แนวคิดของการทำปะการังเทียมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แถมยังถือว่าเป็นความคิดที่ดี โดยต้องการจะสร้างปะการังเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ รวมทั้งทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นจุดดึงดูดใจนักตกปลาหรือผู้มาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว
ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 70 แนวคิดการนำยางรถยนต์เก่าไปทำปะการังเทียมถือว่าเป็นความคิดที่เข้าท่าเลยทีเดียว มองเผิน ๆ แล้วก็คือยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นอกจากจะช่วยฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำแล้วยังกำจัดขยะที่ล้นเกินได้ในคราเดียว
ฤดูใบไม้ผลิปี 1974 มีเรือต่าง ๆ เข้าร่วมในโครงการนำยางรถยนต์เก่าหลายพันเส้นไปทิ้งลงในทะเลบริเวณแนวปะการังออสบอร์น ชายฝั่งรัฐฟลอริดา โดยครั้งที่ใหญ่ที่สุดนั้นมียางรถยนต์เก่าเกือบ 2 ล้านเส้น โดยมัดยางรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ด้วยลวดหนา ทิ้งลงในทะเลเป็นพื้นที่รวมกันราว 95 ไร่ ห่างจากฝั่งราว 2 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกราว 20 เมตร ทำให้กลายเป็นแนวปะการังเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทำไมต้องเป็นยางรถยนต์ ? (ก็มันใช้ยางรถไฟไม่ได้ไง เอ่อเนอะ )
เนื่องจากในทศวรรษก่อนหน้านั้นมีกองยางรถยนต์เก่าในสหรัฐฯ พอกพูนขึ้นเป็นภูเขาเลากา เกิดปัญหาการลักลอบนำยางรถยนต์เก่าไปฝังกลบ ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือการเผาทำให้ส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและน้ำ ยิ่งหากเกิดฝนตกหรือว่ามีน้ำขังก็จะทำให้กองยางเก่าเหล่านั้นกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรวมถึงแมลงต่าง ๆ อย่างดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะหากพื้นที่ทิ้งยางเก่าเหล่านี้อยู่ใกลัตัวเมืองก็จะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ แก่ผู้คนในเมืองได้ง่าย ในตอนนั้นยังไม่มีใครทราบอย่างแท้จริงว่าจะทำอย่างไรดีกับยางรถยนต์เก่าเหล่านี้ ได้แต่รอไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ช่วยอะไร ยิ่งจะรอให้ยางเสื่อมสลายย่อยลงไปเองในความเร็วเท่าหอยทากเดินอย่างการนำไปฝังกลบก็ใช้เวลาราว 50-80 ปี มันก็นานเกินไป ขณะเดียวกันยางเก่าก็ถูกทิ้งเข้ามากองสุมเพิ่มขี้นเรื่อย ๆ จะทำอย่างไรล่ะทีนี้ ?
ปัจจุบันมียางรถยนต์เก่ากว่า 1 พันล้านเส้นในแต่ละปี ในจำนวนนี้ 4 พันล้านเส้นถูกนำไปฝังกลบรวมถึงค้างอยู่ในโกดังทั่วโลก
มีความเชื่อว่าปะการังยางรถยนต์นี้จะทำให้มีปะการังใหม่เกิดขึ้นซึ่งจะช่วยปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่แถบนั้นรวมถึงดึงดูดปลาต่าง ๆ ให้พากันเข้ามาที่นี่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากขึ้น ได้เงินเข้าบ้านมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวก็อาจจะอยากมาพักผ่อนหย่อนใจ ฟังดูแล้วเหมือนจะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อเรามีความเข้าอกเข้าใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม เรากลับเห็นต่างจากเดิม!
ปะการังเทียม
แนวคิดของการทำปะการังเทียมอาศัยการใช้วัตถุขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากพอที่จะไม่เคลื่อนไหวล่องลอยไปไหน เพื่อให้สัตว์ทะได้อยู่อาศัย จุดสำคัญก็คือจำเป็นต้องจมอยู่ในบริเวณเดิมตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับกรณียางรถยนต์เก่าที่จะเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่เป็นปะการังเทียมหากยังคงจมอยู่บริเวณเดิมไม่เคลื่อนไปไหนเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับยางเหล่านั้น !!!
ในตอนเริ่มแรกที่เราทิ้งยางเหล่านั้นลงไปในทะเล ยางก็จะกระจายเกาะกลุ่มกันอยู่เนื่องจากถูกมัดติดกันเป็นกลุ่มก้อนด้วยเชือกไนล่อนหรือลวด แต่ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นใต้ท้องทะเลหากกองยางเหล่านั้นหลุดออกจากสิ่งที่พันธนาการมันไว้ เช่น เชือกไนล่อนอาจจะหลุดร่อนหรืออย่างลวดที่มัดไว้ก็อาจจะผุกร่อนหรือไม่ก็อาจถูกคลื่น พายุ ที่มีความรุนแรงพัดพาทำให้ยางหลุดออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุดแล้วยางพวกนี้ก็จะถูกน้ำทะเลพัดพามาเกยตื้นแถวชายฝั่ง โดยจะเหลือยางเพียง 10% ของยางทิ้งลงไปในทะเลที่พอจะต่อยอดได้เป็นปะการังเทียม
นอกจากนั้นแล้วยางรถยนต์ไม่ได้มีพื้นผิวที่มากพอ ยางเหล่านี้เบาและมีพื้นผิวที่เล็กแถมอยู่ไม่สบาย ไม่มีสัตว์ทะเลที่ไหนต้องการมาตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นี่ การสร้างปะการังเทียมจากแท่งคอนกรีตนั้นยังจะมีประสิทธิภาพดีกว่าถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าก็ตามที
อย่างไรก็ตามความแพงนั้นก็คุ้มค่าเมื่อเราพิจารณาถึงผลระยะยาว แต่ปัญหาก็คือยางรถยนต์ที่ได้ทิ้งลงไปในทะเลก่อนหน้านั้นเพิ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
หากยางเหล่านั้นยังคงจมอยู่ก้นทะเลมันก็คงไม่เป็นอะไร แต่ลองทายดูสิ ว่าเกิดอะไรขึ้น ยางเหล่านั้นเคลื่อนลอยไปตามกระแสน้ำที่พัดพา ถูกลากไปด้วยพายุ คลื่นใต้น้ำทำให้ยางขูดขีดไปกับแนวปะการังของจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กลายเป็นว่ายางทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวทำลายปะการังไปเสียอย่างนั้น ปะการังนอกจากต้องเผชิญกับมลภาวะต่าง ๆ การก่อสร้างตามแนวชายฝั่ง อุตสาหกรรมประมง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังต้องมาเจอความเสี่ยงจากการลอยมาขูดขีดของยางรถยนต์เพิ่มเข้าไปอีกด้วย !
ยางรถยนต์มีการย่อยสลายที่ช้ามาก แต่อย่าคิดว่าไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแค่การฝังกลบในดินที่ชื้นแชะหรือริมน้ำสามารถนำไปสู่การรั่วไหลของสารพิษและโลหะหนักออกไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำใต้ดินได้ เพียงแค่ลองคิดว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหนหากยางเก่าเหล่านี้สัมผัสกับน้ำทะเลโดยตรงและสิ่งมีชีวิตทุกอย่างต่างก็ต้องพึ่งพาทะเลอยู่ตลอดเวลา น้ำทะเลเกิดการปนเปื้อนหรือเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นยางเริ่มเปื่อยยุ่ยก็จะปล่อยสารพิษและโลหะหนักเข้าสู่น้ำโดยรอบ เศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของยางที่สัตว์น้ำกินเข้าไปก็เป็นอันตรายได้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าประสิทธิภาพของปะการังเทียมที่คาดว่าจะเป็นบ้านให้ปลาจำนวนมากนั้นฟังดูดี เมื่อมีปลาเล็กปลาน้อยมาอยู่รวมกันเยอะ ๆ ปลาใหญ่ ปลาผู้ล่าก็มามากขึ้น ซึ่งปลาผู้ล่าเหล่านั้นไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้น พวกมันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมย้ายจากถิ่นหากินเดิมเข้ามาหาอาหารที่ปะการังเทียมนี้แทนซึ่งเป็นการแทรกแซงสมดุลธรรมชาติ ทำให้เกิดการขาดแคลนผู้ล่าตามถิ่นที่เดิม
ดังนั้นแล้วสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือเรากำลังทำให้มีผู้ล่ามากขึ้นเกินจำเป็นซึ่งเป็นการแทรกแซงระบบนิเวศและทุก ๆ สิ่งดูเหมือนว่ากำลังเลวร้ายลง จากที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่ายางรถยนต์เก่าจะเป็นตัวช่วยฟื้นฟูปะการัง เพิ่มจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ ทำไมในตอนนี้มันถึงกลายเป็นหายนะ
……
ถ้าอย่างนั้นแล้วก็เก็บกู้ยางเก่าเหล่านั้นขึ้นมา
แต่การเก็บกู้ยางรถยนต์เก่าที่ทิ้งลงไปในทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมนักดำน้ำจะต้องดำลงไปทำการมัดยางเก่าให้แน่นแล้วก็แขวนกับทุ่นเพื่อให้ลอยขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นงานที่หนักเอาการ เนื่องจากต้องเผชิญกับความผันผวนใต้น้ำอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำหรือสภาพอากาศ นอกจากนั้นแล้วยังมีค่าใช้จ่ายสูง โดยมีต้นทุนต่อการเก็บกู้ยางหนึ่งเส้นอยู่ที่ราว 1,100 บาท แล้วด้วยการที่ยางไม่ได้อยู่เกาะกลุ่มกัน แต่กระจัดกระจายกันออกไป ทำให้ต้องใช้นักดำน้ำจำนวนมาก แยกกันออกไปเก็บกู้ยางแต่ละเส้นมามัดรวมกันแล้วผูกกับทุนลอย ถ้าเราต้องการเก็บกู้ยางจำนวนสองล้านเส้นเหล่านั้น จำเป็นจะต้องใช้จำนวนคน เม็ดเงินและระยะเวลาอีกมากมายเท่าไหร่ ?
ในตอนแรกยางมันก็อยู่บนบก เราก็เอาไปทิ้งลงทะเลถือว่าเป็นการกำจัดขยะไปในตัว แล้วตอนนี้ไปเก็บกู้มันขึ้นมาเป็นขยะบนบกใหม่ แล้วจะทำอย่างไรต่อ ?
มีการผลิตยางรถยนต์ทั่วโลกรวมกันราว 3,300 เส้นต่อนาที ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว โดยที่แต่ละประเทศก็มีวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวแตกต่างกันออกไป
เพื่อค้นหาคำตอบเราเริ่มต้นการเดินทางสำรวจของเรากันที่ประเทศคูเวต ( Kuwait city) เพราะว่าที่นี่อยู่ในตอนกลางของทะเลทรายอารเบียนและเป็นสถานที่ที่มีการนำยางรถยนต์เก่ามาทิ้งมากที่สุดในโลก บนพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่าหนึ่งตารางกิโลเมตร โดยจะเก็บยางรถยนต์เก่ากองรวมกันไว้เป็นเวลานานหลายเดือน
ยางเหล่านี้ก็มาจากร้านรับเปลี่ยนยางโดยรวม ๆ แล้วก็ประมาณ 6-7 ล้านเส้น เตรียมรอไว้เพื่อจะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หากเรานำยางรถยนต์ไปกำจัดด้วยการฝังกลบจะใช้ระยะเวลาย่อยสลายอย่างน้อย ๆ ก็ 500 ปี ที่คูเวต รัฐบาลกำลังมีแผนการสร้างโรงงานรีไซเคิลยางเก่าเหล่านี้เพื่อนำเหล็กหรือว่าโลหะที่เป็นส่วนผสมในโครงสร้างของยางกลับมาใช้ใหม่ แต่ผ่านมาหลายปีก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น คูเวตไม่ได้รีไซเคิลยางเก่าเหล่านี้แม้แต่เส้นเดียวด้วยซ้ำ แล้วจะเก็บยางเก่าเหล่านี้ไว้ทำไม แต่จากการสอบถามก็พบว่า คนงานจะช่วยกันฉีกยางเก่าเหล่านี้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่คอนเทนเนอร์ส่งไปทั่วโลกเพื่อที่โรงงานหลายแห่งที่รับยางไปจะนำเศษยางเก่าเหล่านี้ไปทำเป็นยางครัมบ์ ( crumb rubber ) เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตยาง แต่อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ คูเวตไม่ได้มีการรีไซเคิลยางที่กองรวมกันเป็นภูเขาเหล่านี้ในประเทศของตัวเอง
(คลิปประกอบจากโรงงาน Eldan Recycling ที่เดนมาร์ก ที่ใช้การบดตัดยางโดยไม่ต้องนำไปแช่ไนโตรเจนเหลว )
เราเดินทางต่อไปที่เมืองวิบอร์ก (Viborg) ของเดนมาร์ก ที่นี่บริษัทได้พัฒนากระบวนการรีไซเคิลเศษยาง (scrap tires)ได้เกือบสมบูรณ์แบบและกระบวนการดังกล่าก็ถูกเก็บเป็นความลับ
จะมียางเก่ามาส่งที่โรงงานนี้ราว ๆ 25,000 เส้นในทุก ๆ วัน ยางส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากในเดนมาร์กกับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียแล้วก็อังกฤษ
ยางรถยนต์เส้นใหม่นั้นผลิตจากวัสดุที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นจากยางคุณภาพดี เหล็กกล้าและผ้าใบเนื่องจากยางเหล่านี้ต้องทนทานต่อสภาพอากาศแบบสุดขั้วบนถนนและนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงทำให้ยางเก่ายากต่อการนำมารีไซเคิลและทำให้มันคือขยะที่สร้างปัญหาใหญ่เอามาก ๆ เช่นกัน
แต่โรงงานที่เดนมาร์กจะนำยางเก่าเหล่านี้ไปทำให้เย็นจนแข็งด้วยไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -190 องศาเซลเซียสจากนั้นก็นำไปบดเป็นผงที่ละเอียดมาก ๆ ได้ง่ายแล้วก็นำไปแยกวัสดุที่ไม่ใช่ยางออกไป ซึ่งสิ่งที่เราจะได้ออกมาจากเครื่องจักรก็คือเหมือนกันกับแผ่นยางใหม่ ทำให้ยางเก่าถูกนำมาทำเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตยางใหม่
………
ในทางกลับกัน หากเรามองไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยางรถยนต์เก่าเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเทศที่พัฒนาแล้วพากันส่งออกยางรถยนต์เก่าไปยังประเทศเหล่านั้นเพราะว่ามันยังพอเหลือเนื้อยางให้ใช้ได้อยู่ แต่เมื่อพวกเขาใช้มันจนถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นขยะ
ที่อินเดียมีบริษัทรีไซเคิลยางรถยนต์เก่าแห่งหนึ่งอยู่ที่มุมไบ พวกเขาเปลี่ยนเศษยางเก่าเหล่านี้เพื่อให้ได้น้ำมันดีเซล ทางโรงงานรับยางรถยนต์เก่าเหล่านี้มาจากยุโรปเป็นหลักรวมถึงประเทศต่าง ๆ ด้วย นอกจากเศษยางแล้วก็ยังนำเข้ายางเป็นเส้นอีกด้วยซึ่งในส่วนนี้ก็จะมาจากเยอรมนีแล้วก็จะนำมันไปเข้ากระบวนเพื่อผลิตน้ำมันดีเซล
โดยจะนำยางเก่าไปให้ความร้อนในเตาซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า Pyrolysis ยางรถยนต์นั้นประกอบด้วยส่วนประกอบที่เป็นปิโตรเลียมราว 65% ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าที่ทางบริษัทต้องการนำออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้ยางละลายเหนียวติดกับเตา คนงานก็จะใส่แมกนีเซียมโปรยเข้าไปในเตา ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับคนงาน อย่างไรก็ตามซัลเฟอร์ที่เกิดขึ้นจากปฏิกริยาเมื่อยางหลอมละลายนั้นมีความเป็นพิษนอกจากนั้นแล้วกระบวนการดังกล่าวยังปล่อยคาร์บอนจำนวนมากอีกด้วย
วิธีการ Pyrolysis นี้ เป็นที่นิยมใช้กันหลายแห่งทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากยางรถยนต์แล้ว ก็สามารถใช้วิธีการ Pyrolysis กับการเปลี่ยนพลาสติกให้กลายมาเป็นน้ำมันได้เช่นกัน
เราไปกันต่อที่โรงงานซีเมนต์ที่ใหญและเก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี โรงงานปูนซีเมนต์เกี่ยวข้องอย่างไรกับยางเก่าเหล่านี้
ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคที่โรงงานบอกว่า การเผาปูนซีเมนต์นั้นเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานอย่างมาก ต้องการความร้อนสูง จะมียางรถยนต์เก่าขนเข้ามาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงราว 30 ตันต่อวัน
ยางรถยนต์เก่าจะให้พลังงานความร้อน Calorific value เท่า ๆ กันกับถ่านหิน ยกตัวอย่างเช่น ยางรถยนต์เก่า 1 ตันจะให้พลังงานความร้อนเทียบเท่ากับถ่านหินหนัก 1 ตัน ซึ่งช่วยให้เราประหยัดเชื้อเพลิงหลักของเราได้
ในการเผาปูนซีเมนต์ ทางโรงงานจะจุดเตาเผาด้วยถ่านหินและขยะพลาสติกก่อน จากนั้นค่อยเติมยางรถยนต์เก่าเข้าไปผสมกับหินปูนในเตาเผาที่หมุนไปด้วยซึ่งจะช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ 10% ประโยชน์อีกอย่างก็คือเหล็กที่อยู่ในยางรถยนต์นั้นจะหลอมละลายไปกับซีเมนต์ทำให้มันมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
แล้วมีอะไรหลงเหลือจากการเผายางรถยนต์เก่าหรือไม่ ?
ที่อุณหภูมิเตา 2,000 องศาเซลเซียส วัสดุจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 1,450 องศาเซลเซียส เมื่อถึงจุดนี้แล้วจะไม่มียางหรือว่าโลหะใด ๆ หลงเหลืออีกแล้ว ดังนั้นยางรถยนต์เหล่านี้จึงถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงและยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับซีเมนต์ไปพร้อมๆ กัน ปัญหาเดียวที่มีก็คือ การเผาปูนซีเมนต์นั้นทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศเพิ่มสูงกว่ามลภาวะจากการจราจรถึงสามเท่า จึงทำให้บริษัทที่มีการควบคุมมลภาวะอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพเท่านั้นถึงจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเผายางเพื่อเป็นเชื้อเพลิงได้