ราคาหมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ แพงขึ้น ภาพรวมก็เป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกในขณะนี้
โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขี้นไปถึงระดับ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี
ประเด็นที่เราจะพูดถึงในบทความนี้คือ เงินเฟ้อที่ส่งผลต่อราคาอาหาร
หากมองในแง่เลวร้ายที่สุด ราคาอาหารทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้นราว 8.5% ภายในปี 2027
……………………………………
อาหารแพง
ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาปุ๋ยบางอย่างแพงขึ้นเกือบ 300% นับตั้งแต่ปี 2020 โดยในปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยได้เพิ่มขึ้นราว ๆ 270 เหรียญฯ ต่อตัน ส่วนในตอนนี้ขยับไปเกินกว่า 1,400 เหรียญฯ ต่อตัน
ราคาพลังงานสูงขึ้น ราคาปุ๋ยสูงขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น เกษตรกรถูกบีบให้ต้องผลักภาระที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไปยังผู้บริโภค
ในขณะเดียวกัน การผลิตปุ๋ยให้มากเพียงพอต่อความต้องการนั้นกลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
จากการวิจัย โดย Matthew Green การใช้ปุ๋ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อก๊าซหัวเราะ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยที่เมื่อก๊าซไนตรัสออกไซด์ลอยขึ้นไปในชั้นสตราโตสเฟีย จะสลายตัวแล้วจับเป็นโมเลกุลอื่นที่สามารถทำลายชั้นโอโซนซึ่งคอยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้
…… …… …….
ปุ๋ยเคมีถูกใช้กันอย่างแพร่หลายแต่ทว่าราคาปุ๋ยเคมีเหล่านี้กำลังปรับตัวสูงขึ้นและเกษตรโดยทั่วไปแล้วนั้นจะมีค่าปุ๋ยราว 18% ของงบประมาณ ยังไม่รวมสารเคมีอย่างยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นหากเกษตรไม่สามารถขายพืชผลได้คุ้มกับสิ่งที่ลงทุนไป นั่นเท่ากับว่าคือหายนะและสำหรับเกษตรกรโดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีทุนรอนเป็นสายป่านยาวเกิน 1 ฤดูกาลเพาะปลูก
เกษตรกรรายหนึ่งบอกว่าปีที่แล้วเราจ่ายเงินค่าปุ๋ยไป 600 เหรียญฯต่อตัน มาปีนี้เราจ่ายค่าปุ๋ยไปเกือบ ๆ 1,000 เหรียญฯ ต่อตัน ขึ้นมาเกือบ ๆ สองเท่า
หากไม่ใช้ปุ๋ย เราก็อาจได้ผลผลิตลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากพืชอาจได้รับสารอาหารไม่ครบ ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน
พูดง่าย ๆ ก็คือ เราไม่สามารถปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรมโดยไม่ใช่ปุ๋ย เราต้องมีเมล็ดพันธุ์ จำเป็นต้องมีน้ำซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ และเราจำเป็นต้องมีปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วต้องใช้ปุ๋ยเพื่อหล่อเลี้ยงพืชพรรณที่เรากินเป็นอาหารแทบทุกชนิด
…. …….. ……..
สารอาหารหลักสามอย่างที่พืชจำเป็นต้องได้รับจากปุ๋ยได้แก่ ไนโตรเจน โพแทสเซียมและฟอสฟอรัส มีพืชบางประเภทที่ใช้ปุ๋ยน้อยกว่าพืชชนิดอื่น ๆ อย่างเช่น ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง ถั่วหัวช้าง แล้วก็พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ซึ่งพืชตระกูลถั่วนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับไนโตรเจนสังเคราะห์ที่มาจากปุ๋ย เพราะว่าพวกมันสามารถใช้ไนโตรเจนที่อยู่ในอากาศได้
เมื่อทางกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้ทำการสำรวจเกษตรกรว่าพวกเขาตั้งใจจะปลูกพืชอะไรในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2022 นี้ เกษตรกรส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขามีแผนที่จะปลูกข้าวโพดลดลงแล้วหันไปปลูกถั่วเหลืองกันมากเป็นสถิติถึง 91 ล้านเอเคอร์ ( พื้นที่ 1 เอเคอร์ ประมาณ 2.53 ไร่ )
ต้นทุนค่าปุ๋ยยังทำให้ราคาผักและผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้นด้วย การที่ปุ๋ยขึ้นราคากำลังหมายความถึงราคาข้าวโพดที่กำลังจะปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ทราบเปอร์เซ็นต์เป็นตัวเลขที่แน่ชัด แต่ราคาปุ๋ยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ผลักดันให้ราคาอาหารแพงขึ้น
ในเดือนกรกฎาคมดัชนีราคาอาหารเพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและในเดือนเดียวกันนี้เองที่ราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 1% เป็นเดือนที่เจ็ดติดต่อกัน
ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผักและผลไม้เท่านั้นที่มีราคาสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์อื่นอิงอยู่กับพืชผลการเกษตรอย่างอาหารสัตว์ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
…….
การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนนั้นใช้กระบวนการ Haber-Bosch โดยการนำไนโตรเจนมารวมเข้ากับไฮโดรเจนโดยอาศัยกระบวนการทางเคมีซึ่งทำให้เกิดความร้อนและพลังงานจำนวนมากและก๊าซแอมโมเนีย
กระบวนการ Haber-Bosch ถูกคิดค้นขึ้นโดย Fritz Haber นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันในช่วงต้นศตวรรษที่ 1900 แต่การผลิตปุ๋ยเคมีเริ่มทำในระดับอุตสาหกรรมหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ก่อนหน้านี้โรงงานผลิตไนเตรเจนเพื่อใช้ในการทำระเบิด หลังสงครามจึงผลิตไนไตรเจนสำหรับปุ๋ยแทน
ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ผลิตไนโตรเจนและฟอสฟอรัสปริมาณมาก จากอดีตที่ผ่านมาบริษัทปุ๋ยได้มีการควบรวมกิจการกันตลอดในช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา จาก 46 แห่ง ควบรวมกันจนเหลือ 13 แห่ง
ในปี 2019 มีเพียง 4 บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 75% ของการผลิตและการขายปุ๋ยไนโตรเจนในตลาดสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมหรือที่เรียกว่าโพแทช ในอเมริกาเหนือซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ สหรัฐฯ ยังคงต้องนำเข้าโพแทชจำนวนมาก
สำหรับประเทศอื่น ๆ แล้วต้องพึ่งพารัสเซียและเบลารุสสำหรับโพแทช ซึ่งทั้งรัสเซียและเบรารุสสองประเทศนี้รวมกันมีส่วนแบ่งการตลาดราว ๆ 40% ของการส่งออกโพแทชในตลาดโลก
ตัวอย่างเช่น ประเทศอย่างบราซิลที่ต้องนำเข้าปุ๋ยราว 85% จากรัสเซียและเบรารุส และในตอนนี้บราซิลกำลังเกิดการขาดแคลนปุ๋ย
หากดูในส่วนของรัสเซียและยูเครนสองประเทศนี้รวมกันมีการส่งออกปุ๋ยราว 28% ที่ผลิตจากไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม
น่าแปลกใจที่โลกของเรานี้ต้องพึ่งพาปุ๋ยจากรัสเซียและยูเครนเป็นหลัก หลังจากที่การส่งออกของรัสเซียถูกโจมตีด้วยการแซงชั่นภายหลังการรุกรานยูเครน ส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดในการขนส่งปุ๋ย ยิ่งทำให้ราคาปุ๋ยพุ่งขึ้นสูงท่ามกลางความกังวลในเรื่องของการขาดแคลนอาหาร และก่อนหน้านั้นจากการที่ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้นไปก็เป็นปัจจัยช่วยเร่งให้ราคาปุ๋ยขยับเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้นแล้วมันมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างราคาน้ำมัน ก๊าซและราคาปุ๋ย
……….
การใช้ปุ๋ยมากเกินไปนั้นก่อให้เกิดมลภาวะทางสารอาหาร ซึ่ง EPA (United states Environmental Protection Agency ) กล่าวว่า เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้โดยทั่วไปและมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาสภาพแวดล้อมมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น การใช้ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสมากเกินไปนั้น เมื่อเกิดการชะล้างลงสู่ทะเล ทำให้เกิดการสะพรั่งของสาหร่ายซึ่งส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำดื่ม ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในคนและสัตว์
นอกจากนั้นแล้วยังมีปัญหาเรื่องดินตามมาอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์สนับสนุนให้มีการจัดการดินที่ดีขึ้นเพื่อที่จะลดการใช้ปุ๋ย
ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นจากการใช้ปุ๋ยเคมีจะส่งผลดีในช่วงสั้น ๆ แต่ไม่ได้มีอยู่นานมากพอที่จะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้ดีเท่ากับสารอินทรีย์ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ และให้ความอุดมสมบูรณ์ในหลายแง่มุมไม่เพียงเฉพาะเรื่องของสารอาหารและปุ๋ยเพียงเท่านั้น
……
ที่ศรีลังกาได้พยายามผลักดันให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100% โดยห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี
เกษตรกรที่ศรีลังกาชี้ให้ดูต้นกล้วย เขาบอกว่าจากเดิมมันควรจะสูงประมาณศรีษะแต่ตอนนี้มันสูงแค่หัวเข่า นับตั้งแต่ที่ศรีลังกาต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจจากหลายเหตุปัจจัยและได้มีการประท้วงขับไล่ผู้นำ ผู้นำที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งคนใหม่ได้ให้สัญญาว่าจะซื้อปุ๋ยสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกถัดไปที่จะถึงนี้ท่ามกลางความกลัวเรื่องการขาดแคลนอาหาร
ดังนั้นแล้ว เราจำเป็นต้องหาทางที่จะให้เกษตรกรก้าวไปข้างหน้าตามแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้สร้างความร่ำรวยสำหรับพวกเขาในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกร มันจะช่วยให้ดินของพวกเขามีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนไปเป็นเวลาอีกหลายทศวรรษ แต่ในระยะสั้นมันต้องใช้เงินในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้ว เราจำเป็นต้องชดเชยให้กับเกษตรกรสำหรับต้นทุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน
สหประชาชาติได้ประเมินว่าการใช้ปุ๋ยทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว ๆ 1 พันล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกในปีเดียวกัน
……….
ผู้ประกอบการบางรายกำลังหาทางทำให้การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักนั้นมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีการใช้ตัวดักจับคาร์บอนในอากาศหลังจากที่มันถูกปล่อยออกไปจากกระบวนการแบบเดิม หรือหาวิธีทำกระบวนการ Haber- Bosch ด้วยพลังงานทดแทนอย่างเช่นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แทน
มีบริษัทกำลังพยายามทำพันธุวิศวกรรมกับจุลชีพ ให้สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาใช้กับกลุ่มธัญพืช เพื่อที่จะทำให้พืชอย่างข้าวสาลี ข้าวโพด รวมถึงข้าวสามารถใช้ไนโตรเจนได้ในทำนองเดียวกันกับที่พืชตระกูลถั่วทำได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ราวครึ่งหนึ่งซึ่งหากทำสำเร็จอาจเป็นตัวเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้ได้เลย
…….
ตอนนี้ยูเครนเริ่มกลับมาส่งออกธัญพืชรวมถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จนกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะสิ้นสุดราคาปุ๋ยจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่มันก็ยังไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการใช้ปุ๋ย คงต้องมองเป็นประเด็นที่ว่าจะใช้ปุ๋ยอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา