Description
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=xKU1LMl3CZM[/youtube]
ทุกวันนี้ ebook มาถึงจุดที่มันควรจะเป็นได้อย่างดีที่สุดแล้วและทางฟากของสำนักพิมพ์เองก็พอใจกับรูปแบบหนังสือใต้แผ่นกระจกเช่นนี้ แต่โชคร้ายอยู่หน่อยตรงที่ยอดขาย ebook ค่อนข้างคงที่และออกจะดูมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ จึงทำให้การตัดสินใจที่จะลงทุนทางด้านนวัตกรรมดิจิตอลกับหนังสือชะงักไป
จะเป็นอย่างไรถ้าหากผู้อ่านสามารถช่วยผลักดันนวัตกรรมดังกล่าวในอนาคต ? เราลองมาคิดกันเล่น ๆ ดู
สำหรับ ebook ในปัจจุบันมีฟังก์ชั่นให้สามารถเน้นสีข้อความและจดโน๊ตย่อได้แล้วนั้น ผู้อ่านโดยทั่วไปก็จะยึดติดกับการใช้งานพื้นฐานอย่างเช่น การเน้นข้อความและจดบันทึกและสามารถเห็นได้เฉพาะตนเอง แต่จะเป็นอย่างไรหากในวันหนึ่งผู้อ่านจะไม่เพียงแค่สามารถแบ่งปันเนื้อหาที่ได้เน้นสีข้อความไว้กับคนอื่น ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มเนื้อหาและคุณค่าให้กับ ebook ต้นฉบับอีกด้วย
หากย้อนกลับไปสมัยเรียน ลองนึกถึงการอ่านหนังสือของนักเรียน ที่จดบันทึกเก่งๆ เราอาจจะเคยลอกการบ้านเพื่อน ยิ่งเป็นเพื่อนที่เรียนเก่ง ๆ ลายมือสวย ๆ ทำให้การลอกการบ้านทำได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง หรืออาจจะเคยไปขอยืมหนังสือจากรุ่นพี่หรือซื้อหนังสือเรียนมือสองที่เจ้าของคนก่อนเน้นข้อความ เขียนโน๊ตย่อไว้ในหนังสือ ช่วยให้เห็นเนื้อหาตรงไหนที่สำคัญ (บางทีก็มีมุข วาดการ์ตูน รวมทั้งเฉลย ) ทำให้หนังสือเรียนที่ดูน่าเบื่อซึมซาบเข้าหัวได้เป็นอย่างดี
ลองนึกดูอีกอย่างว่า ในกรณีเดียวกันนี้แต่เป็นหนังสือ e-textbook นักเรียนสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นบันทึกย่อของตัวเองเข้าไปได้ตามที่ใจต้องการ ถึงแม้เนื้อหาจะมาจากสำนักพิมพ์ตามเดิมแต่นักเรียนหรือผู้อ่านสมารถเพิ่มในสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าสมควรเข้าไปได้ ยิ่งทำให้หนังสือเต็มไปด้วยความน่าสนใจ
สมมติว่า ส้ม กำลังเรียนเคมีอยู่ แล้วก็บังเอิญมาเห็นตารางธาตุในเว็บไซต์หนึ่งที่ให้ส้มสามารถคลิ๊กลงไปตรงธาตุตัวไหนก็ได้เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดที่เจาะจงมากขึ้น ส้มชอบมากก็เลยทำบุ๊คมาร์คหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ในเบราเซอร์ วันต่อมาส้มก็แค่ลากที่อยู่ของเว็บไซต์นั้นเข้ามาใน e-textbook หรืออาจจะเขียนบันทึกย่อแล้วทำให้แสดงเป็นหน้าต่างเด้งออกมาเมื่อคลิ๊กตรงเนื้อหาที่กำหนดไว้กันลืมอะไรแบบนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้หนังสือ e-textbook ที่ดูอ่านยาก เข้าใจยาก น่าเบื่อ เล่มหนึ่ง กลายมาเป็นหนังสือที่น่าสนใจขึ้นมาทันที
ยิ่งไปกว่านั้น ตอนแรกส้มอาจจะเจอแค่เว็บไซต์ที่อธิบายให้เธอเข้าใจได้ดี แต่ถ้ามีวิดิโอประกอบด้วยล่ะ เกิดส้มไปเจอวิดิโอสอนหรือให้คำอธิบายภาพโครงสร้างโมเลกุลที่ดูแล้วเข้าใจง่าย เห็นภาพสามมิติ เห็นการจับกันของพันธะอะตอมต่างๆ อันนี้ยิ่งทำให้ต้องเพิ่มเข้าไปใน e-textbook ของส้มเลยทันที จริงไหมล่ะ ?
เมื่อมาถึงปลายภาคเรียน ส้มก็จะมี e-textbook เคมีในเวอร์ชั่นของเธอเอง ซึ่งแน่นอนว่าที่เธอใช้เรียนตลอดมานั้น มันเป็นประโยชน์กับเธออยู่แล้ว แต่ถ้าหากโน๊ตย่อ ลิงค์ไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือวิดิโอประกอบการเรียนที่ส้มดึงมันเข้ามาใน e-textbook วิชาเคมีของเธอ สามารถส่งต่อหรือเผยแพร่ไปให้กับเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ หรือรุ่นน้องที่จะต้องเรียนในเทอมต่อไปล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ? หากคิดในแง่ธุรกิจ ส้มอาจจะขายหนังสือเล่มดังกล่าวในราคาแพงกว่าที่ซื้อมา 200 บาท ก็ย่อมได้ เพราะได้เพิ่มเติมเนื้อหาในแบบฉบับที่ส้มเองทำความเข้าใจได้ง่าย ….
จริงอยู่ว่า อย่างไรก็ต้องมีเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน แต่สิ่งที่ส้มทำ ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการทำลิงค์หรือเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ภายนอกจากหนังสือของส้มเองนี่ มันก็เหมือนกับเวลาที่เราอ่านหนังสือแล้วเนื้อหาในหนังสือบอกให้เราอ้างอิงหรือไปอ่านต่อได้ที่เว็บไซต์ www.herothailand.com อะไรแบบนี้
อีกไม่นาน แนวโน้มที่ผู้อ่านจะเป็นคนเรียบเรียงข้อมูลและกลายเป็นคนขายหนังสือมือสองในแบบฉบับของตนคงจะมาถึง แต่ก็อีกนั่นแหละก็คงจะมีผลกระทบกับสำนักพิมพ์และนักเขียนเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ก็ต้องคอยดู คอยลุ้นกันต่อไปครับ