ดักจับภาพสัตว์ป่ากลับได้ภาพคนแทน

0
806
Listen to this article

นักวิทยาศาสตร์ต้องเผชิญกับประเด็นทางจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจกรณีที่กล้องดักจับภาพสัตว์ป่าจับภาพคนที่เข้าไปในบริเวณนั้นได้แทน

………………

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นีมา แฮร์ริส นักชีววิทยาสัตว์ป่าจากภาควิชานิเวศวิทยาและวิวัฒนาการทางชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กำลังศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์ป่าโดยอาศัยการติดตั้งกล้องดักจับภาพตามจุดต่าง ๆ  ในป่า ตัวกล้องจะตรวจจับความร้อนและการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าวหรือมีการตรวจพบความร้อนที่แผ่ออกจากร่างกายสัตว์ตัวกล้องก็จะทำการถ่ายภาพโดยอัตโนมัติ ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราดั้นด้นไปติดตั้งกล้องไว้ในป่าเพื่อให้ได้ภาพสัตว์ป่าซึ่งจะนำมาวิเคราะห์ทางสถิติวิจัยนั้น เราไม่ได้คาดหวังจะได้ภาพคนมาด้วย !!!

ช่วงปี 2016-2018 ดร.แฮร์ริส ได้เผยแพร่ผลการสำรวจจากกล้องที่ติดตั้งไว้ในประเทศบูกินาฟาโซและไนเจอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็คือการศึกษาอัตราการใกล้สูญพันธุ์ของสิงห์โตอาฟริกาตะวันตก แต่ปรากฏว่าภาพที่ภ่ายได้มักจะมีภาพคนบังเอิญติดมาด้วยซึ่งเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ซึ่ง ดร.แฮร์ริสเองจึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการศึกษาไปถึงเรื่องว่ามนุษย์เข้าไปทำอะไรในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

ดร.แฮร์ริส บอกว่าการศึกษาถึงกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่านั้นมักจะเป็นบันทึกรายงานตามที่มีการแจ้งถึงกิจกรรมที่เข้าไปทำ แต่จากการดูภาพที่ถ่ายได้ ทำให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ ในพื้นที่ ข้อมูลที่เราได้รับนั้นน่าสนใจมาก

………..

ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 2018 พบว่า ไม่ได้มีเพียงแต่งานวิจัยของ ดร.แฮร์ริส ตามลำพังเท่านั้นที่นักวิจัยพบข้อมูลของบุคคลเข้าไปปะปน จากการสำรวจกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวน 235 รายจาก 65 ประเทศ ถึงการจับภาพบุคคลได้ในงานวิจัยนั้น มีถึง 90% ที่รายงานว่ามีการจับภาพบุคคลได้ในงานวิจัยของพวกเราเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งนอกจากนี้แล้วหลายงานวิจัยที่ทำการศึกษาติดตั้งกล้องในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่อยู่ไกลลึกเข้าไปมากเพื่อที่จะจับภาพสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่ป่าจริงๆ กล้องก็ยังจับภาพบุคคลได้ !

ตามการศึกษาของ ดร.แฮร์ริส การที่กล้องจับภาพคนที่บังเอิญผ่านไปบริเวณนั้นได้ ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นความบังเอิญไปเสียทั้งหมด  กว่าครึ่งของนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจของทางเคมบริดจ์ระบุว่าพวกเขาเคยใช้รูปที่ได้จากการทำกิจกรรมของคนซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายแจ้งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า สื่อมวลชนและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อบังคับใช้กฏหมายต่อไป

………..

การวิจัยในปี 2012  เพื่อศึกษาเสือเบงกอลที่ใกล้สูญพันธ์ุในเขตซันดาร์บันส์ของบังคลาเทศกล้องก็จับภาพพรานป่าได้ ดังนั้นในปี 2016 ผู้ทำการวิจัยจึงได้ปรับหัวข้อการศึกษาใหม่เป็นการศึกษาถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่ผิดกฏหมายในเขตอนุรักษ์โดยอาศัยกล้องที่ติดตั้งเพื่อจับภาพสัตว์ป่าที่มีอยู่เดิมเป็นตัวบันทึกภาพ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนากล้องดักจับภาพให้ออกแบบมาเพื่อจับภาพมนุษย์โดยเฉพาะแล้ว

……..

นักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์ใช้กล้องดักถ่ายภาพเป็นเครื่องมือพื้นฐานซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกช่วงทศวรรษที่ 90 ทำให้ช่วยบันทึกจำนวนสปีชีส์ที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์และติดตามความหลากหลายในระบบนิเวศต่าง ๆ ได้ ซึ่งจำเป็นต่อคำถามที่ว่าเหตุใดระบบนิเวศของบนโลกถึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

มีกล้องดักจับภาพนับหมื่นกล้องที่กำลังดักจับภาพอยู่ถูกติดตั้งกระจายกันออกไปทั่วโลก นักวิจัยบางรายเชื่อว่าหากมีเครือข่ายของกล้องดักจับภาพติดต่อกันเชื่อมกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ทั่วโลกในที่สุดวันหนึ่งเราจะสามารถตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพจากทั่วทุกมุมโลกได้แบบทันทีแต่ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ก็คือศีลธรรมข้อที่ว่าจะจัดการอย่างไรกับการที่กล้องดักจับภาพได้ถ่ายภาพคนที่บังเอิญผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น

ส่วนมนุษย์ที่ถูกบันทึกภาพได้ก็ไม่ได้ชอบใจนักที่เห็นมีกล้องดักจับภาพอยู่แถวนั้น การสำรวจของเคมบริดจ์ระบุว่า 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าผู้คนมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับกล้องดักจับภาพของพวกเขา เช่นหาอะไรไปปิดกล้องบังกล้องไว้ ถอด SD การ์ดออก กล้องบางตัวก็ถูกขโมย บ้างก็ถูกทุบหรือถูกยิง มีอยู่กรณีหนึ่งที่มีต้นไม้ถูกเผาโค่นลงมาเพื่อที่จะทำลายกล้องที่ติดอยู่บนลำต้นอีกด้วย

……..

คำอธิบายถึงสาเหตุดังกล่าวที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ พวกเขาไม่ต้องการให้ถูกบันทึกภาพในตอนที่กำลังทำสิ่งที่ผิดกฏหมาย หรือกิจกรรมส่วนตัว หรืออาจจะขโมยกล้องไปขายต่อหรือไม่ก็ทำลายโดยไม่คิดอะไรเลย นักวิจัยพากันมองว่าความกลัวเป็นสาเหตุหลัก กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ กลัวการตรวจสอบ กลัวนักวิทยาศาสตร์หรือด้วยเหตุผลหลายอย่างปนกัน

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอุปกรณ์ของพวกเขา นักวิจัยบางรายจำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับชุมชนโดยรอบเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครไปยุ่งวุ่นวายกับกล้องดักจับของพวกเขา บางรายก็อาศัยขอความร่วมมือกับคนในท้องถิ่นเพื่อใช้กล้องดักจับภาพแล้วแบ่งปันข้อมูลภาพที่ได้กับชุมชนเพื่อส่งเสริมถึงเจตนาอันดี และมีนักวิจัยอีกหลายรายที่ต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านโดยรอบเพื่อให้ชาวบ้านเหล่านั้นมั่นใจว่ากล้องดักจับที่เอามาติดตั้งนั้นเพื่อดักจับภาพของสัตว์ป่าเพียงเท่านั้น

แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็อาจจะยังสงสัยอยู่ดีว่าแล้วจะนำภาพที่ได้ไปทำอะไรต่อ ?

ทั้งนี้เพื่อให้การจัดหมวดหมู่ภาพที่ถ่ายได้จำนวนหลายหมื่นหลายพันภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นักวิจัยมักจะ upload ภาพเหล่านั้นไปไว้บนฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เพื่อที่อาสาสมัครจะสามารถเข้าไปดูรูปแล้วระบุสปีชีส์ได้ ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ก็ต้องเป็นคนที่สนใจในประเด็นการวิจัยดังกล่าว นั่นหมายความว่าอาจจะมีกลุ่มคนราว ๆ  20-30 คนที่ได้เห็นภาพพวกนี้

emammal Photo ID: d55241s10i1

ทางด้าน ดร.เมเรดิธ พาล์มเมอร์ นักชีววิทยาสัตว์ป่าซึ่งได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพในสหรัฐฯและอาฟริกามาแล้วมากมาย ได้อธิบายว่านักวิทยาศาสตร์ต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวและการละเมิดสิทธิด้วย อย่างในกรณีที่มีภาพใดภาพหนึ่งในงานวิจัยมีรูปบุคคลติดเข้าไปด้วย ก็จำเป็นที่จะต้องเอาออกทันที อย่างโครงการ eMammal ของสถาบันสมิธโซเนียนเองก็มีนโยบายที่จะไม่นำภาพที่มีรูปของบุคคลติดมาด้วยเข้ามาไว้ในฐานข้อมูล หรือบางโครงการก็จะใช้การปิดบังใบหน้าหรือเบลออัตลักษณ์ของบุคคลในภาพ

ดร.พาล์มเมอร์ เองก็กำลังทำงานกับระบบการแก้ปัญหาด้วยการเรียนรู้ด้วยตน (machine learning) ในกรณีที่มีภาพบุคคลติดเข้ามา

เราหวังว่าจะใช้ระบบดังกล่าวในการทำเครื่องหมายภาพที่มีรูปบุคคลติดเข้ามาด้วยเพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องนำภาพดังกล่าวขึ้นไปไว้บนอินเตอร์เน็ต

ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งก็คือ โครงการ Global Wildlife Conservation ที่ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับอัลกอริธึมที่ช่วยจำแนกสปีชีส์ที่จำเพาะเจาะจงในการที่จะตรวจหาสปีชีส์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการจัดการรูปที่มีภาพบุคคลติดเข้าไปเพื่อให้รูปดังกล่าวมีการจัดการที่เหมาะสมและถูกส่งต่อไปยังทีมนักวิจัยได้อย่างทันท่วงที

ดร.แฮร์ริส ยังกล่าวอีกด้วยว่าด้วยความกดดันทางด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกิจกรรมของมนุษย์และบริบทของการอยู่ร่วมกัน ถ้าหากเราเก็บข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดนี้ รวมทั้งภาพที่มีบุคคลติดเข้ามาและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์และเราก็ไม่สามารถที่จะนำมันมาเพื่อใช้ตอบคำถามที่น่าสนใจหลายอย่าง ฉันคิดว่าการศึกษาในแนวทางนี้จะให้ข้อมูลกับเรามากกว่าเดิมรวมทั้งวิธีคิดถึงยุทธศาสตร์ที่จะนำพาเราไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าได้อย่างไรเพื่อที่จะเป็นการปกปักรักษาระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน

แต่ขณะเดียวกันรูปภาพที่มีบุคคลติดเข้าไปนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายอนุรักษ์ นำไปใช้ด้วยเช่นกันแล้วก็มีผลบังคับใช้ตามกฏหมาย ดังนั้นไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม วิทยาศาสตร์ก็ได้กลายเป็นผู้สอดส่องเราแล้ว

เมื่อโครงการนี้เติบโตขึ้น การใช้ข้อมูลภาพที่ติดรูปบุคคลก็จะยิ่งมีความสำคัญมากย่ิงขึ้น เราจะนิยามว่าความเป็นส่วนตัวควรจะเป็นลักษณะใดมีขอบเขตแค่ไหน แล้วจะบังคับใช้กฏหมายกับมันในลักษณะที่เหมาะสมแล้วได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร ?

สนับสนุนการทำบทความ กดไลค์ กดแชร์ หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเราได้ครับ
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM

บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here