อินเตอร์เน็ตก็คือห้างสรรพสินค้ารูปแบบใหม่ เมื่อเรามองไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต่างก็ซื้อของออนไลน์กันเป็นว่าเล่นและอย่างต่อเนื่องด้วย แถมระบบก็ช่วยจำเลขบัตรเครดิตให้ด้วย เพียงแค่ คลิ๊กไม่กี่คลิ๊กก็เสร็จสิ้นกระบวนการชอปปิ้งแล้ว อีกไม่กี่วันของก็มาส่งถึงบ้าน ง่ายดายแค่ปลายนิ้ว
ดังนั้นผู้นำ fast fashion แบบยุคเดิม ก็ต้องประเมินรูปแบบกลยุทธ์ของพวกเขาใหม่อีกครั้งเพื่อตอบสนองต่อความสำเร็จของบริษัทต่าง ๆ ที่ไม่มีหน้าร้านอาศัยช่องทางขายเฉพาะออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพราะเร็วกว่าและถูกกว่าแถมยังคิดค้นการขายเสื้อผ้าให้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย
ที่เมืองเลสเตอร์ประเทศอังกฤษ คงไม่เป็นการพูดเกินไปนักหากจะบอกว่า Fast fashion มาจากเลสเตอร์และเลสเตอร์มีกำลังการผลิตซึ่งไม่สามารถหาได้จากทื่ใดในอังกฤษหรือแม้แต่ในภาคพื้นยุโรปเลยก็ว่าได้ ผู้ผลิตส่วนหนึ่งกลับมาที่เลสเตอร์เนื่องจากที่ตั้งใจกลางเกาะอังกฤษช่วยประหยัดเวลาในการจัดส่งสินค้าและเวลานี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ซึ่งระยะเวลานับตั้งแต่รับออร์เดอร์จนถึงจัดส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 12 วัน
ผู้จัดการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งบอกว่า “เรามีวัตถุดิบในการผลิตอยู่ในสต็อกตลอดเวลา ดังนั้นหากลูกค้าต้องการอะไรที่เร่งด่วนมาก ๆ เราก็สามารถตอบโจทย์ได้ภายในสองสัปดาห์ เราไม่สามารถเสียไปแม้แต่ชั่วโมงเดียว เราคำนวณทุกอย่างไว้หมด”
…………..
แต่ประสิทธิภาพที่แข่งกับเวลานั้นมีต้นทุนสูง
เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่มีคำสั่งผลิตสินค้า คู่สัญญาที่รับทำก็จะแจกจ่ายงานให้กับโรงงานขนาดเล็กอีกทอดเพื่อให้ทุกอย่างเสร็จทันเวลา
การที่ผู้ผลิตรับงานมาผลิตไม่ว่าจะมากหรือน้อย ขอให้ได้มาเถอะ แม้ว่าจะไม่มีกำลังการผลิตเพียงพอ และนี่แหละที่จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา เพราะพวกเขาต้องส่งออร์เดอร์ต่อให้ผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งโรงงานเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานต่างจากโรงงานใหญ่
โรงงานขนาดเล็กมากมายไม่ได้มีสวัสดิการ ไม่ได้มีมาตรฐานการทำงาน สิ่งเดียวที่พวกเขาคิดคือ ลดต้นทุนการผลิต ทำอย่างไรก็ได้ขอแค่ให้มีคนมาจ้างผลิต แข่งขันกันแย่งงานกันเพื่อให้ได้ออร์เดอร์ในราคาต่ำสุด ดังนั้นแล้วก็ต้องมาลดต้นทุนสวัสดิการ ลดค่าแรงพนักงาน จ่ายค่าแรงเป็นชั่วโมง บางทีก็จ่ายต่ำกว่าครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำเสียด้วยซ้ำ พนักงานต้องมาทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าเลิกงานหกโมงเย็น เพราะต้องทำเวลาให้ออร์เดอร์เสร็จตามกำหนด ในทางกลับกันหากส่งออร์เดอร์เสร็จหมดแล้วตอนบ่ายสอง พนักงานก็ต้องกลับบ้านไปหาอย่างอื่นทำ เพราะจะจ่ายค่าแรงถึงแค่เวลาบ่ายสองเท่านั้น ไม่ได้จ่ายค่าแรงชดเชยให้ไปถึงหกโมงเย็นเหมือนที่ได้ทำงานกันมา
Fast fashion ได้ก่อให้เกิดความบิดเบี้ยว ความไม่แน่นอนของคนทำงานเพราะไม่เคยมีสัญญาจ้างงาน หากใครจะมาสมัครงาน ก็ต้องทดลองทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้างใด ๆ
เจ้าของโรงงานคนหนึ่งบอกว่า “สินค้าที่เราผลิตก็ถูกนำไปขายออนไลน์โดยแบรนด์ดัง”
………………
นอกจากปัญหาเรื่องแรงงานและการทำงานที่ไม่เป็นธรรมแล้วนั้น อีกปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งก็คือ มลภาวะ
การผลิตเสื้อผ้าในราคาถูกกลับอยู่บนต้นทุนของสิ่งแวดล้อมที่สูง
อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากน้ำมัน
ผ้าหนักหนึ่งตันจะก่อให้เกิดมลภาวะของน้ำ 200 ตัน คิดเป็นอัตราส่วน 1:200 ยิ่งการซื้อขายเติบโตมากเท่าไหร่ก็มีแนวโน้มจะสร้างมลภาวะมากขึ้น โดยเฉพาะหากโรงงานไม่มีระบบการกรองและบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพด้วยแล้ว นั่นหมายความว่าหากอุตสาหกรรมแฟชันกำลังขยายตัวได้อีก 60% ในอีก 10 ปีข้างหน้า แล้วถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือเราก็กำลังจะได้รับมลภาวะเพิ่มขึ้นอีก 60% เช่นกัน
………..
ภายใต้แรงกดดันจากสาธารณะ อุตสาหกรรมสิ่งทอก็กำลังพยายามปรับภาพลักษณ์ตัวเอง อย่างงานแสดงสินค้าก็ปรับมาเน้นธีมสีเขียว เน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เทรนด์ตอนนี้ก็คือ green fashion และมีวัสดุราคาถูกอยู่ชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นั่นคือไหมเทียม Viscose ซึ่งเป็นวัสดุกึ่งสังเคราะห์ทำมาจากเปลือกไม้ มีการนำมาใช้ตั้งแต่ตอนปลายศตวรรษที่ 18
แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิต Viscose ทั่วโลกเพียงไม่กี่แห่ง
…………………………………..
Viscose หรือไหมเทียมทำขึ้นมาได้อย่างไร ?
โดยหลักการก็คือ
นำเปลือกไม้มาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปแช่สารเคมีอย่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ เพื่อทำให้เป็นสารละลายเปลือกไม้มีสีน้ำตาลเกิดเป็น alkali cellulose จากนั้นนำไปล้าง ทำความสะอาดแล้วฟอกสี ขั้นตอนต่อมาก็คือการสร้างเส้นใยเซลลูโลสจากเปลือกไม้ โดยการเติมคาร์บอนไดซัลไฟด์ลงไป จากนั้นนำไปแช่ในโซเดียมไฮดรอกไซด์อีกครั้งจะทำให้ได้สารละลายที่เรียกว่า Viscose แล้วก็นำสารละลายดังกล่าวไปเข้าเครื่องสร้างเส้นใย พอได้เส้นใยก็ปั่นให้เป็นเส้นด้าย นำไปใช้งานต่อไป ซึ่งเราก็จะเรียกผ้าที่มีส่วนผสมของไหมเทียมว่าผ้าเรยอน
จากขั้นตอนดังกล่าวจะมีอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่เอา Viscose ใส่ลงไปในอ่างที่มีกรดซัลฟูริกอยู่ ตรงนี้ส่วนของคาร์บอนไดซัลไฟด์จะทำปฏิกริยากับกรดซัลฟูริกทำให้เกิดควันพิษ ประเด็นก็คือว่าคนงานที่ทำขั้นตอนดังกล่าวอยู่ในห้องที่ไม่ได้มีการระบายอากาศที่ดี ไม่มีเครื่องป้องกัน ก็จะสูดควันเข้าไป ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคตา โรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบสืบพันธุ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
เพราะเวลาทำงานทางโรงงานก็บอกว่าทำไปเลย ไม่ต้องซีเรียส มัวแต่คิดไม่เสร็จสักที ลูกค้ารอ อะไรแบบนี้ โดยที่ไม่บอกว่ามันอันตราย
พอเจ็บป่วยทำงานไม่ได้ เขาก็เลิกจ้าง ไม่มีค่าชดเชยสินไหมอะไรให้ทั้งนั้น
ดังนั้นความสวยงามของแฟชั่นบน cat walk ก็มียังมีเงาดำเดินอยู่บน darker walk คู่ขนานกันไป
https://www.sciencedirect.com/topics/agricultural-and-biological-sciences/viscose
https://www.sciencedirect.com/topics/engineering/cellulose-xanthate