ทำเหมืองใต้ทะเลลึก

กดเพื่อฟังบทความ

แร่ธาตุหายากจำนวนนับพันล้านตันอย่าง แมงกานีส ทองแดง โคบอลท์ แล้วก็นิกเกิล มีอยู่มากใต้ท้องทะเล ที่โลหะเหล่านี้มีค่านั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการที่พวกมันถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรีและแกดเจ็ทต่าง ๆ

แร่ธาตุเหล่านี้จะฝังตัวอยู่กับหินซึ่งเราจะเรียกว่า polymetallic nodules โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็น Manganese nodule ก้อนแมงกานีสโนจูลซึ่งจำเป็นต้องขุดขึ้นมาจากพื้นทะเล แต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดว่าการเจาะลงไปในพื้นทะเลเป็นความคิดที่ดี

ในปี 1873 เรือ HMS Challenger ได้ทำการเก็บตัวอย่างก้อนกลมมนดังกล่าวจากก้นทะเลที่อยู่ในระดับความลึก midnight zone ซึ่งก็คือระดับความลึกจากผิวน้ำ 3,300 – 13,100 ฟุต ซึ่งด้วยความลึกระดับนั้นทำให้แสงแดดส่องลงไปไม่ถึง บริเวณดังกล่าวจึงมืดมิดและหนาวเย็น

Manganese nodule
Manganese nodule / source : wikipedia

nodule คืออะไร ในทางธรณีวิทยา nodule หมายถึงมวลสารที่จับตัวกันแน่น แข็ง มีลักษณะเป็นทรงกลมมน แต่ถ้าเจาะลงไปเป็นธรณีวิทยาทางทะเล ก้อนกลมมนดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วจะจำเพาะเจาะจงหมายถึง Manganese nodule ซึ่งจะมีแร่แมงกานีสมาเกาะกับเศษหินหรือวัสดุอื่นเพื่อจะใช้เป็นแกนเกาะแล้วค่อย ๆ เกาะพอกพูนกันขึ้นมาเป็นก้อนกลมมนซึ่งกินเวลานานหลายล้านปี

Source : usgs.gov

การที่ในแต่ละก้อนเหล่านี้มีโลหะมีค่าปนอยู่จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ที่เกิดในห่วงโซ่อุปทานในยุคนี้ได้ นั่นก็คือการผลิตแบตเตอรี เนื่องจากมีโลหะอย่างแมงกานีส โคบอลต์ นิเกิลและทองแดงปะปนอยู่ ที่สำคัญก็คือมีก้อนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปตามท้องทะเลที่แสนกว้างใหญ่ไพศาล เคยมีการประเมินกันว่าในพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าประเทศไอร์แลนด์เล็กน้อยคือราว ๆ 750,000 ตารางกิโลเมตร สามารถสกัดโลหะมีค่าเหล่านี้ออกมาได้ถึง 54 ล้านตันคิดเป็นมูลค่ากว่าสองหมื่นล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว

How the Ocean Floor Got Filled with Riches

จากการสำรวจพื้นทะเลในทศวรรษที่ 60 และ 70 เผยให้เห็นว่า  บรรดาก้อนกลมเหล่านี้จะพบได้มากในบางบริเวณโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จำเป็นต้องมีปริมาณออกซิเจนที่สูง มีแหล่งโลหะในน้ำทะเลหรือพื้นท้องทะเลเพื่อที่จะได้เกาะกันให้กลายเป็นก้อนกลมที่ใหญ่ขึ้น หลักการก็คล้ายกันกับการเกิดสนิมของเหล็กที่เมื่อเหล็กทำปฏิกริยากับน้ำและออกซิเจนก็จะทำให้เกิดชั้นสนิมขึ้นมา ก้อนกลมดังกล่าวก็คือรูปแบบของการที่โลหะเกิดปฏิกริยาออกซิเดชัน

การเกิดโนจูล แบบแรก Hydrogenetic Fe-Mn Nodule ก็เริ่มจากมีเศษหินหรืออาจจะเป็นเศษซากอินทรีย์ที่แข็งพอจะให้มีการยึดเกาะได้ ค่อย ๆ จมลงไปยังพื้นทะเลลึกที่มีออกซิเจนอยู่มาก ประจุของธาตุเหล็กและประจุของธาตุแมงกานีสที่ล่องลอยอยู่ในน้ำทะเลก็จะมาทำปฏิกริยากับออกซิเจนเกิดเป็นชั้นของธาตุนั้น ๆ เกาะอยู่บนเศษหินเศษซากอินทรีย์ เมื่อเวลาผ่านไปก้อนโนจูลเหล่านั้นก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะมีการเกิดปฏิกริยาออกซิเดชันอยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้มีโลหะมาเกาะพอกพูนขึ้น

การเกิดโนจูลแบบที่สอง Diagenetic Mn Nodules ที่ก้นทะเล เนื่องด้วยความเข้มข้นของธาตุโลหะที่ต่างกัน ก็จะทำให้ไอออนโลหะเคลื่อนที่จากความเข้มข้นมากไปยังความเข้มข้นน้อย ทำให้โลหะบางส่วนถูกดันเข้าไปผ่านรูพรุนของเศษหินเศษหรือซากอินทรีย์ที่ก้นทะเล จากนั้นเมื่อโลหะดังกล่าวเจอกับออกซิเจนในสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดปฏิกริยาออกซิเดชันแล้วเริ่มก่อตัวทีละเล็กละน้อยกลายเป็นโนจูลที่จมอยู่ใต้ผืนทรายก้นท้องทะเลลงไป 10-15 เซนติเมตร ซึ่งระดับความลึกที่มันจมอยู่ใต้ผืนทรายนี่เองก็จะมีผลต่อปริมาณโลหะที่พบในโนจูลนั้น ๆ

โลหะที่พบได้ส่วนใหญ่ในโนจูลได้แก่ แมงกานีสและเหล็ก โนจูลที่เกิดบริเวณผิวก้นทะเลนั้นจะพบโคบอลต์เป็นส่วนผสมได้มากกว่า ในขณะที่โนจูลที่อยู่ลึกลงไปในทรายนั้นจะพบลิเธียมและนิกเกิลได้มากกว่า

การเกิดชั้นโลหะเหล่านี้ในโนจูลนั้น เกิดได้ในอัตราเร็วที่ช้ามากคือ ราวๆ  1-10 มิลลิเมตรต่อหนึ่งล้านปี ถ้าจะเทียบกันให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก็คือ ในช่วงเวลาที่บรรพบุรุษของมนุษย์เราเริ่มอพยพจากอาฟริกาจนกระจายตัวออกไปทั่วโลกนั้น ก้อนโนจูลเหล่านี้เพิ่งมีขนาดความกว้างเท่าเส้นผมมนุษย์อยู่เลย

ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ Science direct

………………… ……………………

10 minutes of fascinating deep-sea animals | Into The Deep

มหาสมุทรเป็นผืนน้ำทะเลขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 (71%) ของพื้นผิวโลกและเรารู้เกี่ยวกับท้องทะเลน้อยมาก โดยเฉพาะทะเลลึก เมื่อเราดำลึกลงไปในทะเลที่ระดับความลึก 1,000 เมตร แสงแดดจะไม่สามารถส่องถึงแล้ว แสงเดียวที่จะเห็นได้ ณ ระดับความลึกนี้จะมีเพียงแต่การเรืองแสงทางชีวภาพเท่านั้น เมื่อปราศจากแสงแดด การสังเคราะห์แสงก็ไม่มี อาหารจะค่อนข้างขาดแคลน ดังนั้นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในความลึกระดับนี้จะดำรงชีวิตด้วยสิ่งที่เรียกว่า Marine snow หิมะแห่งมหาสมุทร ซึ่งก็คือเศษซากอินทรีย์ที่ร่วงหล่นลงมาจากระดับน้ำตื้นด้านบน

ด้วยสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วเช่นนี้ สัตว์น้ำลึกจึงต้องปรับตัวมีรูปร่างหน้าตาแปลก ๆ

และเมื่อลงลงไปที่ระดับ 4,000 เมตร เราอาจจะได้พบเห็นหมึกเรืองแสงแล้วก็สัตว์หน้าตาแปลกประหลาดขึ้นเรื่อย ๆ และที่ส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรที่ก้นของร่องลึกมาเรียนาทุกอย่างแปลกไปหมด เราสามารถพูดได้ว่า ทะเลเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดบนโลกที่ยังเหลือพื้นที่ที่มนุษย์ไม่เคยย่างกรายเข้าไปสัมผัสอีกมหาศาล และนั่นจึงเป็นความกังวลอย่างมากหากมีใครเริ่มเข้ามาทำเหมืองใต้ทะเล ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน พวกเขาจะแลกสิ่งมีชีวิตแปลกๆ สวยงามรวมถึงระบบนิเวศที่คงอยู่มาหลายล้านปีกับการทำเหมืองโลหะมีค่าใต้ท้องทะเลกระนั้นหรือ มูลค่าดังกล่าวเทียบกันได้หรือไม่ แล้วใครกันที่ได้ประโยชน์ ?

……………………………….

จากการที่เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานในการผลิตแบตเตอรี ไม่ว่าจะด้วยเรื่องแร่ธาตุหายากหรือการปิดประเทศจากโรคระบาดโควิด และการแข่งขันในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ เริ่มมองหาแหล่งแร่ทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากเหมืองแร่บนดิน นั่นจึงเป็นที่มาของ Deep Sea Mining การทำเหมืองใต้ทะเลลึก

แซนดอร์ มัสซอว์ นักชีววิทยาทางทะเลและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมที่ International Seabed Authority  กล่าวว่า “ตามความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีเหตุผลที่เราต้องไปทำเหมืองในทะเลลึก มันไม่ใช่เรื่องของทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์ มีเพียงอย่างเดียวก็คือเหตุผลทางเศรษฐกิจ”

The Truth about Deep Sea Mining

บางทีแนวคิดของการทำเหมืองใต้ทะเลนั้นดึงดูดให้คนหันมาสนใจในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 ซึ่งในตอนนั้นเรายังมีความรู้เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกันค่อนข้างน้อยต่างจากในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ต่างก็กังวลเกี่ยวกับการขุดก้อนเหล่านี้ขึ้นมาซึ่งจะเป็นการไปรบกวนถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในถิ่นนั้น ๆ รวมถึงมลภาวะจากการกระทำดังกล่าวจะไปขัดขวางความสามารถในการหาอาหาร ล่าและผสมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ขนานใหญ่ นอกจากนั้นแล้วยังเชื่อว่าผลของการเจาะพื้นทะเลในบริเวณหนึ่งนั้นจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายออกไปในอาณาบริเวณกว้าง

ในทศวรรษที่ 70 ถึง 80 ทางสหประชาชาติได้ตระหนักว่าในที่สุดแล้วมหาสมุทรจะดึงดูดความสนใจของนักสำรวจ จึงได้ทำเอกสารฉบับหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า United Nations Law of the Sea Convention (UNCLOS) ที่เราเรียกว่าอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งได้วางแนวทางสำหรับประเทศต่าง ๆ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อพวกเขาต้องทำอะไรกับทะเลลึกที่อยู่นอกเหนือไปจากน่านน้ำของตนเอง

‘The ocean and us’ – BBC Earth, United Nations Ocean Conference

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ในปี 1982 มีประเทศลงนามให้สัตยาบันจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าพื้นที่ดังกล่าวควรยกให้เป็นมรดกของมนุษยชาติ หลังจากนั้นราวทศวรรษ มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า The International Seabed Authority (ISA) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ควบคุม ดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหาแร่ธาตุในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้แน่ใจว่าผลกำไรใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการทำเหมืองนั้นจะถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างเหมาะสม ในปัจจุบัน ISA มีสมาชิกจำนวน 167 ประเทศบวกกับกลุ่มสหภาพยุโรป โดยจะมีคณะกรรมการที่เรียกว่า The Legal and Technical Commission of ISA ที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจในท้ายที่สุดเมื่อมีการยื่นขออนุญาตทำเหมืองใต้ทะเล โดยประเทศสมาชิกสามารถส่งใบขออนุญาตในนามรัฐบาลประเทศนั้น ๆ แต่ก็ยังมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติที่ยอมให้บริษัทเอกชนทำได้ด้วยเช่นกัน

บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของและบริษัทเอกชนอื่นๆ หรือแม้แต่บุคคลก็สามารถยื่นขอสัมปทานทำเหมืองได้ หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในแคนาดาสามารถยื่นขอใบอนุญาตสำรวจทำเหมืองได้เนื่องจากพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกหมู่เกาะเล็กๆ สามประเทศ ซึ่งได้แก่ประเทศ คิริบาติ ตองกา และนาอูรู โดยมีกฎของการได้รับการสนับสนุนอยู่ว่าต้องมีความเกี่ยวพันกับประเทศที่ให้การสนับสนุน พวกเขาจึงตั้งบริษัทย่อยของตนเองขึ้นในประเทศหมู่เกาะทั้งสามแห่ง

รัฐบลาลของประเทศนาอูรูกล่าวว่า บนเกาะมีประชากร 10,000 คน ที่ต้องเผชิญความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องมองหาลู่ทางข้างหน้าที่พอจะเป็นทางแก้ปัญหาเพื่อชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมองว่าหากการสำรวจประสบความสำเร็จและเริ่มทำเหมืองใต้ทะเลได้ พวกเขาก็จะได้รับผลกำไรกลับมา

ข้อกังวลอีกอย่างก็คือว่า คู่สัญญาในการทำเหมืองไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ บริษัทเอกชนสามารถหลบเลี่ยงความรับผิดชอบหากก่อให้เกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมใด ๆ ก็ตามซึ่งต่างจากประเทศที่ให้การสนับสนุนรับรองบริษัทเอกชนดังกล่าวที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นแล้วหากประเทศในหมู่เกาะในแปซิฟิคต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ ในกรณีที่การทำเหมืองใต้ทะเลก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตามปริมาณความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ เหล่านั้นอาจจะไม่สามารถรับผิดชอบได้ !!!

ในเว็บไซต์ของ ISA ระบุว่า องค์กรมีหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากผลเสียใด ๆ ก็ตามที่จะอาจจะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองใต้ทะเล แต่มีคำถามตามมาว่า ISA มีความพร้อมที่จะทำมันอย่างมีประสิทธิภาพได้จริงหรือไม่ ?

ในการที่ทาง ISA เข้ามากำกับดูแลนั้น จำเป็นต้องมีความสามารถในการตรวจสอบการทำเหมืองใด ๆ ก็ตามในทะเลเปิดที่อยู่ไกลจากฝั่งมาก ๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยากสำหรับหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากสำหรับหน่วยงานเล็ก ๆ ที่ในตอนนี้มีทรัพยากรการทำงานน้อยนิดเพื่อจะไปตรวจสอบการทำเหมืองใต้พื้นทะเล ทำให้สิ่งแวดล้อมต้องเผชิญกับผลกระทบของการทำเหมืองใต้ทะเลลึกตามลำพัง

Similar Articles

Comments

Advertisement

โคมไฟอ่านหนังสือ

Baseus โคมไฟ โคมไฟตั้งโต๊ะ อ่านหนังสือถนอมสายตา light โคมไฟอ่านหนังสือ โคมไฟหัวเตียง table lamp LED

สินค้าพร้อมจัดส่งจากไทย

Royal Kludge RK68

Royal Kludge RK68 RGB Hotswap USB HUB คีย์บอร์ดเกมมิ่งคีย์ไทย ไร้สายบลูทูธและมีสาย เปลี่ยนสวิตซ์ได้ เลเซอร์ไทย - English

Most Popular

จอคอมพิวเตอร์

จอมอนิเตอร์ 24นิ้ว จอคอม 75HZ หน้าจอโค้ง จอเกมมิ่ง LED Gaming monitor จอมอนิเตอร์เกมมิ่ง จอมอนิเตอ สปอตสินค้า LED

สินค้าพร้อมจัดส่งจากไทย