การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเริ่มต้นจากการก่อสร้าง อุตสาหกรรมก่อสร้างปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าการขนส่งถึงสองเท่า นั่นก็เป็นเพราะว่ามีการใช้น้ำมันและก๊าซจำนวนมากเพื่อทำความร้อน ทำความเย็นภายในอาคาร ใช้ไฟฟ้าในระบบส่องสว่าง ปัจจุบันมีสัดส่วนไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยที่มาจากพลังงานทดแทนแต่หลักใหญ่ใจความก็ยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นนอกจากจะแยกอะตอมแล้วยังแยกความคิดเห็นของผู้คนอีกด้วย
ฝั่งผู้สนับสนุนได้โน้มน้าวถึงความสามารถในการผลิตพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนจำนวนมาก ส่วนฝ่ายที่คัดค้านก็กังวลเรื่องการรั่วไหลของกัมตภาพรังสีและกากกัมมันตภาพรังสี รวมถึงงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากนั้นแล้วยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องที่ว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ? เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว ในอนาคตอันใกล้เราคงไม่สามารถพึ่งพาถ่านหินหรือว่าอาศัยการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไปได้ตลอด ความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอุตสาหกรรมไฮเทคที่จำเป็นต้องพึ่งพาความมีเสถียรภาพของไฟฟ้าเพื่อเป็นสิ่งการันตีดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หากจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะว่าไปแล้วสร้างได้ง่ายกว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในมิติต่าง ๆ เสียอีก ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคิดและทำอย่างโปร่งใสและคงจะไม่ได้คำตอบในเร็ววันอย่างแน่นอน

อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ เกือบ 50% ใช้ถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนอย่างมากโดยปราศจากข้อโต้แย้ง มีแนวคิดเรื่องการจัดสวนบนดาดฟ้าตึก เปลี่ยนดาดฟ้าตึกให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว หรือแม้แต่การทาสีขาวเพื่อสะท้อนแสงแดดช่วยลดความร้อนที่ตกกระทบอาคาร
การที่เราทำให้หลังคาตึกมีอุณหภูมิลดลง 1 องศาเซลเซียส ในที่นี้หากหมายถึงตึกทั่วไปโดยเฉลี่ยในเมืองใช้หลักการนี้ จะช่วยประหยัดภาระค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศได้มากถึง 150 ล้านเหรียญฯ ต่อปีเลยทีเดียว ที่ผ่านมาเราต้องเผาถ่านหินจำนวนมากเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้ามาป้อนให้กับเครื่องปรับอากาศเพื่อไล่ความร้อนที่ไม่ได้อยู่ในตัวอาคารออกไป ดังนั้นหากทำพื้นที่สีเขียวด้านบนอาคารรวมถึงใช้สีที่สะท้อนแสงเพื่อลดการสะสมความร้อนแล้ว ก็เหมือนเป็นการช่วยทำให้โลกเย็นลงด้วยเช่นกัน เราจะสามารถดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 24 พันล้านตันออกจากอากาศซึ่งเป็นปริมาณที่เท่ากับการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในอีก 7 ปีข้างหน้าได้เลยทีเดียว
ภายในปี 2030 อาคารส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอาคารใหม่หรือว่าอาคารที่มีการปรับปรุงรีโนเวท หากมีการออกกฏหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำให้ทั้งอาคารใหม่และอาคารเก่ากลายเป็นอาคารประหยัดพลังงานแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหินอีกต่อไปภายในปี 2030 ในส่วนของการสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน สิ่งที่ต้องพิจารณาไม่ใช่ต้นทุนในการทำ แต่เป็นต้นทุนหากเราไม่ทำอาคารอนุรักษ์พลังงานต่างหาก
Lester R. Brown ผู้เขียนหนังสือ Plan B 3.0 และ Plan B 4.0 ที่ได้รับการแปลไปแล้วกว่า 40 ภาษาทั่วโลก บอกว่า
“หากเราหันไปใช้เทคโนโลยีส่องสว่างที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่มีในตลาดอยู่ในตอนนี้ จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกลงได้ถึง 12% นั่นจะทำให้เราสามารถปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินได้เกือบ 705 โรงจากทั้งหมดที่มีในตอนนี้ราว ๆ 2,400 โรง“
……………………….
นอกจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างแล้ว ความผิดพลาดอันใหญ่หลวงในโลกของอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซร้อนพวยพุ่งออกมาเสียเปล่า แทนที่จะกักเก็บมันไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างโรงถลุงเหล็ก เราจะเห็นเปลวไฟขนาดใหญ่พวยพุ่ง โรงงานหนึ่งทางตอนเหนือของรัฐอินเดียน่านำความร้อนดังกล่าวไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 95 เมกะวัตต์ นี่แค่โรงงานเดียว แต่ยังมีโรงถลุงเหล็กอีกหลายโรงในพื้นที่แถบนี้ กระแสไฟฟ้าเหล่านี้ผลิตจากความร้อนที่ถูกปล่อยทิ้งออกมาเสียเปล่าซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของต้นทุนค่าไฟฟ้าที่โรงถลุงเหล็กต้องจ่ายเป็นประจำ ถ้าหากเรานำเอาพลังงานที่เสียเปล่าเหล่านี้ทั้งหมดวนกลับมาใช้ จะส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่ำ ๆ เลยคือ 12% ถือว่าเป็นโอกาสดีที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และยังได้เงินเพิ่มมากไปกว่านี้อีก
เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดอย่างตู้เย็น เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาเราจะได้เห็นฉลากประหยัดพลังงานติดอยู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ตู้เย็นในปัจจุบันใช้พลังงานเพียงแค่ 1 ใน 4 ของตู้เย็นที่ผลิตในปี 1975 และก็มีธุรกิจรับซื้อตู้เย็นเก่าเพื่อมารีไซเคิล วัสดุที่ใช้ทำตู้เย็นกว่า 95% สามารถนำมารีไซเคิลได้ พูดได้เลยว่าตู้เย็นเป็นอะไรที่เลวร้ายกับสิ่งแวดล้อมเอามาก ๆ สารอย่าง CFC12 (Dichlorodifluoromethane หรือ Freon-12) ที่ใช้ในการทำความเย็นหรือที่เรารู้จักกันในชื่อน้ำยาฟรีออนนั้นดูดซับความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 10,720 เท่า ทำลายชั้นโอโซนได้ดีนักแล ในตู้เย็นขนาดกลางๆ หนึ่งเครื่องนั้น จะเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 2.5 ตันต่ออายุการใช้งาน และหากเทียบเป็นสัดส่วนต่อปี ตู้เย็นที่นำมารีไซเคิลที่นี่จะเทียบได้กับการนำรถยนต์สองคันออกจากถนนในทุก ๆ ปี นั่นเท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 10 ตัน ตู้เย็นรุ่นใหม่จึงเปลี่ยนมาใช้ isobutane (R-600a) หรือ HFC-134a และที่นิยมมากที่สุด R-410A ในตู้เย็นและระบบทำความเย็น ซึ่งจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายชั้นโอโซน
………………
ในรัฐต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบเทือกเขาร็อกกี้ ฤดูหนาวที่อากาศอบอุ่นขึ้นกำลังส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา จากการที่ต้นสนนับหลายร้อยล้านต้นต่างยืนต้นตายจากฝีมือของด้วงสน (tiny pine beetle) ที่เมืองเฮเลนา รัฐมอนทาน่า ป่าสนที่ถูกทำลายมีอยู่รายล้อมเมืองและโชคไม่ดีที่ต้นทุนในการจัดการกับป่าไม้เสื่อมโทรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการโค่น การลากไม้ออกจากป่าเอาไปส่งโรงเลื่อยแปรรูปไม้นั้น มีต้นทุนสูงกว่าการขายไม้แปรรูปที่ถูกแมลงดังกล่าวกัดทำลายเนื้อไม้เป็นรูเสียอีก เพราะขายได้มูลค่าต่ำ
เนื่องจากช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิสูงขึ้นและสั้นลง ทำให้ด้วงเหล่านี้มีเวลามากขึ้นในการที่กัดทำลายเนื้อไม้
เฉกเช่นเดียวกันกับทางตะวันตกของสหรัฐฯ ที่ป่าสนกว่า 60 ล้านไร่ต่างก็ยืนต้นตาย เนื่องจากต้นไม้ช่วยทำให้อากาศมีความชื้น ทำให้อากาศเย็นลง นั่นก็หมายความว่าพื้นที่แถบนี้กำลังสูญเสียป่าไม้ไปและจะร้อนขึ้นทุกขณะ แล้วก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังแหล่งกักเก็บน้ำ ส่งผลต่อการเกษตรและการท่องเที่ยว
……………………..
เรากำลังต่อสู้กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากฝีมือมนุษย์ และอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือการเผาป่าฝน ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก สร้างพื้นที่ให้วัวเล็มหญ้ารวมถึงการขยายตัวของเมือง แม้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์จะมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินเดียนาหรือว่าจะมาจากการเผาป่าในอินโดนีเซียล้วนช่วยสะสมความร้อนให้โลกเราไม่ต่างกัน ในแต่ละปี เรามีการตัดไม้ทำลายป่าไปเป็นพื้นที่พอ ๆ กันกับครึ่งหนึ่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นการปกป้องป่าฝนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
ต่อให้วันนี้ ตอนนี้ เราหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด โลกก็ยังจะคงร้อนขึ้นต่อไปนั่นก็เพราะว่าก่อนหน้านี้เราได้ปล่อยคาร์บอนไปมากมายมหาศาลแล้ว
ถ้าหากเราแบ่งบรรยากาศของโลกออกเป็น 1 ล้านส่วนเท่า ๆ กัน จะทำให้เห็นได้ทันทีว่ามีเพียงไม่กี่ส่วนบนโลกที่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่ส่วนเล็ก ๆ เหล่านี้และตรวจวัดในหน่วย ppm (part per million) ระดับปริมาณที่ปลอดภัยของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอยู่ที่ราว ๆ 350 ppm แต่ในตอนนี้ของเราอยู่ที่ 387 ppm ซึ่งหมายความว่าเราต้องพยายามช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจังในช่วงศตวรรษนี้ เราต้องพยายามช่วยกัน เพราะหากไม่แล้วมันอาจจะไปเลยจุดที่ไม่อาจหวนกลับมาแก้ไขอะไรได้อีก เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราไปแล้ว
เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ กำลังเติบโตอย่างเช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ยิ่งเป็นการเพิ่มการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วซึ่งจะทำให้ปริมาณคาร์บอนพุ่งไปแตะ 550 ppm ได้อย่างไม่ยากเย็นภายในปี 2050 แต่ว่าต่อให้เราขยับระดับปลอดภัยของปริมาณคาร์บอนขึ้นไปเป็น 450 ppm หรืออย่างเลวร้ายเลย 550 ppm ประเด็นก็คือชั้นดินเยือกแข็งหรือที่เรียกว่า เพอร์มาฟรอสต์ซึ่งเป็นชั้นดินที่ถูกแช่แข็งต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เมื่อปริมาณน้ำแข็งที่ฉาบทาอยู่ด้านบนลดลงไปทุกทีและชั้นดินที่อยู่ด้านล่างเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น ผลที่ตามมาก็คือจะเกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงก๊าซมีเทนจำนวนมากเติมเข้ามาในบรรยากาศ นอกจากนั้นแล้วน้ำแข็งผิวหน้าที่เคยถับถมไว้เมื่อละลายไปก็ไปเติมให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6 เมตร จะส่งผลให้ผู้คนนับพันล้านคนปราศจากแหล่งน้ำจืด ซึ่งถ้าหากเราไม่ลงมือทำอะไรเลยในตอนนี้ เท่ากับว่ากำลังวัดดวงว่ามันจะเกิดไหม ?
…………………..

แต่ก็ยังไม่สิ้นหนทางไปเสียทีเดียว หากเราเชื่อในวิวัฒนาการของโลกเราที่ผ่านมา 5 พันล้านปีว่าสามารถปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลของธรรมชาติได้ ผืนดินสามารถฟื้นคืนกลับเข้าสู่สมดุลที่เหมาะสมของมันเอง ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงมากักเก็บไว้ สร้างพันธะกับคาร์บอนนำไปใช้ประโยชน์กับพืชพรรณในป่า ฟาร์มหรือว่าทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
ประการแรกเลยคือเราต้องหยุดเผาป่า อย่างที่ป่าแอมะซอน สาเหตุหลักของการแผ้วถางทำลายป่าเพื่อปรับพื้นที่ให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองนำมาเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งถ้าหากคนที่ชอบรับประทานเนื้อ ลองหยุดทานเนื้อสัปดาห์ละวัน เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมได้เช่นกัน
ประการที่สองคือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมื่อผู้คนที่อาศัยอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากป่าฝนสามารถสร้างรายได้จากการปกป้องผืนป่า ป่าฝนก็จะยังคงอยู่ได้ไปอีกนาน
นอกจากป่าฝนแล้ว การทำฟาร์มปศุสัตว์ก็สามารถช่วยตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศลงมาเก็บไว้ในดินได้ด้วยเช่นกัน
ตามปกติแล้วการทำฟาร์มแบบดั้งเดิมจะเหมือนกับระบบโรงงาน ให้ดินเป็นโรงงาน ส่วนเกษตรกรก็จัดวัตถุดิบต่างๆ มาป้อนเข้าโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง ใส่พวกนี้ลงไปในดิน แล้วในที่สุดก็จะได้ผลผลิตออกมา ปัญหาก็คือ ระบบนี้อิงอยู่กับรูปแบบของอุตสาหกรรม เราทุกคนต่างทราบกันดีว่าทุกอุตสาหกรรมต่างก็มีวันเสื่อมสภาพ ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ดินเสื่อม วันนั้นก็จะมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามกับการทำฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ที่อาศัยการปรับปรุงดิน คำนึงถึงสุขภาพของดินในขณะที่เรากำลังเพาะปลูกไปพร้อมๆ กัน เมื่อสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตอย่างพวกฟังไจก็จะเติบโตได้ดี โดยฟังไจเหล่านี้จะไปเกาะบริเวณรากพืชมีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพากันต่างได้ประโยชน์ด้วยกันกับต้นพืชแบบที่เรียกว่าไมคอร์ไรซา (mycorrhiza)
พวกกลุ่มฟังไจไมคอร์ไรซาเหล่านี้ถือว่าเป็นกลไกหลักที่ช่วยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์มาสะสมไว้ในดิน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ไม่กี่ฤดูกาลเพาะปลูกเท่านั้นแต่หมายถึงเป็นหลายพันปี ซึ่งฟังไจเหล่านี้เติบโตได้ดีในระบบอินทรีย์ซึ่งไม่ใช่ในระบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิม เนื่องจากสารเคมีจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตหรือไม่ก็ฆ่าฟังไจเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากเรามีช่วงเวลาพักฟื้นดินมีการปลูกพืชคลุมดินเพื่อให้ฟังไจเหล่านี้ได้เติบโตเต็มที่จะสามารถตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 180 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วการปลูกพืชคลุมดินยังช่วยรักษาหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ให้ถูกลมหรือว่าฝนชะล้างไปเนื่องจากมีรากพืชคอยยึดประคองดินไว้
อีกประการหนึ่งก็คือดินที่อุดมไปด้วยคาร์บอนจะช่วยกักเก็บน้ำได้ดีโดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าการฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติ ตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศในขณะเดียวกันก็ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นไปพร้อมๆ กัน
การปล่อยให้วัวเดินเล็มหญ้าอย่างอิสระ ช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของดินพร้อมทั้งยังช่วยตรึงคาร์บอนได้ด้วยเช่นกัน เพราะดินที่อุดมสมบูรณ์มักจะทำให้หญ้าหยั่งรากได้ลึก
หญ้าเหล่านี้จะมีการปรับตัว จากการถูกวัวเหยียบย่ำ เคี้ยวแล้วก็จากไป เมื่อวัวกัดเล็มหญ้าส่วนปลาย ๆ จะมีรากที่ตายไป แต่เศษที่เหลือจากการเคี้ยวหรือหลุดออกมานั้นก็จะกลายเป็นอาหารให้กับพวกไมคอร์ไรซารวมทั้งแบคทีเรียต่าง ๆ ซึ่งก็จะทำให้มีการปรับปรุงดินไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการปล่อยวัวเดินกินหญ้าได้อย่างอิสระก็จะช่วยให้เป็นการปรับปรุงดินและตรึงคาร์บอนลงดินไปในตัว
แต่ว่าทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนี้ ที่ดินผืนเดียวมีการใช้ประโยชน์จากทั้งคน สัตว์และจักรกลการเกษตร ส่งผลให้ดินถูกอัดแน่นทำให้รากพืชไม่สามารถหยั่งลงไปได้ลึก และรากพืชเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงคุณภาพดินและการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นหากเกษตรกรเข้าใจถึงความสำคัญดังกล่าว พวกเขาก็จะมีการไถพรวนดินเพื่อให้รากพืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีและจะดีที่สุดหากรากสามารถหยั่งรากได้ยาว 3-8 ฟุต ซึ่งก็จะช่วยตรึงคาร์บอนลงไปในดินได้ลึกมากขึ้น
หากเราสามารถจัดการทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ป่าฝนและการทำเกษตรได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้วก็จะช่วยให้เรามีศักยภาพในการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศลงมาได้มากถึง 39% จากปริมาณคาร์บอนทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโดยฝีมือมนุษย์
……………….
เมื่อเราก็พอมีความรู้ความเข้าใจกันได้ในระดับนี้แล้ว เหตุใดถึงยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมหรือวิถีปฏิบัติยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
นั่นก็เพราะว่าพลังงานสะอาดยังไม่ได้อยู่ในจุดที่สร้างผลประโยชน์ได้สักเท่าไหร่ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณนับหลายแสนล้านเหรียญฯ เพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้ ในขณะนี้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับไม่ได้มีต้นทุนอะไร
เราได้หาทางที่จะเอื้อประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือการคิดราคาการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสามารถทำได้โดยการแทรกแซงของรัฐบาล ย้ำถึงประเด็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหิน ก๊าซหรือว่าน้ำมัน เพื่อให้การปล่อยมลภาวะไม่อาจทำได้ฟรีอีกต่อไปหรือกลับกันอาจจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยซ้ำ เหมือนที่เรากำลังพูดถึงภาษีคาร์บอน ซึ่งจริงๆ แล้วมีเพียงไม่กี่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่นำคาร์บอนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของเรา อย่างบริษัทน้ำมัน บริษัทก๊าซธรรมชาติ บริษัทถ่านหิน อาจจะมีสูตรการคิดภาษีต่อตันคาร์บอนหรือต่อหน่วยพลังงานที่พวกเขาจัดหาเข้ามาในตลาด ดังนั้นเมื่อต้นทุนคาร์บอนสูงขึ้น เทคโนโลยีแบบเก่าที่ไม่พัฒนาเรื่องการจัดการคาร์บอนก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีสีเขียวเข้าไปแทนที่