้ำยังบอกด้วยว่า ผู้คนมองธุรกิจรถบรรทุกน้ำเป็นเหมือนกับมาเฟีย ทำไมพวกเขาถึงคิดกับเราแบบนั้น ? นั่นก็เพราะว่าพวกเขาไม่ต้องการจ่ายเงินในเรื่องนี้ หากเราหยุดส่งน้ำในเขตเมืองนั้นแม้แต่วันเดียว ผู้คนทุกคนที่นั่นจะเข้าใจถึงความสำคัญของน้ำได้เป็นอย่างถ่องแท้เลยทีเดียว
…………………

สำหรับเมืองที่กระหายน้ำนี้ ไม่ได้เพียงแต่ธุรกิจรถบรรทุกน้ำแล้วก็ธุรกิจไอทีเท่านั้นที่กำลังเติบโต แต่ยังมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตด้วยเช่นกัน การเติบโตของบังกาลอร์นั้นขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมไอทีเป็นหลัก อย่างน้อย ๆ กว่า 90% จะมีออฟฟิศหรือสำนักงานของตนอย่างน้อย 1 แห่งในเมืองบังกาลอร์ ทำให้ธุรกิจอสังหาเติบโตแล้วก็มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากด้วยเช่นกันประเด็นก็คือที่นี่ไม่ได้มีการวางผังเมืองล่วงหน้า ทำให้ต้องเจอกับผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่
ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นจากแต่ก่อนอย่างมาก เนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คนในภาคอุตสาหกรรมไอที หลายคนคิดว่าภาคอุตสาหกรรมไอทีคือการพัฒนาที่ยอดเยี่ยมบังกาลอร์คือเมืองที่มีอนาคต แต่แท้ที่จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมไอทีนั่นแหละที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบังกาลอร์ ไล่ตั้งแต่ที่ดินราคาแพงมาก ขาดแคลนที่ดิน พวกผู้มีอิทธิพลก็เข้าไปบุกรุกที่สาธารณะ และปัญหาใหญ่ก็คือที่ดินสาธารณะที่พวกเขาบุกรุกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รอบทะเลสาบ ถึงแม้จะมีการฟ้องร้องจนกระทั่งศาลออกคำสั่งห้ามกระทำการใด ๆ ที่เป็นการลุกล้ำหรือใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะรอบทะเลสาบ แต่ก็แค่นั้น พวกเขาก็ยังคงละเมิดคำสั่งศาลและกระทำการที่สร้างผลกำไรให้พวกเขาเหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้สนใจทะเลสาบ พวกเขาสนใจที่มันทำเงินได้ แถมยังมีนักการเมืองถือหุ้นในบริษัทที่รุกที่สาธารณะเหล่านั้นด้วยอีกต่างหาก
………….
การเติบโตและขยายตัวของเมืองที่ไร้การควบคุม ในไม่ช้าทะเลสาบก็หายไปหรือไม่ก็เต็มไปด้วยมลพิษทางน้ำ ทำให้เหลือทางเลือกในการแก้ปัญหาอยู่ไม่กี่อย่างเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนน้ำ ทำให้บังกาลอร์ต้องทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่พอหาได้ซึ่งอยู่ไกลออกไปอย่างมากจากตัวเมือง ส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำเหล่านั้นค่อย ๆ เหือดแห้งไป ขณะเดียวกันธรรมชาติก็ไม่อาจเติมน้ำทดแทนลงไปในแหล่งน้ำที่ว่าได้รวดเร็วเพียงพอ ในปี 2020 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจึงทำให้ไม่มีน้ำมาเติมเต็มแหล่งน้ำเหล่านี้ ที่ทะเลสาบใกล้เมืองบังกาลอร์ มาตรวัดระดับน้ำที่ตั้งเด่นนั้น แสดงให้เห็นระดับน้ำที่เคยสูงสุดอยู่เหนือหัวเราแต่ทว่าในตอนนี้ระดับน้ำกลับแห้งต่ำกว่าพื้นดินที่เรายืนเสียอีก นั่นทำกับว่าปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในอนาคต
ผู้สูงอายุในพื้นที่บอกว่า ย้อนไป 40 ปีก่อน ฝนตกชุก เรามีน้ำเต็มทุกที่ เมืองบังกาลอร์ก็ใช้น้ำจากทะเลสาบแห่งนี้ แต่ให้หลังไม่กี่ปีมานี้ ฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในทะเลสาบเพียงพอต่อการชลประทานไปยังพื้นที่เกษตรในเขตนี้เท่านั้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการขยายตัวของเมืองนั้นเป็นตัวทำลายทะเลสาบด้วยการใช้น้ำมหาศาล หรือต่อให้ฝนตกลงมาตามปรกติก็ตามแต่การใช้น้ำก็เพิ่มตามไปด้วย เราจะมีมาตรการกักเก็บน้ำไว้ได้อย่างไร นี่คือปัญหาที่จะต้องหาทางออกของการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองกับระบบนิเวศ ไม่อย่างนั้นแล้ว การขาดแคลนน้ำจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นวันแล้ววันเล่า
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า 3-5 ปีหรืออีก 10 ปีนับจากนี้ จะไม่มีน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงเมืองบังกาลอร์อีกต่อไป แต่ไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น พวกเขาสนใจการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า ความสมดุลทางด้านระบบนิเวศของเมืองอยู่ในจุดที่เปราะบางเหลือคณา ทุกอย่างในเมืองพึ่งพากับแหล่งน้ำหลักเพียงแห่งเดียวนั่นก็คือแม่น้ำคอเวอรี
………….

เกษตรกรคนหนึ่งพาเราไปที่คลองส่งน้ำที่แห้งผากแม้แต่ผืนดินก้นคลองยังแห้งเป็นผุยผงแล้วเราจะคาดหวังถึงน้ำที่จะใช้ในการทำการเกษตรได้อย่างไรกัน จะปลูกอะไรได้ ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ทว่า 10 ปีมานี้ไม่ได้มีการปรับปรุงอะไรเลย ในทางกลับกันน้ำจากแม่น้ำต้องถูกแบ่งสันปันส่วน เราได้รับน้ำเพียงเดือนละครั้ง อนาคตไม่มีอะไรแน่นอนหรือรับประกันได้เลย เราไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความช่วยเหลือที่ทางการมีให้ ที่นี่ ตอนนี้ เราเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ผืนดินแห้งแล้งมากเกินไปที่จะเพาะปลูกอะไรให้งอกงามได้
ผมจะแสดงให้ดูว่าผลผลิตทางการเกษตรถูกทำลายได้อย่างไร นี่คือผลลัพธ์จากการที่เราได้รับน้ำเดือนละครั้ง ตอนแรกเราพยายามจะปลูกข้าวแต่ในที่สุดมันกลับกลายเป็นหายนะ เนื่องจากความแห้งแล้ง แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถขุดสระเก็บน้ำได้ อย่างน้อยก็ต้องมีเงิน ถ้าอยากจะมีบ่อน้ำเก็บน้ำไว้ใช้ก็ต้องยอมขายที่ดินไปบางส่วนเพื่อให้ได้เงินมาขุดบ่อ แต่ทุกคนก็ใช่ว่าจะมีที่ดินมากมายอะไร หลายคนก็ไปกู้เงินมาเจาะน้ำบาดาล มันบังคับให้เราต้องดำเนินชีวิตไปบนพื้นฐานของการก่อหนี้ หลายคนที่หาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหวก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย
ตรงจุดนี้คือบ่อน้ำของเราที่ต้องทำเพื่อมาชดเชยกับการจัดส่งน้ำที่ไม่เพียงพอ ถึงแม้เราจะขายที่ดินไปเพื่อเอาเงินส่วนนั้นมาขุดเจาะบ่อน้ำ แต่มันก็ไม่ได้น้ำมากอย่างที่เราคาดหวังไว้
ที่นี่เราปลูกข้าวฟ่างแต่ทว่า มันแห้งตาย เราได้รับน้ำจากคลองส่งน้ำเดือนละครั้ง ในวันที่มีน้ำเราก็จะนำมารดพื้นที่เพาะปลูกของเรา แต่วันอื่น ๆ ที่ไม่มีน้ำเลยทั้งเดือนมันก็ไม่มีพืชผลอะไรที่ทนแล้งได้นานขนาดนั้น
การขาดแคลนน้ำและไฟฟ้าส่งผลกระทบกับชีวิตของเราอย่างมากและเราเองก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไรอย่างอื่น เกษตรกรอย่างพวกเราต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่กับสิ่งที่เราเพาะปลูกเพียงเท่านั้น เรายังคงมีหวังแต่ทั้งหมดที่เราทำได้ในตอนนี้ก็คือรอ..
พ่อแม่ของผมเป็นเกษตรกรและก็ส่งต่อมาถึงรุ่นผม ตอนนี้มันเป็นหน้าที่ของผมแล้ว ผมเองก็แต่งงานมีครอบครัวนั่นก็หมายความว่านอกจากการเพาะปลูกแล้วผมเองก็มีหน้าที่อย่างอื่นเพิ่มเข้ามาด้วย เกษตรกรนั้นมักจะขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินกู้ยืมหรือเงินอุดหนุนต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลว่าจะไปรับเงินดังกล่าวได้จากที่ไหนหรือไปติดต่อใครจะเชื่อใจใครได้บ้าง พ่อของผมไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย พอเขาเห็นดอกเบี้ยที่ต้องใช้หนี้ก็ถึงกับทรุดเลยทีเดียว เช้าวันหนึ่งพ่อออกไปที่ท้องไร่ ตอนแรกก็คิดว่าคงไปหามะพร้าว แต่ไม่ใช่พ่อไปผูกคอตาย
การเพาะปลูกที่ล้มเหลวแล้วก็การเป็นหนี้ที่พอกหางหมูขึ้นทุกทีทำให้หลายคนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองซึ่งรัฐบาลต้องเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องนี้ แทนที่จะเรียกว่าพวกเขาฆ่าตัวตาย ควรจะเรียกรัฐบาลว่าฆาตรกรจะเข้าท่ากว่า
………………..

พวกเราที่นี่ล้วนเป็นเกษตรกร เราต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดกันมาอย่างยาวนาน แต่นโยบายของรัฐบาลคือการย้ายเกษตรกรจากสถานะภาพที่แข็งแกร่งไปสู่สถานะที่อ่อนด้อยเสียอย่างนั้น ประชากรที่นี่ 75% ต่างก็ทำงานในภาคเกษตร ชีวิตของพวกเราที่นี่อิงแอบแนบอยู่กับการเกษตร แต่เมื่อไม่สามารถทำเกษตรได้ รายได้ที่หล่อเลี้ยงครอบครัวก็หายไปทำให้ชีวิตเราไม่แน่นอน จากที่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำคอเวอรีเพื่อให้กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร กลายเป็นว่าตอนนี้น้ำถูกนำไปใช้เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนที่อื่น ผืนดินที่อื่นเสียอย่างนั้น ซึ่งการจัดสรรน้ำที่ผิดปรกติไปนี้ไม่ตรงกับความต้องการของเรา
ถ้าหากเมืองบังกาลอร์ขาดน้ำใช้แม้แต่เพียงวันเดียว หมู่บ้านของเราจะมีน้ำใช้ทันที เพราะอะไร เพราะบังกาลอร์ใช้น้ำมหาศาล ตรงนี้แสดงให้เห็นความต้องการของชาวบ้านและเกษตรกรถูกมองข้ามไป
ในปี 2016 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานกว่าที่เคย ทำให้เกิดการประท้วง เผารถประจำทาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เหมือนเราพร้อมที่จะเสียเลือดมากกว่าน้ำ แม่น้ำคอเวอรีไหลจากรัฐกรณาฏกะลงใต้ไปยังรัฐทมิฬนาฑู จากการที่คุณต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำนั้นเดียวนี้เพิ่มมากขึ้นทุกที กลายเป็นว่าต้องบีบให้คนทั้งสองรัฐนี้ต่อสู้แย่งชิงน้ำกัน ปัญหาทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด
ลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากภาวะภัยแล้งนี้อยู่นานขึ้นกว่าเดิม เมืองบังกาลอร์อาจจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรลงถ้าหากน้ำในแม่น้ำคอเวอรีเหือดแห้งลงไปยิ่งกว่านี้ เนื่องจากเราไม่ได้พัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ได้รักษาแหล่งน้ำในท้องที่เลย
เกิดอะไรขึ้นกับเกษตรเมื่อพวกเขาไม่มีน้ำและโอกาสที่จะมีรายได้มาเลี้ยงชีพ คำตอบก็คือพวกเขาบางส่วนพากันย้ายเข้าไปหางานทำในบังกาลอร์โดยอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแถบชานเมือง ประชากรของเมืองเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนทุก ๆ สองปี
อินเดียเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพามรสุม โดยฤดูฝนจะยาวนาน 4 เดือน เริ่มจากวันที่ 1 มิถุนายน ไปจนถึง 30 กันยายน ซึ่งใน 4 เดือนนี้ จะมีน้ำมาเติมคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของปริมาณน้ำที่เราใช้กันตลอดทั้งปี ประเด็นสำคัญก็คือหากในฤดูมรสุมเกิดฝนทิ้งช่วงติดต่อกันสักสองปีถึงตอนนั้นเรากำลังเจอกับวิกฤติอย่างรุนแรง
….
โลกขับเคลื่อนด้วยไอที แต่คนเราก็ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสี่เช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาที่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นทุกภาคส่วนต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้ โดยอาศัยการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมและมีการกระจายความเจริญออกไปอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัว กระจายโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับการขยายตัว เพื่อประโยชน์ของผู้คนหลากหลายอาชีพ ทำให้ทุกคนมีรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวเมืองหรือทรัพยากรแห่งหนึ่งแห่งใดมากจนเกินไป
อินเดียประเทศที่ร่ำรวยวัฒนธรรม มีประชากรมากที่สุดของโลก มีพื้นที่ประเทศใหญ่โต จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เราเรียนรู้ถึงการเติบโตกับแนวทางการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
…………………….
แนะนำหนังสือต่างประเทศที่เกี่ยวกับ Bangalore Silicon Valley of India
How to Explore and Thrive in Bangalore: A Comprehensive Guide to the Silicon Valley of India ISBN-13: 9798388268273
Life at Silicon Valley of India ISBN-13: 9798305654455
The Maverick Effect: The Inside Story of India’s IT Revolution ISBN-13: 9789354895296
Bangalore Unveiled: A Journey Through the Vibrant Silicon Valley of India ISBN-13: 9789356679467
Building Bangalore: Architecture and Urban Transformation in India’s Silicon Valley ISBN-13: 9780415748759

พร้อมรับประกันการจัดส่งถึงบ้าน
ไม่ได้รับสินค้า ยินดีคืนเงินเต็ม 100%
Tel : 08-5464-1644
..........................................