ฟิลิปโป เบอนาดินี ชาวอิตาลี ซึ่งทำงานในสำนักพิมพ์ไซมอนแอนด์ชูสเตอร์ ถูกจับกุมข้อหาฉ้อโกงและขโมยอัตลักษณ์ของผู้เสียหายจำนวนหลายร้อยคนในช่วงระยะเวลาห้าปีมานี้
มันเป็นการขโมยผลงานที่ค่อนข้างแปลก ซึ่งยังไม่ทราบแรงจูงใจหรือทำไปเพื่ออะไร
….. ……
วิธีการของเขาก็คือ พยายามโมยข้อมูลด้วยการติดต่อผู้เสียหายผ่านทางอีเมล์ โดยการอ้างว่าเป็นตัวแทนจากสำนักพิมพ์ พุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักเขียน บรรณาธิการ กลุ่มคนที่น่าจะมีต้นฉบับนวนิยายหรือต้นฉบับของหนังสืออะไรทำนองนี้
เมื่อวันพุธที่ผ่านมาสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ FBI ได้ทำการจับกุมนายฟิลิปโป เบอนาดินี อายุ 29 ปี ซึ่งทำงานเป็นผู้ประสานงานด้านสิทธิของสำนักพิมพ์ไซมอนแอนด์ชูสเตอร์อังกฤษ โดยระบุว่า “การแอบอ้าง หลอกลวงรวมทั้งความพยายามที่จะหลอกหลวงผู้เสียหายหลายร้อยคนในช่วงห้าปีมานี้ ทำให้ได้มาซึ่งต้นฉบับของหนังสือที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์แต่อยู่ในขั้นตอนของการทำงาน”
โดยเบอนาดินีถูกจับกุมหลังจากลงจากเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี
ทางด้านประชาสัมพันธ์ของสำนักพิมพ์ไซมอนแอนด์ชูสเตอร์ กล่าวว่า “ทางสำนักพิมพ์รู้สึกตกใจเป็นอย่างมากกับข้อหาที่เบอนาดินีได้รับและเขาจะถูกพักงานไปจนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ
ทางสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทรัพย์สินทางปัญญาของนักเขียนเป็นประการแรกรวมถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นี้ เรายินดีให้ความร่วมมือกับ FBI ในการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำส่วนบุคคล ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด”
ในรายละเอียดคำฟ้องระบุว่า เบอนาดินีได้ทำการส่งอีเมล์ไปหาผู้เสียหาย โดยการแอบอ้างตัวเองเป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์ อย่างเช่น แจ้งว่าตัวเองเป็นบรรณาธิการ ซึ่งอีเมล์ที่ใช้ก็เป็นอีเมล์ปลอม โดยการลงทุนจดโดเมนเนมที่ใช้ชื่อใกล้เคียงกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ให้เพี้ยนไปเล็กน้อย เพื่อทำให้ผู้เสียหายเข้าใจผิด โดยพบว่าเขาจดโดเมนชื่อต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับสำนักพิมพ์เพื่อใช้ปลอมแปลงและส่งอีเมล์ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อไปถึง 160 โดเมนเนมเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้วเขายังได้สร้างหน้าเว็บไซต์ปลอมของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเพื่อหลอกให้ผู้เสียหายกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเพื่อที่เขาจะได้ดักจับข้อมูลดังกล่าวเพื่อเอาไปใช้เข้าสู่ฐานข้อมูลของเว็บไซต์จริงต่อไป
ตัวของเบอดินีเอง มีร่องรอยดิจิตอลจากการที่เขาระบุนามสกุลของตัวเองไว้กับบัญชีผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง Twitter และ LinkedIn โดยอธิบายตัวเองว่าเป็นผู้หลงใหลในงานเขียนและภาษา โดยในบัญชีของ LinkIn เขาได้บอกว่าตัวเองจบปริญญาตรีด้านภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยคัตโตลิกาในมิลานและทำงานเป็นนักแปลการ์ตูนภาษาจีนเป็นภาษาอิตาลี จบปริญญาโทด้านสิ่งพิมพ์จาก University College London พร้อมทั้งเขียนความปรารถนาไว้ด้วยว่า “เราสามารถอ่านหนังสือและสนุกไปกับมันได้ทั่วโลก ในทุกภาษา”
ส่วนทางด้านผู้เสียหายที่ได้รับอีเมล์จากเบอดินีบอกว่า “ในอีเมล์ที่ได้รับนั้นเขาใช้ภาษาและศัพท์เฉพาะทางแบบที่คนวงในเข้าใจกัน เข้าใจถึงขั้นตอนการผลิตหนังสือเป็นอย่างดี จึงทำให้หลงเชื่อได้ว่าเป็นคนในแวดวงหนังสือติดต่อเพื่อทำธุรกิจกันจริง ๆ”
เบอดินีส่งอีเมล์ไปหานักเขียนและผู้คนในสำนักพิมพ์ต่างๆ หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สวีเดน ไต้หวัน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งบางคนมองว่า ไม่น่าจะเป็นการกระทำด้วยตัวคนเดียว
เขาส่งอีเมล์ไปหานักเขียนทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ชื่อดัง หรือยังไม่มีชื่อเสียง แต่หลังจากที่ได้ต้นฉบับไปแล้วก็ยังไม่พบว่ามีการนำต้นฉบับไปปล่อยต่อในที่อื่นใด ซึ่งก็ยังเป็นข้อสงสัยว่า เขาทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่เขาพยายามเข้าถึงหรือได้มาซึ่งต้นฉบับนั้น จะทำให้ตัวของเบอดินีเองมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น ดูเป็นคนที่มองเห็นเทรนด์หรือว่าแนวโน้มของตลาดหนังสือได้ดีและใช้มันให้เกิดประโยชน์ในการทำหนังสือที่ตลาดกำลังต้องการ คล้าย ๆ กับพวก inside trader อะไรทำนองนั้น
แต่โครงเรื่องจากชีวิตจริงที่ต้องอ่านเพื่อเตือนใจในตอนนี้ก็คือ เบอดินีถูกจับกุมจากการกระทำความผิดอาชญากรรมข้อหาฉ้อโกง นั่นเอง