โลกที่ขาดแคลนทรายและจะเกิดวิกฤติขาดแคลนทรายตามมา !! มันจะขาดแคลนทรายได้อย่างไร ไปทางไหนก็มีแต่ทราย เคยเห็นไหมทะเลทราย ?
เรามาเริ่มต้นเดินทางไปในเรื่องราวนี้ด้วยกัน….
ทรายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ต่างจากน้ำมันหรือว่าทองแดง ทองคำ สิ่งของรอบตัวเรามีมากมายที่มีทรายเป็นองค์ประกอบ ดังนั้นทรายจึงมีความสำคัญ ถึงแม้ว่าเราสามารถพบเจอทรายได้แทบจะทุกประเทศบนโลกนี้แต่เชื่อไหมว่าเราอาจต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนทรายในไม่ช้า ทรายนั้นเป็นทรัพยากรที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบมากที่สุดในโลกรองจากน้ำเมื่อคำนวณจากปริมาณ มากกว่าน้ำมันดิบเสียอีก
การทำเหมืองทรายหรือบ่อทราย ลานทราย การดูดทราย โดยภาพรวมแล้วจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมการทำเหมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะเดียวกันก็มีการกำกับตรวจสอบน้อยที่สุดเช่นกัน
นอกจากทรายจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างแล้ว ยังใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างเช่น ระบบกรองน้ำ หรืออย่างทางด้านปิโตรเคมี ทรายถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Hydraulic Fracking ที่จะใช้การฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมากลงไปใต้ดินเพื่อให้ชั้นหินแตกออก ทำให้ได้ก๊าซกับน้ำมันไหลซึมผ่านออกมา นอกจากนั้นแล้วทรายยังถูกนำมาใช้ในการผลิตกระจกหน้าต่าง หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ชิป อีกด้วย พูดง่าย ๆ คือ เราใช้ทรายในการผลิตเกือบจะทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นหากเกิดการขาดแคลนทราย ….. จะเป็นอย่างไร ?
แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเราจะขาดแคลนทราย ?
จากสถิติพบว่ามีการใช้ทรายทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราการใช้ที่มากกว่าอัตราการสร้างทรายมาทดแทน มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อทรายมีอยู่แทบทุกที่ทั่วโลก จะมีปัญหาการขาดแคลนทรายได้อย่างไร ?
แน่นอนว่า เมื่อเราคิดถึงภาพชายหาดที่ต็มไปด้วยทราย หรือทะเลทรายที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เราย่อมต้องเกิดคำถามว่ามันจะขาดแคลนได้อย่างไร!
……
หลายสิบปีก่อนที่บังกาลอร์เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของอินเดีย มีรถบรรทุกทรายวิ่งกันขวักไขว่ คันแล้วคันเล่า รอบแล้วรอบเล่า เนื่องจากกำลังสร้างเมืองให้เป็นซิลิคอนวัลลีย์แห่งอินเดีย มีการก่อสร้างอยู่ทั่วทุกมุมเมือง
การก่อสร้างเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการใช้ทรายอย่างมาก แล้วทรายส่วนใหญ่แล้วก็นำมาจากแม้น้ำ ทะเล ทำให้จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้เกิดการขาดแคลนทรายเฉพาะไซท์งานก่อสร้างแต่ยังหมายถึงการขาดแคลนทรายในสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย เนื่องจากทรายตามแนวชายฝั่งก็จะมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะรับมือกับบริบทที่ระดับของน้ำทะเลสูงขึ้นหรือการก่อตัวของพายุที่จะเกิดได้บ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เม็ดทรายที่เกิดจากน้ำนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการใช้งานมากกว่าทรายในทะเลทรายที่เกิดจากการถูกลมพัดกร่อน ทำให้ทรายในทะเลทรายมีความกลมมนมากกว่า จับตัวเป็นกลุ่มก้อนได้ไม่ดีนัก ส่วนทรายที่เกิดจากน้ำพัดพานั้นไม่ว่าจะเป็นจากแม่น้ำหรือว่าท้องทะล ริมชายฝั่ง ทรายเหล่านี้จะมีเม็ดทรายที่มีเหลี่ยมมุมมากกว่าทำให้จับตัวเป็นกลุ่มก้อนได้ดีกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในการที่ทรายประเภทนี้ถูกน้ำมาใช้เป็นส่วนผสมในคอนกรีต ( ปูนซีเมนต์ ทราย หิน น้ำ ) คอนกรีตประกอบด้วยทรายราว 65-75%
ส่วนการทำกระจกหรือว่าแก้วนั้น เราจะใช้ Silica sand หรือที่เรียกว่าทรายอุตสาหกรรม ทรายขาว หรือทรายควอตซ์ ซึ่งส่วนผสมหลักของทรายประเภทนี้ประกอบด้วยออกซิเจนและซิลิกาเป็นหลัก โดยทรายต้องมีซิลิคอนไดออกไซด์ (เรียกทั่วไปว่าซิลิกา) อย่างน้อย 95% และมีไอรอนออกไซด์น้อยกว่า 0.6% จึงจะถูกจัดว่าเป็น Silica sand แม้แต่การผลิตชิปคอมพิวเตอร์ก็จำเป็นต้องใช้ทรายชนิดนี้เนื่องจากต้องสกัดเอาซิลิกาจากทรายมาใช้ประโยชน์
เหตุผลที่ต้องใช้ทรายที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอย่างน้อย 95% ไม่เช่นนั้นแล้วกระจกของเราก็จะดูไม่ใส ดูไม่ดี มันจำเป็นต้องใช้ทรายที่ละเอียดมาก ๆ ซึ่งมีขนาดเม็ดทรายอยู่ระหว่าง 0.075 มิลลิเมตรถึง 1.18 มิลลิเมตร แล้วต้องมีสีที่ถูกต้องอีกด้วย ยิ่งหากเป็นการผลิตในแง่ของอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จะมีการสกัดเอาซิลิกาจากหินควอทซ์และทรายที่อุดมไปด้วยแร่ควอทซ์ จากนั้นก็นำไปเข้าสู่กระบวนการแยกโลหะออกจากแร่ทำให้เป็นซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ 98% ซึ่งซิลิกาสำหรับนำไปทำเซมิคอนดักเตอร์นั้นจำเป็นต้องมีความบริสุทธิมากแทบจะ 100% ส่วนกระจกจะใช้ทรายซิลิการาว 70% แต่พื้นที่ที่มีทรายดังกล่าวนั้นมีค่อนข้างจำกัด!!!
สำหรับท้องทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาล ลองจินตนาการดูว่าหากดูดทรายออกจากก้นทะเล แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อจุลชีพที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล แล้วก็จะกระทบเป็นทอด ๆ ไปถึงปลาที่กินจุลชีพเหล่านี้เป็นอาหาร จากนั้นก็จะส่งผลต่อไปยังปลาใหญ่ที่มากินปลาเล็กเหล่านี้อีกทอด การนำทรายออกมานั้นส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ
เมื่อเรานำทรายจากที่หนึ่งไปใช้ประโยชน์ในอีกที่หนึ่ง สิ่งแวดล้อมในบริเวณเดิมที่ทรายเคยอยู่ก็ได้รับผลกระทบ อ้าวว ! ไม่แน่นะ ที่เดิมที่ทรายเคยอยู่มันอาจจะมีทรายมากเกินความจำเป็นก็ได้นี่ ? เอามาใช้ประโยชน์บ้างจะเป็นไรไป
เมื่อเรามักคิดว่าที่ไหน ๆ ก็มีทราย จึงไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญอะไรมากนัก ไม่ได้คิดถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทราย ไม่ได้มองว่ามันเป็นทรัพยากรที่สำคัญทั้งในแง่ของสังคมหรือว่าเศรษฐกิจและนั่นก็ทำให้เราใช้ทรายแบบไม่รู้คุณค่า….
…………..
ในปี 2019 มีการนำเสนอรายงานให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดการแร่ธาตุในระดับโลกที่ทุกประเทศจะต้องนำไปปรับใช้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่หลายประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวกับทราย รายงานชิ้นนี้สร้างความตื่นตระหนก แต่การตื่นตระหนกไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะว่าเราจำเป็นต้องใช้ทรายไปอีกนานแสนนานและใช้ในปริมาณมากด้วย ดังนั้นเราต้องหันมาแก้ไขปรับปรุงแนวทางการใช้ทรายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในปัจจุบันเราไม่สามารถติดตามตรวจสอบการใช้ทรายทั่วโลกได้อย่างจริงจัง เรามีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่มีข้อมูลภาพกว้างหรือภาพองค์รวมของแหล่งขุดทราย ปริมาณการขุด ขุดทรายมาแล้วขนไปที่ไหนบ้าง หรือว่าไซต์งานก่อสร้างนั้นใช้ทราย นำทรายมาจากที่ไหน แต่ว่าเราสามารถคำนวณย้อนกลับได้
เราทราบว่าในส่วนของการก่อสร้างนั้นเป็นภาคที่มีความต้องการทรายมากที่สุด ซึ่งมันค่อนข้างมีความสัมพันธ์กันอย่างมากระหว่างการใช้ทรายกับคอนกรีต โดยทางสหประชาชาติได้ประเมินว่ามีการผลิตคอนกรีตจำนวน 4.1 พันล้านตันในแต่ละปี ซึ่งในส่วนนี้จะมีการใช้ทรายโดยคร่าว ๆ แล้วประมาณ 10 ตันในการผลิตคอนกรีต 1 ตัน แน่นอนว่าเมื่อเราลองคำนวณดูแล้วก็จะได้ปริมาณทรายที่ใช้ไปราว ๆ 41 พันล้านตัน ซึ่งหากจะทำให้เห็นภาพก็คือสามารถสร้างกำแพงสูง 89 ฟุต กว้าง 89 ฟุต ยาวล้อมรอบโลกได้ในแต่ละปีนั่นเอง แต่นี่เป็นเพียงปริมาณทรายที่ใช้ในภาคการก่อสร้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ความต้องการคอนกรีตนั้นเพิ่มสูงขึ้นจากการก่อสร้างในจีนเป็นหลัก ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ทรายเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ซึ่งในส่วนนี้ 55-58% เป็นปริมาณการใช้ทรายในจีน ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ก็คือ การที่บางประเทศไม่มีกฎหมายควบคุม หมายความว่าเราสามารถนำทรายจากชายหาด จากแม่น้ำหรือที่ไหนก็ได้โดยเสรี พวกเขาก็ดูดทรายขึ้นมาขายหาเลี้ยงชีพ ในบางพื้นที่ของโลกแม้แต่เรื่องทรายก็มีมาเฟีย มันเป็นปัญหาจากการที่บางประเทศ รัฐบาลไม่มีนโยบายกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว
……..
ปัจจัยเสริมอีกอย่างก็คือการที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวน 10,000 ล้านคน อาฟริกาเป็นทวีปที่มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับจากนี้ไปจนถึงปี 2050 ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะออกจากหมู่บ้านเข้าไปหางานทำในเมือง นั่นหมายความว่าเมืองก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างที่อาฟริกามีหัวเมืองที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลกอยู่ถึง 10 เมือง และทั้งหมดที่ว่ามาก็ต้องการทรายไปใช้
ทรายนั้นไม่สามารถดูดขึ้นมาหรือใช้อย่างยั่งยืนสมดุลไปกับความต้องการใช้ทรายได้ในโลกที่มีประชากร 10,000 ล้านคน ดังนั้นหากปราศจากแผนการรองรับและควบคุมที่มีประสิทธิภาพแล้วเราต้องเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนทรายที่รุนแรงขึ้น
ในปี 2014 สหประชาชาติได้ประเมินว่าการทำเหมืองทราย ( การดูดทราย การตักทราย ) คิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของการทำเหมืองทุกประเภททั่วโลกเมื่อคิดตามน้ำหนัก ทรายเกิดจากการกร่อนของหินผ่านวันเวลาเกิดการขยายตัวหดตัว โดนแดด โดนลม โดนน้ำพัดพา แตกตัวออกเป็นหินที่มีขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นเม็ดทราย ซึ่งกินระยะเวลาหลายพันปีเป็นอย่างต่ำ
ในปี 2008 ชายหาดทั้งชายหาดถูกขโมยในจาไมกา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่บ้ามากที่มีการลักลอบขุดทรายหลายร้อยตันจากชายหาดทางตอนเหนือของเกาะ คืนหนึ่งเมื่อพวกเขาเข้านอนแล้วยังมีชายหาดอยู่ แต่พอพวกเขาตื่นขึ้นมาหาดทรายก็หายไป นั่นก็เป็นเพราะว่ามันมีหาดทรายสีขาวที่สวยงามมาก พวกเขาขโมยไปทั้งหาด
อาจไม่ชัดเจนนักว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศอย่างจีนและจาไมกา แต่ว่าขณะเดียวกันวิกฤติขาดแคลนทรายในสหรัฐฯ ก็ยิ่งเลวร้ายลง หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่คือเรื่องของชายหาดที่ถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็วเอามาก ๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาหาดทรายและให้ยาว อวบและเต็มไปด้วยทราย เราต้องอาศัยสิ่งเทียมเพื่อรักษาหาดทราย ตัวช่วยที่ว่าอย่างหนึ่งก็คือการตักทรายหรือดูดทราจากก้นทะเลขึ้นมาแล้วพ่นทรายเหล่านั้นตามแนวชายฝั่ง และเราไม่ได้ทำเฉพาะที่หลุยเซียนาเท่านั้น แต่หาดทรายทั่วสหรัฐฯ กำลังต้องทำแบบเดียวกันนี้แล้วเราก็ต้องหาทรายจากที่อื่นมา
ที่ผ่านมาเราได้นำทรายไปใช้จำนวนมาก ไม่ว่าจะจากพื้นที่ไหน ๆ ก็ตาม ถึงตอนนี้ไม่มีทรายที่ท้องทะเลมากเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว อย่างเช่นที่ไมอามีที่ไม่สามารถดูดทรายจากก้นทะเลมาซ่อมแซมแนวชายหาดได้ ดังนั้นก็ต้องหาวิธีใช้รถขนทรายจากที่อื่น อาจจะมีบ่อทราย ลานทรายที่ห่างออกไปสองสามชั่วโมงเพื่อเอามาซ่อมแซมแนวชายหาดซึ่งใช้งบประมาณรวมแล้วหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มความหนาของหาดทราย จากฟลอริดาไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย
……
ตามรายงานของ UNEP ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบของการดูดทรายที่มีจำนวนมากในตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น การดูดทรายจากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการดูดทรายกันจำนวนมากได้สร้างความกังวลต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั่นก็คือการจมลงของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสะสมเกลือในผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ทำการเพาะปลูกได้ไม่ดีเท่าเดิมแล้วก็จะส่งผลกระทบไปยังผู้คนในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนทางด้านแม่น้ำมหาเวลีซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในศรีลังกา การดูดทรายออกไปจำนวนมาก ทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดเกิดการไหลย้อนกลับสวนทางขึ้นมา บวกกับการเกิดน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้เกิดน้ำกร่อยรุกล้ำเข้า นอกจากนั้นแล้วยังพบจระเข้น้ำเค็มซึ่งก่อนหน้านี้พบได้เพียงตามแนวชายฝั่งแต่ในตอนนี้พบได้ลึกเข้ามาตามแนวแม่น้ำ
ประชาคมโลกต้องให้ความสำคัญกับการ “ลดการใช้ทรายที่นำมาจากธรรมชาติรวมถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาในระยะสั้น” เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติที่กำลังก่อตัว ในรายงานได้ชี้ว่าควรลดโครงการก่อสร้างที่ไม่จเป็นและมีการควบคุมการก่อสร้างให้เข้มงวดขึ้น ส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย โดยในรายงานได้ยกตัวอย่างเยอรมนีที่ช้วัสดุรีไซเคิลที่มาจากของเสียถึง 87% ในรูปของขี้เถ้าที่ได้มาจากกระบวนการ incinerated solid waste (เผาของเสียด้วยความร้อนสูงทำให้เหลือเป็นเกลือ โลหะ และสารที่ไม่เผาไหม้ ) แทนการใช้ทราย
………
มีทางออกสำหรับปัญหานี้ให้เราบ้างไหม ?
มันไม่มีแผนการแก้ปัญหาใดที่จบทุกอย่างในตัว ในภาวะวิกฤติขาดแคนทราย เราต้องอาศัยการบูรณาการแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อย่างเช่น วัสดุทางเลือกอื่นที่สามารถทดแทนทราย หรืออาศัยการรีไซเคิลคอนกรีต เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องขนเศษคอนกรีตเหล่านั้นไปถมที่ทิ้งไปเปล่า ๆ
การทำเหมืองทรายนั้นมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงมากต่อสังคม แต่ทำให้ทรายเป็นได้แค่เพียงปัจจัยในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการนำมันไปถมที่ มันเป็นได้เพียง linear economy หรือเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ใช้งานแล้วก็ทิ้งเป็นขยะในท้ายที่สุด แต่การเปลี่ยนแปลงให้เป็น circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนต่างหากที่อาจจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง ซึ่งการทำให้มันอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนถือว่าเป็นวิธีการที่ทำให้วัสดุถูกใช้ได้นานขึ้น
อีกทางหนึ่งก็คือ เราปรับปรุงวิธีการดูดทราย โดยต้องมีการทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะอนุญาตให้มีการดูดทรายมีมาตรฐานปรับปรุงระบบการทำเหมืองทรายทั้งระบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันที่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากนั้นเรายังต้องหาวิธีลดการใช้ทราย มีการวางแผนในระยะยาวในการก่อสร้าง พยายามหาทางสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นจาก 20-30 ปี ไปเป็น 50-60 ปีเป็นต้น
ทรายเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ทุกครั้งที่เรานำทรายจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างตามแนวชายฝั่งก็เท่ากับเราทำให้แนวชายฝั่งเกิดความเปราะบางมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทรายตามแนวชายฝั่งจะทำหน้าที่เป็นตัวรับแรงปะทะจากพายุ ดังนั้นเมื่อเราขุดทรายในบริเวณดังกล่าวออกไปก็ส่งผลกระทบตามมา ดังนั้นเราต้องหาวิธีการใช้ทรายให้สมดุลและยั่งยืนกับความต้องการใช้ทรายในอนาคต
……….
การรีไซเคิลแก้วให้กลับมาเป็นทราย
ในความเป็นจริงแล้วกว่า 70% ของแก้วที่ผลิตขึ้นในสหรัฐฯ จะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ นั่นก็หมายความว่าแก้วที่เราผลิตขึ้นส่วนใหญ่จะกลายเป็นขยะ นับตั้งแต่ปี 2014 เมืองขนาดเล็กและขนาดกลางต่าง ๆ ไม่สามารถรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของกระบวนการจัดการกับแก้ว พวกเขาจึงพากันตัดงบประมาณในการรีไซเคิลแก้วแล้วหันไปไปกำจัดด้วยการฝังกลบแบบเดิม
แต่ทรายที่ได้จากการรีไซเคิลนั้นจะทดแทนทรายจริงได้ 100% หรือไม่ ?
นี่คือต้นสนไซเปรสหนองน้ำที่สามารถเติบโตได้ 100% ทั้งในทรายที่ได้จากการรีไซเคิลแก้วหรือว่าตะกอนเลนที่ขุดมาจากริมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้หรือทั้งสองอย่างรวมกัน สิ่งสำคัญก็คือแก้วที่ถูกบดละเอียดให้เป็นทรายนั้นโดยเริ่มแรกเลยมันก็มาจากทราย แก้วส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทรายซิลิกา เมื่อเรานำมาหลอมที่อุณหภูมิสูงจากนั้นก็นำไปเข้าแม่พิมพ์ ปล่อยให้เย็นตัวลงได้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ที่เราต้องการ อย่างเช่นขวดแก้ว ดังนั้นเมื่อเรานำขวดแก้วไปบดให้เป็นทราย เราก็จะได้บางอย่างออกมาซึ่งลักษณะทางกายภาพแล้วก็เหมือนกันกับทรายตามธรรมชาติทุกอย่าง ส่วนโครงสร้างทางเคมีก็ค่อนข้างจะเหมือนกันมากเลยทีเดียว ซึ่งมันเป็นการค้นพบที่ดีมาก เราเห็นพืชพรรณสามารถเติบโตในทรายรีไซเคิลได้ ซึ่งก็หมายความว่าเราสามารถนำทรายรีไซเคิลไปเทลงที่หาดทรายได้จริงๆ โดยคาดว่าบรรดาพืชพรรณต่างๆ จะสามารถเติบโตขึ้นมาได้ มีรากที่สามารถยึดเกาะกับเม็ดทรายเหล่านั้นได้
แต่สำหรับในตอนนี้ สิ่งที่เราได้จากทรายรีไซเคิลนั้นเป็นเพียงแค่น้ำหนึ่งหยดในถังน้ำ การขุดทรายยังคงดำเนินต่อไปในทุก ๆ ที่ ซึ่งสามารขุดทรายได้ราว ๆ 40,000 ลูกบาศก์หลาต่อวัน ซึ่งหากเทียบกับปริมาณการผลิตทรายรีไซเคิลแล้ว มันห่างไกลกันแบบเทียบกันไม่ได้ จากข้อมูลดังกล่าวก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าลำพังเพียงการรีไซเคิลอย่างเดียวนั้นไม่อาจแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนทรายได้แน่นอน พูดให้ชัด ๆ ก็คือการรีไซเคิลไม่ใช่ทางออกของปัญหาเป็นเพียงแค่ตัวช่วยหนึ่งเท่านั้น เพื่อลดการนำทรายใหม่จากธรรมชาติมาใช้
นอกจากนั้นแล้วยังมีการใช้วัตถุดิบทดแทน อย่างเช่นการนำเศษหินจากเหมืองหินมาบดละเอียดหรือนำเศษวัสดุจากการรื้อถอนอาคารมาบดละเอียดเพื่อให้ได้ทรายกลับคืนมา รวมถึงมีการนำเสนอให้ใช้ pyrolized coffee ground หรือใช้ถ่านชีวภาพจากกากกาแฟในปฏิกรณ์ไพโรไลซิสมาทดแทนสัดส่วนของทราย
นอกจากนั้นแลวเราควรใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ซ่อมกันมากกว่าจะซื้อใหม่ เพราะถึงแม้จะเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูกแค่ไหนก็ตามมันก็ต้องใช้วัสดุที่มีอยู่อย่างจำกัดในการผลิต
เมื่อความเจริญขยายตัวออกไป ความต้องการทรายของเราก็ขยายตัวเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการที่เรานำทรายมาใช้จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ เราต้องหาวิธีใช้ทรายให้น้อยลง ใช้คอนกรีตให้น้อยลง ใช้พลังงานให้น้อยลง ลดทุกอย่างลง มีหลายอย่างที่เราทำได้ บางทีอาจจะเป็นขั้นตอนแรกในการได้มาซึ่งทางออกที่ดี