29.6 C
Bangkok
You can buy items in Thailand that seller doesn’t offer international shipping. We buy it on your behalf and forward it to you.
รับสั่งสินค้าจากไทย ส่งไปประเทศที่สามตามความต้องการของลูกค้า

Rare earth ส่งผลกับเราอย่างไร ?

Listen to this article
- Advertisement -
Herothailand.com รับสั่งหนังสือต่างประเทศ สินค้าต่างประเทศ
พร้อมรับประกันการจัดส่งถึงบ้าน
ไม่ได้รับสินค้า ยินดีคืนเงินเต็ม 100%
Tel : 08-5464-1644
..........................................

Rare earth แรร์เอิร์ธคืออะไร

Rear earth คือคำที่ใช้เรียกรวม ๆ ของกลุ่มธาตุโลหะในตารางธาตุ จำนวน 15 ธาตุ ตั้งแต่ธาตุแลนทานัมไปจนถึงธาตุลูทีเตียม (atomic numbers 57–71) และบวกอีกสองธาตุเข้าไปคือแสกนเดียม (scandium) กับอิตเทรียม (yttrium) รวมเป็น 17 ธาตุ แต่เราจะไม่ลงลึกรายละเอียดโครงสร้างทางเคมีกันนะครับ

source : Matter – The Lanthanides

Rear earth เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงเวลานี้ก็เนื่องมาจากมันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม การที่เราก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ AI การจะเข้าถึงโลกออนไลน์ โลกดิจิตัลก็ต้องอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ แกดเจ็ทสมัยใหม่เกือบทุกอย่างของเราล้วนมีองค์ประกอบของ Rear earth  รวมไปจนถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าอย่างกังหันลม หรือแม้แต่ในรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องใช้ Rear earth ด้วยเช่นกัน

…….

Rare Earth Mining: The Key to our Technological Future | FD Engineering

Rare earth มาจากไหน ?

ที่เหมืองในพื้นที่แถบหมู่บ้าน Ytterby ของสวีเดนในปี 1787 นักธรณีวิทยาสมัครเล่นสังเกตุเห็นก้อนหินลักษณะแปลกๆ ซึ่งทราบต่อมาภายหลังคือแร่แกโดลิไนท์ (Gadolinite) ถือว่าเป็นแร่ Rare earth ชนิดแรกที่มีการค้นพบ ซึ่งเจ้าตัวแกโดลิไนท์นี้ยังมีมีแร่ Rare earth ชนิดอื่นปะปนอยู่ด้วยซึ่งก็คืออิตเทรียม (yttrium)

Gadolinite (black portion at top)
source : Wikipedia
Refined rare-earth oxides are heavy, gritty powders usually brown or black, but can be lighter colors as shown here.
Source : Wikipedia

ในบางพื้นที่ที่มีการทำเหมืองมักจะมีการพบ Rare earth ปะปนมาด้วยแต่ถูกมองว่าไม่ได้มีค่ามีราคาอะไรจนกระทั่งราคาของมันเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก

จีนค้นพบ Rare earth ในปี 1927  ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 50 จนถึงทศวรรษที่ 60 จีนได้เริ่มขุดสำรวจหาแหล่ง Rare earth และพัฒนากระบวนการทำเหมือง พอถึงช่วงทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา จีนก็เริ่มทำเป็นระบบอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบันเราต้องพึ่งพาจีนในเรื่องของ rare earth อย่างมาก

ถึงแม้ว่าการทำเหมือง Rare earth รวมถึงการถลุงแร่ในจีนนั้นค่อนข้างล้าสมัยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่แร่เหล่านั้นต่างก็ถูกซื้อไปโดยบริษัทไฮเทคจากทั่วโลก ไม่ว่าจะนำไปผลิตสมาร์ทโฟน รถยนต์ไฟฟ้าหรือว่ากังหันลม

……………….

การสำรวจหาแหล่งแร่ Rare earth ความยากด่านแรกก็คือการหาแหล่งแร่ให้เจอ พวกแร่โลหะอย่าง เหล็ก โครเมียม สังกะสี ตะกั่ว ทองแดง เหล่านี้ต่างก็มีแหล่งของมันในพื้นที่ที่มีความจำเพาะเจาะจง ตรงนั้นแหล่งสังกะสี ตรงนู้นมีตะกั่ว ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นรูปแบบตายตัวทำให้เราขุดแร่ขึ้นมาได้ง่าย แต่กับ  Rare earth ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แต่พอมาเป็น Rare earth แล้วมันไม่มีอะไรสะดุดตา รูปร่างหน้าตามันก็เหมือนกับซีเมนต์ สีเทา ๆ ไม่มีอะไรแวววาวเลย เราจะทราบถึงการมีอยู่ของมันได้ก็ด้วยการวิเคราะห์ทางธรณีเคมี ซึ่งเราก็ต้องทำการเก็บตัวอย่างไปทดสอบ เมื่อผลการทดสอบปรากฏว่าพบ Rare Earth เราก็ยังไม่สามารถมองเห็นมันด้วยตาเปล่าได้อยู่ดี

ลองนึกถึงนีโอดิเมียม (Neodymium) ที่ทำให้แม่เหล็กมีแรงดึงดูดสูงขึ้น ส่วนอิตเทรียม (Yttrium), ยูโรเพียม (europium), แล้วก็เทอร์เบียม (terbium) นั้นทำให้ภาพที่แสดงบนหน้าจอมีสีสันสดใส ทางด้านแลนทานัม (Lanthanum) นั้นก็เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้าให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  หากแต่ในระยะยาวแล้วนักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับแร่ธาตุชื่อแปลก ๆ เหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ซีเรียม ที่มีการค้นพบในปี 1803 แต่ผ่านมาร้อยกว่าปีถึงจะมีคนหาทางนำมันไปใช้ประโยชน์ได้

ธรรมชาติของ Rare earth จะไม่ได้เกิดขึ้นอยู่เดี่ยว ๆ แบบทองคำหรือทองแดงที่ดูสะดุดตาสังเกตเห็นได้ง่าย แต่มักจะเกาะตัวอยู่รวมกันมองเห็นด้วยตาเปล่ายากมาก ดังนั้นโครงสร้างทางเคมีของแร่เหล่านี้จึงค่อนข้างจะคล้ายกัน ดังนั้นการจะแยก Rare earth แต่ละชนิดออกมาจากกันจำเป็นต้องใช้กระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงต้องใช้สารเคมีหลากหลายประเภทถึงจะได้ธาตุที่บริสุทธิ์ออกมาพร้อมใช้งานเป็นวัตถุดิบการผลิตต่อไป โดยส่วนใหญ่แล้ว Rare earth ก็มักจะจับอยู่กับแร่ที่มีกัมมันตรังสี การจะถลุงแร่ Rare earth แยกออกมานั้น บริษัทเหมืองแร่จะใช้กรดซัลฟิวริก กรดไนตริก และกรดไฮโดรคลอริกซึ่งจะทำให้เกิดน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในระดับสูงด้วยเช่นกัน

………

Mountain Pass mine, mill, shop & offices in 2010
source : Wikipedia

ที่สหรัฐฯ มีการทำเหมือง Rare earth ขนาดใหญ่ก่อนหน้าจีนเล็กน้อย แร่ที่ผลิตได้นั้นก็จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของไฟแช็ค ตะเกียงแก๊ส หลอดไฟ จอภาพโทรทัศน์สีและใช้ในกระบวนการกลั่นน้ำมัน แต่เมื่อถึงปี 1998 เกิดเหตุการณ์ที่น้ำเสียจากการทำเหมืองแร่ซึ่งปนเปื้อนสารเคมีและกัมมันตรังสีได้รั่วไหลออกจากอ่างเก็บน้ำเสียรอการระบายเอ๊ย ! รอการบำบัด ไหลไปรวมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้เหมืองดังกล่าวต้องถูกควบคุมตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดขึ้นกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนการทำเหมืองสูงขึ้นและไม่มีกำไร ดังนั้นในปี 2002  เหมืองแห่งนี้จึงได้ปิดตัวลง
…….

ภายหลังที่เหมืองปิดตัวลงไปไม่นาน การปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีก็ถือกำเนิดขึ้น มีสมาร์ทโฟน จอแบน แกดเจ็ทต่างๆ กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก มีรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งมีแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อุปกรณ์หรือว่าแกดเจ็ทต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ rare earth เป็นส่วนประกอบ

ปัจจุบันเรามีประชากรโลกอยู่ราว 7,000 ล้านคนและในอีก 40 ปีข้างหน้านี้จะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นอีกราว 2-3 พันล้านคน ประชากรทั้งหมดนี้ล้วนต้องการทรัพยากรที่ไม่ใช่แค่อาหารและน้ำดื่มแต่ยังรวมถึง Rare earth ที่เป็นองค์ประกอบในแกดเจ็ทหรือว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งก็หมายความว่าความต้องการใช้ rare earth จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานไปในอนาคต

…….

source : Wikipedia

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัทอเมริกันถอนตัวจากธุรกิจ Rare earth จีนก็ได้เข้ามาแทนที่ ยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่สามารถทำเหมือง ถลุงแร่ จนกระทั่งผ่านกระบวนการได้เป็นวัตถุดิบพร้อมใช้งานได้ในราคาถูก

จีนมีตึกระฟ้าผุดขึ้นมากมายราวดอกเห็ด ความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จีนเป็นประเทศที่ผู้ใช้มือถือมากที่สุดในโลก และเมื่อความต้องการใช้สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์ที่เป็นหน้าจอแบนทัชสกรีนเพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้การผลิต Rare earth ของจีนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยในขณะที่เหมืองในประเทศอื่นต่างพากันปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้กับจีน เท่ากับทั้งโลกต้องพึ่งพา Rare earth จากจีนเกือบจะทั้งหมด

ตลอดช่วงระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา จีนไม่ได้แค่ครองตลาดเหมืองแร่เท่านั้นแต่ยังครองตลาดในเรื่องกระบวนการถลุงแร่ กระบวนการผลิตจนกระทั่งได้มาเป็นวัตถุดิบพร้อมใช้ คือจีนครอบงำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลยก็ว่าได้ กว่า 97% ของ Rare earth ที่ผลิตได้ทั้งโลกนั้นมาจากจีน จีนรับจบ ครอบงำตลาด Rare Earth

ในปี 2011 รัฐบาลจีนได้ประกาศควบคุมและจำกัดการส่งออก Rare earth ส่งผลให้เหมืองในจีนต้องลดกำลังการผลิตลงด้วย ส่งแรงกระเพื่อมให้โลกรับรู้ได้ถึงความสำคัญของจีนในเรื่องนี้ พร้อมกันกับที่ราคา Rare earth ในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หลอดประหยัดไฟมีราคาแพงขึ้น 25%

ผลกระทบจากการที่จีนลดการส่งออก Rare earth  ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากตลาด Rare earth ในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกเขาต้องการทำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมใช้ในประเทศมากกว่าแค่การส่งออกแร่

เมื่อ Rare earth เกิดการขาดแคลนและมีราคาแพง ทั่วโลกมีความต้องการใช้ Rare earth เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 20 ปีมานี้และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้นักวิจัยจึงพากันมองหาแหล่ง Rare Earth แห่งใหม่ทั่วโลก

…………………….

ในมุมมองของสหรัฐฯ กลายเป็นว่าการพึ่งพา Rare earth จากจีนมากเกินไป ทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ สะดุดไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หากปราศจากมันแล้วเมืองก็จะอาจจะไม่สว่างไสวเหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะ Rare earth นั้นเป็นส่วนประกอบของหลอดประหยัดไฟ รัฐบาลของสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นได้ยื่นฟ้องจีนในเรื่องนี้ต่อองค์การการค้าโลกหรือ WTO ขณะเดียวกันก็วางแผนในการสำรวจหาแหล่งแร่ Rare earth แห่งใหม่ทั่วโลกเพื่อทดแทนด้วยเช่นกัน

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในการปกป้องแหล่งทรัพยากรของตัวเองทั้งยังเป็นการยืดอายุแหล่งแร่ให้อยู่ได้นานขึ้น เหมือนเช่นเดียวกันกับที่สหรัฐฯ มีแหล่งน้ำมันของตนเองที่ยังไม่ได้ขุดเจาะนำขึ้นมาใช้แต่เลือกที่จะซื้อน้ำมันจากตลาดโลกแทน จีนก็จะทำอย่างเดียวกัน โดยที่จะไม่ใช้ของที่ตนเองมีจนหมดหากยังสามารถหาจากตลาดโลกทดแทนได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งก็สมเหตุสมผลที่จะปกป้องแหล่งทรัพยากรของตนเอง

……………………

China builds first rare earth permanent magnetic levitation line

ผลกระทบของ Rare Earth ต่อเศรษฐกิจ

ทุกวันนี้แม่เหล็กสมัยใหม่จะใช้นีโอดิเมียม (Neodymium) และดิสโพรเซียม (Dysprosium) ซึ่งช่วยทำให้แม่เหล็กมีแรงดูดมากขึ้นพร้อมทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แม่เหล็กอย่าง Neodymium ion boron magnets ถูกใช้กับตัวเซ็นเซอร์ของสวิตซ์หน่วงเวลาของที่ปัดน้ำฝนแล้วก็ใช้ในระบบควบคุมองศาการหมุนพวงมาลัยรถซึ่งจะช่วยให้การขับขี่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่จากการที่  Rare earth มีราคาแพงขึ้นหรือขาดตลาดย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิต ทำให้ราคาของ neodymium oxide พุ่งสูงขึ้น โดยราคาเพิ่มขึ้นเกือบสามถึงสี่เท่าภายในระยะเวลา 2-3 เดือน  ทำให้โรงงานต้องหยุดการผลิตและไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ตามกำหนดทั้งยังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยทำให้บริษัทอยู่ในภาวะวิกฤติ บางสายการผลิตถึงขั้นต้องถูกยกเลิกไป

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทผลิตแม่เหล็กก็กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นเดียวกันที่ต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งไม่ว่าจะเป็นการที่ Rare earth มีราคาแพงขึ้นและความไม่แน่นอนของอุปทานที่ต้องขึ้นอยู่กับจีนเพียงผู้เดียว

…………..

Rare Earth Elements, Deep Sea Mining and Ultra Deep Mining | 60 Minutes Full Episodes

จะแก้ปัญหาเรื่องอุปทานของ Rare earth อย่างไรดี ?

การค้นหาแหล่ง Rare earth แห่งใหม่


นับตั้งแต่ปี 2006 German Federal Institute for geosciences and natural resources ได้สำรวจพบแหล่งแร่สองแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก ภาพจากกล้องที่ติดหุ่นยนต์แสดงภาพของพื้นทะเล แต่ถามว่ามันง่ายต่อการเก็บทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาไหม ?

นักสิ่งแวดล้อมต่างก็กังวลถึงการทำลายพื้นทะเล ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันมีรูปแบบของชีวิตที่ค่อนข้างซับซ้อนอาศัยอยู่บริเวณพื้นทะเลรวมทั้งกระบวนการทำเหมืองในทะเลลึกเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบให้สิ่งมีชีวิตบริเวณนั้นมีการเจริญเติบโตช้าลงอย่างมากทั้งยังมีการซ่อมแซมตัวเองช้าลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากเราไปรบกวนระบบนิเวศดังกล่าวมันก็มีความเสี่ยงเนื่องจากยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นหรือว่าอีกนานแค่ไหนกว่าที่ระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าวจะฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนเดิม

นักวิทยาศาสตร์ตั้งความหวังว่าจะพบ Rare Earth หลายล้านตันที่พื้นมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งแร่ในจีน จากการวิเคราะห์ในห้องทดลองพบว่า ก้อนโนจูลสีดำที่มีแมงกานีสอยู่มากนั้นยังมีปริมาณ Rare earth อยู่มากอีกด้วยซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในเทคโนโลยีสะอาด

คำถามสำคัญก็คือ แล้วมันเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่หากเราจะขุดพื้นทะเลเพื่อหาวัตถุดิบมาทำแผงโซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า หรือว่ากังหันลม พลังงานสะอาดของเราในอนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร หากเราต้องทำลายระบบนิเวศที่แสนล้ำค่าเพื่อสิ่งนี้ ( สามารถอ่านต่อเรื่องการทำเหมืองใต้ทะเลลึกได้ที่นี่ )

การออกแบบหรือปรับสัดส่วนปริมาณการใช้งาน Rare earth

ปัจจุบันเราต่างก็ทราบดีว่ารถสันดาปภายในหรือรถที่ใช้น้ำมันนั้นเริ่มล้าสมัยแล้วและถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า แต่เครื่องยนต์ของรถไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องใช้ Rare earth จำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเมื่อเครื่องยนต์ใช้งานไปนาน ๆ ก็จะเริ่มมีความร้อนสะสม ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้เครื่องยนต์หรือว่ามอเตอร์สามารถทำงานได้ในอุณหภูมิที่สูงกว่าปรกติจึงจำเป็นต้องอาศัยดิสโพรเซียม (Dysprosium) ที่ช่วยทำให้แม่เหล็กในรถยนต์ไฟฟ้าทนต่อความร้อนได้ดีขึ้นแต่ก็ต้องแลกมากับราคาที่สูงและการทำลายสิ่งแวดล้อมจากเหมือง

บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะหาทางเลือกอื่น….

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองหาองค์ประกอบของแม่เหล็กชนิดใหม่ พวกเขาทดลองแทนที่ดิสโพรเซียม (Dysprosium) ด้วยซีเรียม (Cerium) เนื่องจากพบได้ง่ายและมีปริมาณมากกว่า แต่ทว่าคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของซีเรียมนั้นค่อนข้างแย่แถมยังต้องใช้ในปริมาณเยอะอีกด้วย

ดังนั้นหากเราใช้ดิสโพรเซียม (Dysprosium) ในขณะที่มอเตอร์หมุน ตำแหน่งของดิสโพรเซียมที่ไปอยู่บริเวณใจกลางของแม่เหล็กจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ต้องหาวิธีการที่ทำให้ดิสโพรเซียมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและยังช่วยลดปริมาณการใช้ดิสโพรเซียมด้วย

การทดลองเพื่อหาแม่เหล็กที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำยังคงดำเนินต่อไปแม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินและเวลาอย่างมาก แต่ทุกคนก็หวังว่าในอนาคตเราจะค้นพบแม่เหล็กที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนในการผลิตต่ำเพื่อที่จะเป็นตัวผลักดันอุตสาหกรรมสะอาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อีกบริษัทที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้นั่นคือ Tesla  ตัว Tesla เองนั้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยที่ไม่ได้ใช้ Rare earth ในการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งฟังดูน่าแปลกใจไม่น้อย  แต่เคล็ดลับอยู่ที่การออกแบบมอเตอร์ให้ทำงานโดยไม่ต้องอาศัยแม่เหล็กไฟฟ้า บริษัทอื่นๆ  ก็หันมาทำแบบเดียวกันนี้ จากการที่ Rare earth มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ทางค่ายผู้ผลิตรถยนต์รวมถึงบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่างก็หันมาออกแบบมอเตอร์ไฟฟ้าของพวกเขาเสียใหม่เพื่อลดการใช้ Rare earth

How Wind Turbines Really Work: The Hidden Secrets

มากันที่เรื่องของกังหันลมที่ได้รับความนิยมเป็นแหล่งพลังงานสะอาดอีกทางเลือกหนึ่ง โดยในปี 2020 ที่ผ่านมาพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกที่ผลิตได้มาจากกังหันลมคิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ซึ่งเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 130 โรง แต่ปัญหาก็คือด้วยขนาดอันใหญ่โตของกังหันลมที่ติดตั้งอยู่นอกชายฝั่งนั้น จำเป็นต้องใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ที่มีส่วนประกอบของ Rare earth ปริมาณมากและอย่างที่ทราบแหล่งที่มาของ Rare earth นั้นก็คือการทำเหมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กังหันลมที่ผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ ต้องใช้นีโอดิเมียม ราว 800 กิโลกรัม และดิสโพรเซียม อีก 200 กิโลกรัม โดยรวม ๆ ก็คือใช้ Rare earth ราว 1 ตันต่อกังหันลมที่ผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ ช่างบังเอิญที่ตลาดเกิดใหม่ใหญ่ที่สุดของกังหันลมแบบนี้ก็คือจีน แถมกังหันลมแบบใหม่ต้องใช้ Rare earth รวมกันมากถึง 4 ตัน นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความต้องการ Rare earth เข้าไปอีกหลายเท่าตัว

Recycle เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ในฝั่งยุโรปต้องการแร่ธาตุเหล่านี้ แต่เนื่องจากพวกเขาไม่มีแหล่งทรัพยากรดังกล่าว จึงต้องหันมาพึ่งการ recycle และไม่ได้หมายความแค่ Rare earth แต่คือการรีไซเคิลทองแดง อลูมิเนียมหรือทุกอย่างเท่าที่จะทำได้

Rare earth ปริมาณน้อยๆ  ที่พบได้ตามแผงวงจรหรือว่าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน  แกดเจ็ทในปัจจุบันเป็นเหมือนกับแหล่งวัตถุดิบของวันพรุ่งนี้

เรากำลังพูดถึงเรื่องการรีไซเคิล Rare earth จาก่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังไม่มีใครทำมันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีเพียงแต่รีไซเคิลพวกทองแดงเป็นส่วนใหญ่ การรีไซเคิลนั้นเราจำเป็นต้องแยกส่วนประกอบที่แตกต่างกันก่อน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแยก Rare earth แต่อย่างไรก็ตาม การรีไซเคิลอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนอย่างสมาร์ทโฟนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าวัสดุพื้นฐานส่วนใหญ่ในสมาร์ทโฟนต่าง  ๆ ทำมาจากอะไรบ้าง เพราะชิ้นส่วนแต่ละอย่างก็มาจากผู้ผลิตจากหลากหลายแหล่ง หลายโรงงานส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ดังนั้นอันดับแรกสุดเราต้องหาให้ได้ก่อนว่าอะไรคือวัสดุพื้นฐาน ต้องมีการสร้างฐานข้อมูลของสินค้าอย่างเช่นสมาร์ทโฟน ว่าผลิตจากที่ไหน ทำมาจากอะไร  อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้การสกัดแร่ปริมาณน้อย ๆ จากกองขยะอิเล็กทรอนิกส์กองใหญ่นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยการตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนถึงจะพบส่วนที่เป็น Rare earth อันน้อยนิดในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น

หากผู้ผลิตตระหนักอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มองเห็นว่าพวกเขากำลังทิ้งวัตถุดิบที่มีมูลค่าไปโดยเปล่าประโยชน์ หากลองคิดนอกเหนือไปจากการขายแกดเจ็ทแต่เพียงเท่านั้น พวกเขาจะเข้าใจได้ทันทีว่าอุปกรณ์เก่า ๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับอุปกรณ์ใหม่ได้อย่างไร หากเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า recycle economy

( สามารถอ่านต่อเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่นี่ )

สรุปว่า Rear earth กำลังเป็น Rear item นั่นเอง

……………………………

แนะนำหนังสือต่างประเทศที่เกี่ยวกับ Rare earth

The Rare Earth Elements: An IntroductionAuthor: J.H.L. Voncken​ ISBN-13: 9783319268095

Rare Earth Frontiers: From Terrestrial Subsoils to Lunar Landscapes​ Author: Julie Michelle Klinger​ ISBN-13: 9781501714610​

The Science of Rare Earth Elements: Concepts and Applications​ Author: Frank R. Spellman​ ISBN-13: 9781032396682

Rare Earths: Science, Technology, Production and Use​ Authors: Jacques Lucas, Pierre Lucas, Thierry Le Mercier, Alain Rollat, William Davenport​ ISBN-13: 9780323354320

Rare Earth Elements: A New Approach to the Nexus of Supply, Demand and Use: Exemplified along the Use of Neodymium in Permanent Magnets​ Author: Volker Zepf​ ISBN-13: 9783642424640

Handbook on the Physics and Chemistry of Rare Earths, Volume 50​ Editors: Jean-Claude G. Bunzli, Vitalij K. Pecharsky​ ISBN-13: 9780444627354

Rare Earth Elements in Human and Environmental Health: At the Crossroads Between Toxicity and Safety​ Author: Giada Frenzilli​ ISBN-13: 9780367895148

Extractive Metallurgy of Rare Earths​ Author: Nagaiyar Krishnamurthy​ ISBN-13: 9781466576380

Rare Earth Elements: The Global Supply Chain​ Author: Marc Humphries​ ISBN-13: 9781503290761

Rare Earth Elements: Fundamentals and Applications​ Author: David A. Atwood

- Advertisement -
Herothailand.com รับสั่งหนังสือต่างประเทศ สินค้าต่างประเทศ
พร้อมรับประกันการจัดส่งถึงบ้าน
ไม่ได้รับสินค้า ยินดีคืนเงินเต็ม 100%
Tel : 08-5464-1644
..........................................
สนับสนุนการทำบทความ กดไลค์ กดแชร์ หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเราได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM
บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4

Similar Articles

Comments

รับสั่งหนังสือต่างประเทศ-สินค้าต่างประเทศ

Herothailand.com รับสั่งหนังสือต่างประเทศ สินค้าต่างประเทศ
พร้อมรับประกันการจัดส่งถึงบ้าน
ไม่ได้รับสินค้า ยินดีคืนเงินเต็ม 100%
Tel : 08-5464-1644

Advertisement

MEIYIJIA 40L พัดลมไอระเหยเคลื่อนที่ ปริมาณอากาศขนาดใหญ่ มี มอก.

Royal Kludge RK68

Royal Kludge RK68 RGB Hotswap USB HUB คีย์บอร์ดเกมมิ่งคีย์ไทย ไร้สายบลูทูธและมีสาย เปลี่ยนสวิตซ์ได้ เลเซอร์ไทย - English

Most Popular

Advertisement SHOPEE THAILAND

บ้านน้องแมว ทำจากไม้