ตอนนี้จีนเป็นอย่างไรบ้าง

Listen to this article

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ไต่อันดับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วที่สุด ซึ่งในตอนนี้ขนาดเศรษฐกิจของจีนก็เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ถึงตอนนี้ การเติบโตดังกล่าวได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการชะลอตัว การเติบโตที่ช้าลงนี้เองทำให้ต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตแซงหน้าสหรัฐฯ ได้หรือไม่ แล้วหากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปแบบนี้ตัวเลขภาพรวมของเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มจะตกมาตามหลังประเทศในเอเชียทั้งหมด

China: growing up under Mao Tse Tung 1965

……………………………..

ณ ตอนนี้ จีนยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกและตลาดในประเทศก็มีขนาดใหญ่มาก

ในปี 2010 ตัวเลข GDP ของจีนเติบโตถึง 10.6% แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาความเร็วในการขยายตัวก็ค่อย ๆ ลดลง ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า GDP ของจีนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องแม้แต่ช่วงหลังการระบาดของโควิดก็ตาม ซึ่งจะเติบโตต่ำกว่า 5%

ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อความเร็วในการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็คือนโยบาย zero covid ที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนในจีนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่เริ่มที่จะผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดดังกล่าวลงในปี 2022 แต่จีนกลับทำตรงกันข้าม มาตรการที่เข้มงวดในการปิดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสนั้นส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศลดลง ธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่งต้องปิดตัวลง โรงานหลายแห่งก็ต้องหยุดการผลิต ในที่สุดแล้วก่อให้เกิดความไม่พอใจกระจายออกไปเป็นวงกว้าง

ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2022 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่นักวิเคราะห์หลายรายก็ยังเชื่อว่าในท้ายที่สุดมาตรการโควิดเป็นศูนย์ในจีนนั้นจะไม่ได้ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่เราคิด
…….

ย้อนกลับไปราว 50 ปีที่แล้ว จีนค่อย ๆ สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ผ่านช่วงทศวรรษแห่งความสับสนอลหม่านทั้งทางด้านการเมืองและสังคม ที่เรียกว่ายุคปฏิวัติวัฒนธรรมภายใต้การนำของประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตุง ที่ตั้งเป้ากำจัดรูปแบบทุนนิยมใด ๆ ในประเทศ แต่หลังจากที่ประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรม ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของจีน ในทศวรรษที่ 80 ก็ตัดสินใจที่จะวางตำแหน่งประเทศจีนให้ก้าวเดินไปในทิศทางที่ต่างจากเดิมที่เป็นคอมมิวนิสต์กับช่วงเวลาของสังคมนิยม  จีนได้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลกพร้อมกันกับมีการพัฒนาเมือง โรงงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงสร้างผู้ประกอบการจำนวนมาก ชนชั้นกลางของจีนรุ่งเรืองขึ้น การค้าขายได้ปฏิรูปและปลุกให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจตื่นจากการหลับใหล เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาชั้นประถมต่อด้วยมัธยม ทำให้มีการย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำเข้าสู่ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น ย้ายจากชนบทเข้ามาสู่เมือง ซึ่งภาพรวมของสิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิรูปขั้นพื้นฐานของจีนและช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตขึ้น จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนได้ก้าวมาไกล เติบโตเกินกว่าที่พิมพ์เขียวทางเศรษฐกิจได้วางไว้เสียอีก
……..

GLOBALink | China’s WTO entry benefits global economy, consumers

เวลา 6 ปี หลังจากที่จีนเข้าร่วม WTO ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศหรือ GDP ของจีนเติบโตโดยเฉลี่ยถึง 12% ด้วยจุดแข็งของจีนคือค่าแรงที่ต่ำที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้รุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว จนถึงวันที่จีนก้าวมาเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก จนกระทั่งถึงปี 2008 ที่เกิดวิกฤติการเงินโลก ถึงแม้จีนไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ก็ได้รับผลกระทบโดยอ้อม เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ และตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของจีน คำสั่งซื้อสินค้าจากยุโรปและสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงิน ดังนั้นแล้วจีนจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการสร้างงานและรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลเสียตามมาที่ทำให้จีนกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้นั่นก็คือ ภาระหนี้ !!

The Unstoppable Growth of China’s High-Speed Rail Network

นับตั้งแต่ช่วงปี 2009 – 2010 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี 2020 ยาวมาจนถึงช่วงเกิดการระบาดของโควิด  จีนได้ก่อหนี้จากดอกเบี้ยที่พอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ เกินกว่าที่ใครจะเคยคาดการณ์ได้ รัฐบาลจีนได้ปกป้องเศรษฐกิจไว้อย่างแข็งขันและมันได้ผล การลงทุนในจีนนั้นเติบโตขึ้นช่วยรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ให้ใกล้เคียงกับ 10%  แต่การสร้างปัจจัยหนุนทางด้านเศรษฐกิจด้วยการลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานนั้นหมายความว่ารัฐบาลต้องสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในที่สุด จีนมีท่าเรือ มีถนน สนามบิน ต่าง ๆ อยู่เต็มไปหมดรวมถึงพระเอกอย่างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง

เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้นได้ทำให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของการใช้เม็ดเงินลงทุน จีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก เครือข่ายดังกล่าวขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบางและมีความต้องการต่ำ  ดังนั้นแล้วต้นทุนในการบำรุงรักษาและภาระจ่ายดอกเบี้ยจึงได้แซงหน้ารายได้จากที่เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงทำได้ พวกเขาสร้างโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นมากเกินความจำเป็น โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปจำนวนมหาศาลเหล่านี้กลับไม่ได้สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างคุ้มค่า
…….

Why You Should Be Worried About China’s Debt Crisis | Economics Explained

หนี้ต่อ GDP ของจีนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจาก 140% ในปี 2008 เป็น 286% ในปี 2021 ซึ่งในปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP)  ของจีนโตกว่าขนาดเศรษฐกิจถึงสามเท่า

หากเจาะลงไปในหนี้ หนี้ดังกล่าวตกเป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเพื่อตอบสนองในสิ่งที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งสั่งการ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่แล้วก็ต้องพึ่งภาคอสังหาที่มีหนี้ในระบบมากอยู่แล้ว ดังนั้นเวลาที่รัฐบาลท้องถิ่นจะทำตามแผนการของปักกิ่ง พวกเขาก็ต้องระดมทุนโดยเริ่มจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ขายที่ดินที่รัฐบาลท้องถิ่นถือครองให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทางด้านผู้พัฒนาอสังหาก็ต้องรีบฉกฉวยทำเลที่รัฐบาลท้องถิ่นประกาศขายก็เท่ากับเป็นการเร่งให้เกิดฟองสบู่อสังหาลูกโต

หากย้อนกลับไปยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองของอสังหาจีนซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก ดอกเบี้ยบ้านเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนบ้านที่สร้างนั้นเกินความต้องการไปมากแล้ว ทำให้เกิดคำที่เรีกว่าเมืองร้างหรือ Ghost town และสิ่งที่มาพร้อมกับห้องว่าง ๆ เหล่านั้นก็คือภูเขาหนี้ขนาดมหึหาของภาคอสังหา ทำให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในตอนนี้

เป็นเวลาหลายปีที่เราได้พูดถึงกันว่าจีนจะไม่มีวันตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยหลายเหตุผล เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ไม่ได้เปิดเสรีทางการเงิน รัฐสามารถควบคุมได้ ดังนั้นในวินาทีที่จีนมีหนี้จำนวนมาก จะทำอย่างไร เช่น จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปจ่ายดอกเบี้ย หรือเลือกที่จะลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งการเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างยากมากในภาวะที่กำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติสาธารณสุขจากปัญหาโควิด ดังนั้นก็มีอยู่หนทางเดียวคือ ก่อหนี้เพิ่ม

………

460,000 companies close down, 800 million people in debt, China’s 2023 economic has no way out

เพื่อลดการขาดดุลมหาศาล ภาครัฐต้องลดค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องเบนออกจากยุทธศาสตร์ที่ใช้ประคับประคองเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอด แต่นี่จะยังคงฉุดรั้งเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือว่ารัฐบาลต่างก็ต้องบริหารจัดการหนี้ของตน ดังนั้นไม่ว่าจะมีรายได้จากอะไรก็ต้องนำมาจ่ายค่าดอกเบี้ยทำให้เหลือเงินลงทุนจำกัดหรืออาจจะไม่มีเลยรวมถึงการบริโภคหรือการใช้จ่ายด้วย

การบริโภคเองก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง จากที่หวังจะกระตุ้นการบริโภคเพื่อคอยประคองเศรษฐกิจจีน ให้ฟันฟ่าปัญหาจากหนี้สาธารณะและหนี้ภาคอสังหา ทำให้จีนจำเป็นต้องมีมาตรการมากมายมากระตุ้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายมากขึ้นแต่ทว่า ….มันไม่เกิดขึ้น !

จากการที่จีนใช้มาตรการที่เข้มงวดก่อนหน้านี้อย่างโควิดเป็นศูนย์ทำให้กดการบริโภคในช่วงตลอดสามปีที่ผ่านมา แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ชาวจีนเลือกจะถือเงินสดไว้ ทุกวันนี้คนจีนเก็บออมเงินเพื่อใช้ในอนาคต ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากมองเห็นว่า สวัสดิการสังคมที่มีนั้นไม่ได้ครอบคลุมคนจีนทั้งหมด

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการออมเงินสูงที่สุดในโลก นักวิเคราะห์เห็นพ้องต้องกันว่า เหตุผลใหญ่ก็คือความเปราะบางของโครงข่ายรองรับทางสังคม เช่นมาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤติต่าง ๆ  เมื่อคุณถึงวัยเกษียณ คุณอาจจะไม่รู้ว่าคุณจะประคับประคองชีวิตไปต่ออย่างไรและเมื่อเจ็บป่วย คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่ดี ก็จะไม่อยากป่วย กลัวเวลาป่วยเพราะรู้ดีว่าไม่สามารถไปหาหมอหรือเข้าโรงพยาบาลได้เพราะไม่มีเงิน อีกเหตุผลหนึ่งที่การบริโภคของคนจีนไม่เติบโตอย่างเพียงพอนั้นก็คือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันก็คือปัญหาของชนชั้นกลาง ด้านหนึ่งนั้นคือการแข่งขันกันใช้จ่ายเงินไปกับการศึกษาของลูก ขณะที่ตัวเองก็ต้องการซื้อบ้านสักหลังซึ่งตลาดบ้านนั้นมีราคาสูงมาก ซึ่งส่งผลต่อเงินออมของพวกเขาและจากที่เคยมีเงินเก็บก็กลายเป็นคนที่มีหนี้ท่วมแทน

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนเองด้วย ต่างก็พยายามส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลจีนว่าพวกเขาต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างเดียวกันกับที่สหรัฐฯ หรือยุโรปทำ ซึ่งในเบื้องต้นแล้วจะส่งผลดีต่อภาคครัวเรือน รัฐบาลเพียงแต่อัดฉีดเม็ดเงินลงไปสู่ครัวเรือน ให้พวกเขามีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย แต่เมื่อว่ากันถึงจุดนี้แล้ว รัฐบาลจีนเลือกที่จะปฏิเสธ

……..

Is China heading for a demographic crisis? | Inside Story

การหดตัวของประชากร

จีนมีเวลาเหลืออีกไม่มาก หนี้สาธารณะของจีนอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะการก่อหนี้ที่นำไปเพิ่มในส่วนของค่าใช้จ่ายทางการทหาร ดังนั้นงบประมาณในส่วนของรัฐสวัสดิการหรือเพื่อนำไปกระตุ้นการบริโภคซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้นไม่มี รวมทั้งจีนเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาภายในอีกด้วยซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก อาจจะไม่ใช่ประเทศที่มีคนอายุยืนมากที่สุดอย่างญี่ปุ่นแต่ว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ อัตราการเกิดของจีนลดต่ำลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจีนจากสถิติในทศวรรษที่ 80 นั้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 คน  ในปี 2000 ลดลงมาที่ 1.6   ล่าสุดในปี 2021 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวหดตัวลงมาเหลือเพียง 1.2 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ  หากจีนต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศไปต่อได้จำเป็นต้องมีขนาดประชากรมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่อยู่ในค่าเฉลี่ย 2.1 ในปี 2023  ประชากรของจีนได้ลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงหลายทศวรรษ สหประชาชาติได้คาดการณ์ว่าจีนจะเสียตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีนี้

นโยบายลูกคนเดียวที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1980 และเลิกใช้ไปในปี 2015 เป็นเหตุผลหนึ่งที่ก่อให้เกิดการหดตัวของประชากร และถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะสามารถมีลูกมากกว่าหนึ่งคนได้แล้ว หนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ชอบแนวคิดครอบครัวขยายหรือมีลูกกันเยอะ

ถ้าหากผู้หญิงได้รับการศึกษา พวกเธอก็จะมีอาชีพของตัวเอง ซึ่งการทำงานเป็นแม่บ้าน อยู่บ้านเลี้ยงลูกนั้นย่อมไม่ใช่ตัวเลือกแรกอย่างแน่นอน และปัญหาที่ตามมาอีกอย่างก็คือการมีลูกนั้นก็มีค่าใช้จ่ายมากตามมาอีกด้วย มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการมีลูกหนึ่งคนแล้วต้องอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ของจีนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการมีลูกในเมืองใหญ่หลายเมืองของฝั่งตะวันตกเสียด้วยซ้ำ

ประชากรของจีนมาถึงจุดเปลี่ยนที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงเวลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ  ประเทศได้ประโยชน์อย่างมากจากการปันผลทางประชากร ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย การมีแรงงานจำนวนมากเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานและหน่วยธุรกิจต่าง ๆ แต่ถึงตอนนี้มันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว แรงงานของจีนได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วและกำลังเริ่มหดตัวลง ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่จะสามารถรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ได้เมื่อภาคแรงงานหดตัวลง  การที่ประชากรหดตัวลงก็หมายความว่ามีแรงงานวัยทำงานน้อยลงกว่าเดิม จีนอาจต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในการจัดการหาอุปทานราคาถูกให้กับอุปสงค์ของทั้งโลก

จากการที่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินในระบบบำเหน็จบำนาญซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าจะมีการพึ่งพาของประชากรสูงวัยอิงอยู่บนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะไปกดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรนั้นเป็นปรากฏการณ์ในระยะยาว ดังนั้นแล้วรัฐบาลจีนยังพอมีเวลาในการรับมือ โดยหันมาส่งเสริมนโยบายการมีลูกสามคน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ของความเป็นแม่ การอุดหนุนการศึกษาและการดูแลเด็กเล็ก แต่ก็ยังไม่ได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมนัก
…….

แต่….ท้้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือปัจจัยในจีน ยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอีกด้วย

China – US relations: How a trade war became a tech war – BBC News

ณ ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจีนลดลง ตัวเลขการส่งออกของจีนทั้งสินค้าและบริการเมื่อเทียบกับ GDP ลดลงจาก 36% ในปี 2006 มาอยู่ที่ 20% ในปี 2021

ปัญหาการระบาดของโควิด 19 ที่กดอุปสงค์ไว้ ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายขึ้นบ้างแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจสองขั้วคือจีนกับสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ได้หันมาใช้นโยบายที่มีความเป็นมิตรน้อยลงกับจีน เนื่องจากกังวลกับการขยายอำนาจของจีนที่จะเข้ามาเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งทางด้านยุโรปเองก็กังวลกับเรื่องนี้ไม่น้อย ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็นำมาซึ่งการบังคับใช้มาตรการจากทางสหรัฐฯ และยุโรปต่อจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถ่ายทอดเทคโนโลยี การค้าและการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง

ในเดือนตุลาคม 2022  สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่าง ๆ รวมถึงข้อบังคับที่ไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่บุคคลหรือบริษัทเอกชนของจีนแต่ยังพุ่งเป้าไปถึงการขัดขวางอุตสาหกรรมทั้งหมดของจีน

Has China really developed chip manufacture technology without the need of EUV?

จีนคือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือที่เราเรียกว่าชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งถูกนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายที่จีนผลิต อย่างเช่นในกลุ่มยานยนต์ แต่จีนไม่ได้มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมากเพียงพอที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เชี่ยวชาญในระดับสูงที่สามารถผลิตชิปขนาดเล็กได้ แต่จีนเองก็สามารถผลิตชิประดับกลาง ๆ ได้ปริมาณมากสำหรับใช้ในเทคโนโลยีระดับกลาง ๆ เช่นกัน และในตอนนี้ทางสหรัฐฯ ได้มีมาตรการห้ามขายอุปกรณ์ที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่ซับซ้อนให้กับจีน หากปราศจากเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวหน้าแล้วนั้น  คก็มีโอกาสน้อยมากที่จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือการพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่างจำเป็นต้องล่าช้าออกไป

รูปแบบการพัฒนาซึ่งส่งผลดีต่อจีนในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 90 ถึง 2000 นั้น ไม่เหมาะกับจีนในตอนนี้อีกแล้ว จีนจะยังได้ประโยชน์มหาศาล หากพวกเขาสามารถปรับเปลี่ยนนโยบาย จากที่เคยเน้นไปที่การเติบโตจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานไปเป็นการลงทุนกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและบริการ

สนับสนุนการทำบทความ กดไลค์ กดแชร์ หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเราได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM
บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4

Similar Articles

Comments

พื้นที่ลงโฆษณา

สนใจลงโฆษณา ติดต่อ herothailand.com ราคาเพียง 500 บาทต่อปี

Advertisement

โปรโมชั่น 2 ขวด Protriva Black seeds อาหารเสริมน้ำมันงาดำ จำนวน 2 ขวด

Royal Kludge RK68

Royal Kludge RK68 RGB Hotswap USB HUB คีย์บอร์ดเกมมิ่งคีย์ไทย ไร้สายบลูทูธและมีสาย เปลี่ยนสวิตซ์ได้ เลเซอร์ไทย - English

Most Popular

Advertisement SHOPEE THAILAND

บ้านน้องแมว ทำจากไม้