ในช่วงเริ่มต้นการปฏิวัติวัฒนธรรม นวนิยายร่วมสมัยของตะวันตกนั้นครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเหมือนกับเมล็ดพันธุ์อันเสื่อมทราม แต่กลับพบเห็นได้ในหมู่บ้านที่ทุรกันดารห่างไกลของจีน
แต่เนื่องจากการคมนาคมขนส่งยังลำบาก ชาวบ้านจึงต้องใช้วิธีซื้อหนังสือเหล่านี้ด้วยตั๋วโควต้าจากร้านหนังสือแถวบ้าน วันไหนที่หนังสือมาถึง ทุกคนก็จะรีบมาถึงร้านหนังสือตั้งแต่เช้า เพื่อต่อแถวยาวเฟื้อยเนื่องจากมีชาวบ้านนับร้อยคนมารอตั้งแต่เมื่อคืน และเมื่อถึงเวลาเปิดร้านตอนแปดโมงเช้า ทันทีที่เจ้าของร้านประกาศว่ามีหนังสือให้เฉพาะ 50 คนแรก คนที่เหลือก็ผิดหวังไปตาม ๆ กัน
ได้แต่มองตาปริบ ๆ ยืนดูคนข้างหน้าหอบเอาหนังสือ แอนนา คาเรนนินา และเดวิด คอปเปอร์ฟิล เล่มใหม่เดินออกไปกัน ในไม่ช้า หมายเลข “51” จึงกลายเป็นคำแสลงที่หมายความถึงโชคร้าย
ทว่าปัจจุบัน เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นความล้าสมัยไปแล้ว ในช่วงสามทศวรรษของการปฎิรูปเศรษฐกิจของจีน ตลาดหนังสือท่วมท้นไปด้วยหนังสือมากมาย จีนกลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนรวมหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2012 กว่าแปดพันหนึ่งร้อยล้านเล่มเพิ่มขึ้นจากจำนวนเจ็ดพันเจ็ดร้อยล้านเล่มในปี 2011 คนจีนมีหนังสือให้เลือกอ่านหลากหลายไล่ตั้งแต่วรรณกรรมคลาสสิคของจีนไปจนถึงหนังสือขายดีติดอันของ Amazon ทั่วทุกแห่งบนท้องถนนมีทั้งหนังสือที่พิมพ์อย่างถูกกฏหมายและละเมิดลิขสิทธิ์วางขายอยู่ตามแผงหนังสือ
ในขณะที่เมืองจีนมีหนังสือให้เลือกอ่านได้มากมายมหาศาลดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจีนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นตาม !
จากการสำรวจโดย Chinese Academy of Press and Publication ในเดือนเมษายน คนจีนอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 4.39 เล่มต่อคนต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเมื่อนำไปเทียบกับชุดตัวเลขเดียวกันของประเทศที่พัฒนาแล้วยังห่างไกลกันค่อนข้างมาก อย่างเช่นคนอเมริกันอ่านหนังสือเฉลี่ย 7 เล่มต่อคนต่อปี คนญี่ปุ่นและคนฝรั่งเศส อยู่ที่ 8.4 เล่มต่อคนต่อปี เกาหลีใต้ 11 เล่มต่อคนต่อปี และคนจีนใ้ช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยราว 15 นาทีต่อวัน ดูทีวี 100 นาทีต่อวัน เล่นอินเตอร์เน็ต 45 นาทีต่อวัน
ส่วนราคาหนังสือนั้น คนจีนพอใจที่จะจ่ายเงินราว 85 บาทสำหรับหนังสือปกอ่อน ความหนา 200 หน้า
ประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการรู้หนังสือมาอย่างยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ซึ่งผู้คนปรารถนาที่จะอ่านได้คิดค้นกระดาษและเครื่องพิมพ์ แต่เมื่อกลับมาดูภาวะตลาดหนังสือในจีนตอนนี้แล้วช่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่จีนได้ทำในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ด้วยการรณรงค์ลดการไม่รู้หนังสือและส่งเสริมการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มากยิ่งขึ้น
รัฐบาลจีนมีแผนที่จะลดจำนวนประชากรที่ไม่รู้หนังสือจาก 230 ล้านคน ในปี 1985 ให้เหลือ 50 ล้านคน ในปี 2011 ในขณะเดียวกันกับที่จำนวนผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากเดิมสี่เท่าตัวในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้
ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาจะมีอัตราการอ่านหนังสือยามว่างเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมและตลอดช่วงต้นและกลางของศตวรรษที่ 20 แต่สำหรับในจีนแล้วอัตราการอ่านหนังสือกลับลดลงในช่วง 13 ปีมานี้ จากที่เคยอยู่ที่ 60.4% ในปี 2000 ลดลงมาเหลือเพียง 54.9% ในปี 2012
เพราะเหตุใดคนจีนถึงอ่านหนังสือกันน้อยลง ?
สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปตั้งแต่มีการเปิดประเทศเป็นเสรีนิยมมากขึ้นในทศวรรษที่ 80 จากการที่จีนมีความคิดเพียงอย่างเดียวในการที่จะทำให้มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้คนจีนคิดถึงเรื่องอื่นน้อยลง คนจีนส่วนมากมีเวลาพักผ่อนน้อยลง มองอะไรที่เป็นผลประโยชน์มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเราต้องการสมองที่ปลอดโปร่ง ใจที่สงบ เพื่อนั่งลงอ่านหนังสือ
ในทศวรรษที่ผ่านมา หนังสือขายดีในจีนมีเนื้อหาที่เป็นภูมิปัญญาน้อยลงและหันมาเพิ่มเรื่องของการปฏิบัติแทน “หนังสือขายดีติดอันดับทุกวันนี้ประกอบไปด้วย หนังสืออย่าง “คู่มือการเลี้ยงเด็ก , หนังสือทำอาหาร , สุขภาพและการออกกำลังกาย , หนังสือเตรียมสอบ นวนิยายสยองขวัญ นวนิยายโรแมนติก อะไรทำนองนี้”
หมวดหนังสือเหล่านี้ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกันในฟากตะวันตก แต่ในจีนแล้วสำนักพิมพ์ได้พยายามผลักดันหนังสือที่มีเนื้อหาความรู้เข้าไปในตลาดที่แน่นไปด้วยหนังสืออยู่แล้วและก็ยิ่งแน่นมากขึ้น ในทศวรรษที่ 90 ในหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศจีนมีร้านหนังสือขนาดเล็กเกิดขึ้นมากกว่า 1,500 ร้าน ขายหนังสือเกี่ยวกับการเมือง สังคมศาสตร์ ที่หนีไม่พ้นเกี่ยวข้องกับเรื่องจัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ในวันนี้ มีเพียงร้านหนังสืออิสระขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว คือ All Sages Bookstore ที่บริหารงานโดย หลิว ซูลิ ที่เคยผ่านเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนั้น ที่ยังเปิดอยู่ในกรุงปักกิ่ง “เมื่อมีคนพูดเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในจีน พวกเขาวัดในแง่ของรายได้ โดยบางคนในนั้นซื้อหนังสือ แต่ก็เป็นเพียงแค่จุดประสงค์ในการอ่านฆ่าเวลาหรือซื้อหนังสือเตรียมสอบ พวกเขาแค่มองหาสิ่งที่คิดว่าอาจเป็นประโยชน์กับตัวเอง แต่พวกเขาไม่ได้ซื้อมันเพื่ออ่าน !”
ในทศวรรษหลังจากการเคลื่อนไหวที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปัญญาชนจีนดูเงียบหายไป หลังจากนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง สังคม รวมทั้งสำนักพิมพ์ที่ทำเรื่องดังกล่าวก็ถูกแบนจากตลาด ผู้เขียนหรือแม้กระทั่งสำนักพิมพ์ก็ถูกทางการสั่งกักบริเวณและในที่สุดก็ต้องขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
ความนิยมอ่านหนังสือในโลกออนไลน์ ?
จากการสำรวจโดย iResearch พบว่า เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับวรรณกรรมจีนยอดนิยม 10 อันดับนั้น มียอดผู้เข้าชมรวมกันเฉลี่ยแล้ว 12.2 ล้านคนต่อวัน แต่เนื่องจากขาดบรรณาธิการ หนังสือออนไลน์เหล่านี้จึงมีคุณภาพที่หลากหลาย
ปัจจุบัน ในสหรัฐฯ ผู้อ่านที่เคยซื้อหนังสือตัวเล่มพากันไปร้านหนังสือดิจิตอลเพื่อเลือกดูเนื้อหาและซื้อหนังสือ อย่างไรก็ตามสำหรับนักอ่านออนไลน์ชาวจีนเหล่านี้ กำลังเลือก e-book เพื่อหาว่าอะไรที่หนังสือตัวเล่มขาดไปหรือไม่ได้รวมไว้ ไม่ว่าจะเป็นบทวิจารณ์ทางสังคม รวมทั้งสามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐได้ง่ายกว่าหนังสือตัวเล่ม โดยชาวจีนเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อหนังสือ e-book ในราคา 20 บาท ตามการสำรวจของ Chinese Academy of Press and Publication