มีใครเคยซื้อหนังสือทำอาหารบ้างไหมครับ มีวิธีเลือกซื้ออย่างไรกันบ้าง ?
ส่วนใหญ่แล้วหนังสือทำอาหารที่ซื้อ ๆ กันมานั้น มักจะเอามานั่งดูบนโซฟา พลิกหน้าไปมา จากนั้นก็จดสูตรลงกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แล้วค่อยเข้าครัว ไม่ค่อยจะมีใครเอาหนังสือทั้งเล่มเข้าครัว เนื่องจากกลัวว่าจะเปื้อนหรือติดคราบมัน หรือติดกลิ่นอาหารออกมา
ในปัจจุบันเกือบทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ต ดังนั้นหากอยากได้สูตรทำอาหาร หรือเมนูใหม่ ๆ อะไร ก็ค้นใน Google จึงไม่ค่อยมีใครอยากจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือทำอาหารเหมือนอย่างแต่ก่อน
เมื่อก่อนนี้เราสามารถซื้อหนังสือทำอาหารปกอ่อนราคาถูกที่ไม่ค่อยมีรูปภาพประกอบ มีแต่ตัวหนังสือเสียเยอะ การที่หนังสือมีราคาถูกมันทำให้เรากล้าที่เอาเข้าไปในครัวด้วย ดังนั้นไม่แปลกหากหนังสือจะมีกลิ่นอาหาร หรือเปรอะเปรื้อนไปด้วยร่องรอยของซอส น้ำพริก น้ำปลา ลองเป็นหนังสือราคาแพง ภาพสวย ๆ ดูสิ มีแต่จะเสียดาย ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าเอาเข้าไปในครัวด้วย ได้แต่นั่งดูอยู่ในห้องรับแขกหรือบนโต๊ะทำงาน
แต่ถามว่าในทุกวันนี้ยังจะมีใครซื้อหนังสือแบบนั้นอยู่อีก
ทุกวันนี้หนังสือทำอาหารถ้าจะขายได้ต้องทำให้รูปเล่มดูสวยงามดึงดูด มีภาพอาหารที่จัดเตรียมและตกแต่งไว้อย่างดี ที่สำคัญหากนักเขียนมีชื่อเสียงด้วยก็ช่วยให้หนังสือขายดีไปกว่าครึ่งแล้ว
นักเขียน สไตล์ลิส และสำนักพิมพ์ จึงต้องคิดรูปแบบหนังสือทำอาหารที่ต้องตาต้องใจ สร้างอรรถรส ความหิว แรงบันดาลใจ ด้วยอิทธิพลจากภาพประกอบและรูปเล่มตั้งแต่แรกเห็น ดังนั้นหนังสือทำอาหารจึงต้องทำออกมาให้มีคุณภาพสูงเพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านยอมจ่ายเงินซื้อมัน
จะสังเกตเห็นว่า หนังสือทำอาหารในปัจจุบันมักไม่ค่อยพูดถึงวิธีการทำอาหารอย่างละเอียดเหมือนก่อน แต่จะเน้นไปที่การจัดรูปเล่ม การถ่ายภาพที่สวยงาม น่าสนใจ เห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากเข้าครัว อยากรับประทานเมนูนั้น ๆ ขึ้นมาทันที
นักเขียนที่เข้าใจแนวโน้มดังกล่าว จึงอาศัยการทำหนังสือที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น หนังสือทำอาหารของพวกเขาจะมีข้อความสื่อสารให้ผู้อ่านที่ทำอาหารจานนั้น ส่งรูปถ่ายเข้ามากัน อย่างน้อยก็รู้ว่าพวกเขาซื้อหนังสือไปเพื่อทำอาหารจริง ๆ นั่นคือหนังสือได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว แถมยังได้รู้อีกว่าเมนูไหนที่เป็นที่นิยม