back to top

ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไร้สาระหรือไม่ ตอนที่ 1

Listen to this article

ในระบบสุริยะจักรวาล เริ่มจากดวงอาทิตย์ก็จะเรียงลำดับมาเป็น ดาวพุธ ดาวศุกร์ แล้วก็โลก แม้ว่าดาวพุธจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าดาวศุกร์เกือบสองเท่าแต่ทว่าดาวศุกร์กลับร้อนมากกว่าดาวพุธ เนื่องจากบนดาวศุกร์มีภาวะเรือนกระจกอย่างรุนแรง มีชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่อย่างหนาแน่น ส่งผลให้อุณหภูมิที่พื้นผิวสูงกว่า 460 องศาเซลเซียส


นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลกก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแบบแทบเรียกได้ว่า “เต็มกราฟ!” ดังนั้นแล้วโลกของเราเองก็กำลังร้อนขึ้นเช่นกัน โลกใบนี้ถือกำเนิดมาแล้วราว 4,600 ล้านปี ปัจจุบันโลกของเราอยู่ในมหายุคซีโนโซอิกซึ่งเริ่มต้นขึ้น 66 ล้านปีที่แล้ว เคยผ่านทั้งช่วงเวลาที่ร้อนกว่านี้แล้วก็เย็นกว่านี้ สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยในปัจจุบันคงอยู่มาเป็นระยะเวลา 10,000 ปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เราเองก็มีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นด้วยเช่นกัน
…..แล้วในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คำถามก็คือ เราแก้ไขมันได้ไหม ? ทางออกของปัญหาคือ ? แล้วใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ลงมือทำในเรื่องนี้ ?

ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามต่อการทำให้สัตว์ต่าง ๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในสัดส่วนหนึ่งต่อสอง น้ำแข็งขั้วโลกอาจจะหายไปภายในระยะเวลา 10 ปี เรากำลังเห็นการดิสรัปชันทางการเกษตรเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นต่อเนื่อง ประชากรหลายล้านคนต้องอพยพไปอยู่ยังพื้นที่สูงกว่าเดิม พายุต่าง ๆ มีความรุนแรงขึ้น ไฟป่า ภัยแล้งที่ยาวนานกว่าเดิม ความขัดแย้งทางด้านศีลธรรม  ศักยภาพในการพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองถดถอยลงและล่มสลายในที่สุด

Chart from C.R. Scotese: “Paleomap”
Source : Global Warming In Perspective

………..

สหรัฐฯ มีสัดส่วนประชากรคิดเป็นราว 5% ของประชากรโลกแต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1 ใน 4 ของทั้งโลก

จริงอยู่ที่คาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้เป็นก๊าซเรือนกระจกเพียงชนิดเดียว แต่ที่เน้นก็เพราะว่าเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดในตอนนี้ ผู้คนจำนวนมากต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แต่หนึ่งในสามของชาวอเมริกันไม่ได้คิดว่ามนุษย์เป็นสาเหตุ

อุปสรรคใหญ่ที่เราเจอในตอนนี้ก็คือ ไม่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีบทลงโทษสำหรับการพึ่งพาพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นจึงยากที่จะผลักดันให้ผู้คนหันมาใช้พลังงานสะอาดกัน ในขณะเดียวกันกับที่เหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์เห็นผลจากแบบจำลองสภาพอากาศของพวกเขา ที่พบว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์อย่างมาก

ถ้าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเราจะไปพึ่งพาแหล่งพลังงานจากไหนกันได้บ้าง ?

เรามุ่งหน้าไปค้นหาคำตอบจากพลังงานทางเลือก อันดับแรกคือ ลม

ที่ West Texas หากเรามองไปรอบ ๆ พื้นที่ราบโล่งกว้างแถบนี้ ที่ดินจำนวนมากจะเป็นของเกษตรกรอยู่แค่ไม่กี่ครอบครัว แล้วในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับพวกเขา ที่ทำให้เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมพวกเขาถึงสนใจที่จะมีส่วนร่วมในโครงการกังหันลม แน่นอนว่าในตอนแรก ๆ ย่อมมีเสียงคัดค้านอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีกังหันลม หลายสิ่งกำลังย่ำแย่ ผู้คนส่วนใหญ่ที่เติบโตที่นี่ ต่างพากันออกจากเมืองเพื่อไปหาอนาคตที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รักบ้านเกิดแต่มันไม่มีงาน ไม่มีโอกาสที่นี่ แต่ในขณะที่อะไรต่างก็ดูแย่ไปหมดนั้น อุตสาหกรรมลมก็เข้ามา แล้วมันก็พลิกโฉมไปแบบไม่น่าเชื่อ เมืองกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อย่างน้อยที่นี่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในฟาร์มกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเจ้าของที่ดินกว่า 400 รายที่ต่างก็ได้รับประโยชน์จากโครงการกังหันลมนี้ โดยเจ้าของที่ดินจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง ซึ่งก็เป็นโอกาสเดียวของพวกเขาที่จะมีรายได้สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง หากโครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงผู้คนได้กว่า 250,000 ครัวเรือน ส่วนเกษตรกรเจ้าของที่ดินก็จะได้รับเงินอยู่ราว 15,000 เหรียญฯ ต่อกังหันลมหนึ่งต้นต่อปีเหมือนกับเป็นค่าเช่าที่ดิน คล้ายกันกับของบ้านเราที่เขามาเช่าที่ตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือนั่นแหละ ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรและปศุสัตว์ได้อีกด้วย หากเราไปสอบถามผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนี้ พวกเขาดูจะมีความสุขกว่าเดิม หลายครอบครัวมีเด็กเล็ก ๆ รวมทั้งมีที่พากันย้ายกลับมาทำงานที่บ้านจากอุตสาหกรรมกังหันลมนี้เอง
แต่ข่าวร้ายก็คือ กระทรวงพลังงานระบุว่าพลังงานลมจากเท็กซัส ทั้งนอร์ธแล้วก็เซาท์ดาโกต้า แคนซัสและมอนทาน่า มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ!!! นอกจากนั้นมอเตอร์ไฟฟ้าในกังหันลมจำเป็นต้องใช้ rare earth ซึ่งก็หนีไม่พ้นการขุดทำเหมือง มันไม่มีอะไร green 100%

หากเรามองถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมทั่วโลก กำลังการผลิตรวมกันจะมากถึงหลายล้านล้านวัตต์เลยทีเดียวหรือเรียกตามหน่วยพลังงานหน่วยใหญ่ว่าเทราวัตต์  (Terawatt) ซึ่ง 1 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) จะเท่ากับหนึ่งพันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) สถิติการใช้ไฟของคนทั้งโลกต่อวัน ทั้งวัน ทุก  ๆ วันเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 16 Terawatts หากเราสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ 16 Terawatts จากพลังงานสะอาดซึ่งไม่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันเราผลิตพลังงานได้ต่ำกว่า 2 Terawatts จากสถิติเมื่อคำนวณกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันลมเพียงอย่างเดียวแล้วอยู่ที่ 2  Terawatts เราจะต้องสร้างและติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ทุก  ๆ 5 นาที ไปอีก 25 ปีนับจากนี้เพื่อให้ไปถึงเป้าที่ 16 Terawatts นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและแทบไม่มีทางเป็นไปได้

เมื่อลองประเมินจากธรรมชาติรอบตัวแล้วพบว่า ในทุก ๆ วัน จะมีพลังงานราว 86,000  Terawatts จากดวงอาทิตย์ตกกระทบโลก กว่า 32  Terawatts ถูกปั๊มขึ้นมาจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ และอีกราว 870 Terawatts มาจากพลังงานลมที่กำลังพัดพาหมุนวนรอบโลกอยู่ในตอนนี้ อย่างที่ทราบ เราต้องการพลังงานเพียง 16 Terawatt เท่านั้น หากเราสามารถใช้แหล่งพลังงานอื่นร่วมด้วยก็พอจะมีความหวัง

แม้ว่ากังหันลมกำลังผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ แต่เชื่อไหมว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นในฟากตะวันออก นอกจากนั้นแล้วนับจากนี้ไปอีก 8 ปี โรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในจีนจะสร้างแล้วเสร็จและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 800,000 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดในสหรัฐฯ  ตอนนี้ถึงสองเท่าครึ่ง แม้ว่าตอนนี้สหรัฐ ฯ กำลังสูสีคู่คี่มากับจีนว่าใครจะเป็นผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ของการทำให้โลกร้อนขึ้นนั้น ณ ปัจจุบัน กว่า 80 -85% เป็นมลภาวะที่เกิดในซีกโลกตะวันตก

พลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าเซลล์ (Photovoltaic cell) 
โซล่าเซลล์เคยเป็นสินค้าทั่วไปในสหรัฐฯ มาก่อน ต่อมาบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ต่างก็กลายเป็นของญี่ปุ่นและเยอรมัน  บริษัทกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นมานั้นตอนนี้ก็กลายเป็นของเดนมาร์กและเยอรมันเช่นกัน ดังนั้นหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  โดยที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จีนก็จะกลายเป็นผู้นำที่ทิ้งห่างทุกคนออกไป มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของยานยนต์ของจีนนั้นสูงกว่าที่อื่น นอกจากนั้นแล้วจีนยังมีบริษัทแผงโซล่าเซลล์ที่ทันสมัยที่สุดในโลกอยู่อีกหลายแห่ง จะมีใครตามจีนทันหรือไม่ ?
……………

สิ่งที่เป็นข้อดีของเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เป็นเศรษฐกิจที่เน้นใช้แรงงานคน ทำให้เกิดการสร้างงานหลายตำแหน่ง นี่เป็นเรื่องของภูมิยุทธศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแท้จริงแล้วก็คือเรื่องความมั่นคงของประเทศนั่นเอง เราต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเรื่องนี้ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงไปทั่วโลก ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการที่เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ทั่วโลกถูกน้ำท่วม ทั้งยังเป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นแถบปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้  ปากแม่น้ำคงคาหรือว่าแม่น้ำไนล์ ผู้คนเหล่านั้นต่างต้องพากันอพยพ แต่ว่าโลกไม่ได้พร้อมที่จะรับมือกับคลื่นผู้อพยพมวลมหาประชาชนมากมายขนาดนั้น ดังนั้นในไม่ช้าก็ต้องเกิดประเด็นความขัดแย้ง เกิดสงครามย่อม ๆ ตามมาอีกมากมาย
…………………….

Migration from flash flooding

หลายคนไม่ได้เชื่อเรื่องโลกร้อนอะไรสักเท่าไหร่นัก แต่เราสามารถหาอ่านรายงานต่างๆ  ได้ทั่วไปหมดที่เป็นผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์  เมื่อได้เรียนรู้เรื่องโลกร้อนมากขึ้นกว่าเดิมก็เริ่มเข้าใจว่า หากน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ยิ่งใช้น้ำมันกันต่อไป ปัญหาก็จะยิ่งลุกลาม

กองทัพสหรัฐฯ ใช้น้ำมันราว 300,000 บาเรลต่อวัน จัดเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว การจัดหาน้ำมันเพื่อส่งไปยังพื้นที่สู้รบแนวหน้านั้นต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเสี่ยงต่อการสูญเสีย นั่นก็เพราะว่า เวลาที่เราเคลื่อนย้ายไม่ว่าจะเป็นการส่งกำลังบำรุงหรือยุทโธปกรณ์ด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ยาวเป็นขบวน รถพวกนี้ไม่ใช่รถหุ้มเกราะ ยิ่งถ้าเป็นรถบรรทุกน้ำมัน ยิ่งง่ายต่อการตกเป็นเป้าโจมตีของศัตรู จำเป็นต้องหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดการพึ่งพาน้ำมัน

น้ำมัน 1 ใน 3 ของกองทัพในช่วงที่เกิดสงครามถูกใช้ไปกับเครื่องปั่นไฟ โดย 95% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นถูกนำไปใช้กับเครื่องปรับอากาศอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงพวกเต็นท์สนามที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราวกับทะเลทรายที่ร้อนระอุ พื้นที่บางแห่งอุณหภูมิสูงถึง 49 องศาเซลเซียส เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศก็จะช่วยลดอุณหภูมิลงมาอยู่ที่ราว 38 องศาเซลเซียส สิ่งที่ทำได้จริง ๆ คือกำลังเปิดเครื่องปรับอากาศให้กับทะเลทรายนั่นเอง ที่ผ่านมายังต้องแบ่งกำลังคนไปขับรถขนน้ำมันเพื่อเอามาทำอะไรที่สูญเปล่า
มีแนวคิดหาทางเพิ่มการบุฉนวนกันความร้อนให้กับเต็นท์ หรือไม่ก็พ่นโฟมที่เป็นฉนวนกันความร้อนขึ้นรูปมาเป็นเต็นท์เลยแต่นั่นก็ต้องแลกมากับการเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนไม่ได้ ก็เหมือนกับเรากำลังได้กระติกน้ำแข็งขนาดยักษ์มานั่นเอง

monolithic-dome

ด้วยการฉีดโฟมขึ้นรูปเป็นเต็นท์ สามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศจาก 50 ตัน ลงมาเหลือเพียง 8 ตัน (  1 ตัน = 12,000 BTU ) ซึ่งลดการใช้พลังงานไปได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว ใช้เวลาในการพ่นโฟมสร้างเป็นเต๊นท์ขึ้นมาราว ๆ 10 เดือน ลดความเสี่ยงของทหาร มีความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดเงิน นอกเหนือไปจากเต็นท์แล้ว

สิ่งก่อสร้างอีกอย่างก็คือ monolithic dome ที่พึ่งพาพลังงานจากตัวมันเอง โดยหนึ่งโดมจะมีกังหันลมสองต้นแล้วก็แผงโซล่าเซลล์อีกสองชุด โดยจะมีการป้อนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่แบตเตอรีอย่างต่อเนื่อง ได้ประหยัดพลังงานแต่ก็อาจตกเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายด้วยเช่นกัน ภารกิจคือการปกป้องประเทศในขณะเดียวก็ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
…………………….

glacier-melting

หลายปีมานี้ เราล้วนได้ยินเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายแสดงให้เราเห็นอยู่ทั่วทุกหนแห่ง เป็นสิ่งบ่งบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งกว่า 53 แห่งได้หายไป หายแล้วยังไงล่ะ? เหมือน chip ไหม ? ( ถ้างง เชิญอ่าน Chip ? ชิปหายไหม ?)

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นได้ชัดเจนบนยอดเขาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำและน้ำฝนเพิ่มขึ้นแทนที่จะเป็นหิมะ เมื่อมีน้ำฝนเพิ่มขี้นก็ตามมาด้วยน้ำป่าไหลหลาก การไหลบ่าของน้ำอย่างรวดเร็วจากพื้นที่สูงชัน ส่งผลให้น้ำไม่สามารถซึมลงดินไปเติมแหล่งน้ำใต้ดินได้อย่างที่หิมะทำ เมื่อหิมะลดน้อยลงก็หมายความธารน้ำแข็งก็จะหายไปในที่สุดด้วย 

นอกจากนั้นแล้วปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นก็จะไหลอย่างรวดเร็วแล้วก็แห้งเหือดหายไปโดยไร้ประโยชน์ พอถึงหน้าแล้งก็จะแล้งไม่มีน้ำ ระดับน้ำในเขื่อนต่ำทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าต้องลดลงไปด้วย ปลาไม่อาจว่ายขึ้นไปวางไข่แล้วในที่สุดก็สูญพันธุ์ แหล่งอาหารของมนุษย์ก็หดหายตามไป การที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ช่วงฤดูหนาวน้อยลง สั้นลง ส่งผลให้เกิดการระบาดของแมลงต่าง ๆ ได้ง่าย กระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนอีกด้วย

…….

เมื่อประเทศต่าง ๆ เดินหน้าเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด สถานที่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็คือบนท้องถนน

การขนส่งของโลกล้วนพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เต็มไปด้วยคาร์บอน เราสามารถลดความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ในหลายรูปแบบ อย่างเช่นการออกแบบผังเมืองที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเดิน ปั่นจักรยานหรือหันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น การขนส่งสินค้าให้คุ้มต่อเที่ยวทำให้ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้แต่เรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าก็ยังนำเรื่องนี้มาพิจารณาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมารวมกันจากการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถบรรทุก รถไฟ รถที่กำลังผ่อนอยู่ ! เครื่องบินรวมถึงเรือนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 14% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลก ตราบใดที่ความต้องการน้ำมันยังคงมีอยู่ทั่วโลก เราก็ต้องพิจารณาเรื่องการใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเป็นกุญแจสำคัญ

หนึ่งในทางเลือกทดแทนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็คือเชื้อเพลิงชีวภาพ ( biofuels )

โรงงานผลิตเอธานอลในอเมริกาซึ่งอาศัยวัตถุดิบจากข้าวโพดและอ้อย การผลิตเอธานอลจากข้าวโพด (ย่อยแป้งในข้าวโพดให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว จากนั้นก็เติมยีสต์เพื่อหมักน้ำตาลให้กลายเป็นเอธานอล) นั้นยังเทียบไม่ได้กับที่ผลิตจากอ้อย เราสามารถเทียบได้ว่าหากปลูกอ้อย 2.5 ไร่ จะสามารถผลิตเอธานอลได้มากกว่าข้าวโพดในพื้นที่เพาะปลูกเท่ากันถึง 7 เท่า หรือไม่ก็เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน ผลผลิตที่ได้จากการนำข้าวโพดไปสกัดเป็นน้ำมันจะอยู่ที่ราว ๆ 28 แกลลอน หากใช้พื้นที่เท่ากันปลูกปาล์มน้ำมันจะสามารถนำไปสกัดน้ำมันได้ถึง 600-800 แกลลอน แต่ว่าข้อเสียที่เห็นได้ชัดของเอธานอลก็คือเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันดีเซลไม่ได้ ซึ่งการขนส่งทั่วทั้งโลกส่วนใหญ่แล้วก็ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก ทั้งยังใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไม่ได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเอธานอลจะแข็งตัวที่ระดับความสูง 15,000 ฟุต จึงไม่ควรเสี่ยง

……………………………….

ทางเลือกอื่นเพื่อให้ลดการใช้น้ำมันในชีวิตประจำวันของเราก็คือการใช้ไฟฟ้า

ในปี 1884 Thomas Parker ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการคันแรกขึ้นที่ลอนดอน
Source : History of Electric Cars | Sytner Group

ในช่วงทศวรรษที่ 1830 Thomas Davenport และภรรยาของเขาได้ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟกระแสตรงจากแบตเตอรี โดยทดลองนำไปติดตั้งกับรถยนต์ต้นแบบคันเล็กๆ ทำให้แนวคิดดังกล่าวแพร่หลายออกไป ในช่วงนั้นรถยนต์ต่างก็ใช้ไฟฟ้า หลังจากนั้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1880s Thomas Parker จากอังกฤษได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการคันแรกโดยอาศัยพลังงานจากแบบเตอรีที่ชาร์จไฟได้

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง Karl Benz และ Gottlieb Daimler ก็ได้พัฒนารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เนื่องจากว่าน้ำมันในตอนนั้นก็ราคาถูกมาก ๆ แถมแบตเตอรีเองก็ยังไม่ได้พัฒนาก้าวหน้าอะไรมากมาย ดังนั้นพวกเขาจึงหันมาใช้น้ำมันแทน แล้วมันก็ดำเนินตามแนวทางดังกล่าวมาเป็นร้อยปี

ทว่าตอนนี้เราต้องคิดถึงสิ่งที่เป็นเทคโนโลยีในอีกร้อยปีข้างหน้า

ทุกวันนี้เรามีรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า พร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกมากมาย เพียงแค่เอาสายชาร์จมาต่อเข้ากับรถชาร์จไฟเข้าแบตเตอรีลิเธียมไอออนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแบตเตอรีทั่วไปราว 10 เท่า รอแบตเตอรีชาร์จเต็มก็เป็นอันจบกระบวนการ พร้อมกันกับที่นักวิจัยทั่วโลกต่างพากันหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี ทำให้แบตเตอรีมีอายุการใช้งานนานนับสิบปีทั้งยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้รถยนต์ปล่อยมลภาวะให้น้อยที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงนั้นเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าเรากำลังใช้เชื้อเพลิงอะไรอยู่ ไฟฟ้า ถ่านหิน หรืออะไรก็แล้วแต่ หากช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้วย่อมเป็นเรื่องที่ดี หากเราใช้กังหันลม ใช้แผงโซล่าเซลล์ร่วมด้วย ยิ่งจะทำให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้ฝนทิ้งช่วง ระดับน้ำในเขื่อนลดลง การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำก็ทำได้จำกัด เราเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะผ่านพ้นหรือจบลงเมื่อไหร่ แต่เราก็ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

Figure 1. V2G service diagram. Source : https://encyclopedia.pub/

ตามปกติแล้ว โรงไฟฟ้าที่มีก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้ได้เพียงพอตามความต้องการ แต่เมื่อถึงบางฤดูกาลหรือช่วงที่มีเหตุจำเป็นทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นในบางโอกาส จึงมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อมารองรับความต้องการที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นเหล่านี้เพื่อให้การใช้ไฟฟ้ายังดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ปัจจุบันโลกของเราร้อนขึ้น ผู้คนก็ปรับตัวใช้เครื่องปรับอากาศกันมากขึ้นและนานขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน

เนื่องจากเราไม่สามารถกักเก็บกระแสไฟที่ผลิตไว้ได้ หากผลิตเกินก็สูญเปล่า ไม่ได้มีแบตเตอรียักษ์จำนวนมากที่จะมาเก็บกระแสไฟได้ จำเป็นต้องหยุดการเดินเครื่องในบางส่วน
ในขณะที่ปัจจุบัน ความนิยมในการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เวลาจอดอยู่ที่บ้านเสียบกับ Wall charger ทิ้งไว้ บวกกับมีแผงโซล่าเซลล์ที่จ่ายกระแสร่วมเข้ามา หากชาร์จเต็มแล้วน่าจะสามารถขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตคืนให้กับการไฟฟ้าได้หรืออาจจะเป็นการดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรีของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันในปริมาณที่เท่า ๆ กัน เพื่อโยกไปจ่ายไฟให้กับแหล่งที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินแล้วก็จะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมกลับคืนสู่เรา ซึ่งเรียกระบบดังกล่าวว่า V2G Vehicle to Grid

อ่านต่อ ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

แนะนำหนังสือ
Grid-to-Vehicle (G2V) and Vehicle-to-Grid (V2G) Technologies
https://amzn.to/43r8gQF

Herothailand.com รับสั่งหนังสือต่างประเทศ สินค้าต่างประเทศ
พร้อมรับประกันการจัดส่งถึงบ้าน
ไม่ได้รับสินค้า ยินดีคืนเงินเต็ม 100%
Tel : 08-5464-1644