รีไซเคิลอย่างไร ขยะพลาสติกถึงไม่ลด

Listen to this article

ปัญหาเรื่องขยะของประเทศเลบานอนนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติมาตั้งแต่ปี 2015 ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจากการบริหารจัดการขยะที่ผิดพลาดหรือปัญหาจากการคอรัปชัน สงครามกลางเมืองและการปฏิวัติรัฐประหารก็ตาม ทำให้เราเห็นภาพขยะกองอยู่เต็มเมือง

เลบานอนสร้างปริมาณขยะมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี โดยขยะส่วนใหญ่ 94% จะถูกนำไปฝังกลบและมีเพียง 6% เท่านั้นที่จะถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนพื้นที่ที่ใช้เป็นบ่อขยะฝังกลบนั้นในตอนนี้มันไม่เหลือความเป็นบ่อขยะ หากแต่มันล้นบ่อจนกลายเป็นภูเขาขยะลูกย่อมๆ สองลูก ส่วนหนึ่งของปัญหาขยะล้นเมืองที่ถูกซ้ำเติมยิ่งขึ้นเกิดจากการที่ ในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2020 โรงงานกำจัดขยะสองแห่งในเมืองคาแรนตินา ถูกแรงระเบิดจากคลังเก็บแอมโมเนียมไนเตรทที่ท่าเรือนอกกรุงเบรุสทำลายเสียหายจนใช้การไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของเลบานอนมีผู้เสียชีวิต 218 รายและบาดเจ็บอีกกว่า 7,000 คน รัฐบาลเองก็ขาดแคลนงบประมาณที่จะซ่อมแซมโรงงานกำจัดขยะ ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้เลบานอนต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงไปถึง 269% ทำให้ชาวเลบานอน 3 ใน 4 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 5.6 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะยากจนแร้นแค้นกว่าเก่า

Lebanon still grappling with garbage

ในปี 2019 บริษัทกำจัดขยะยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของยุโรปถูกพบว่ากระทำความผิดโดยฝ่าฝืนกฏหมายด้วยการส่งออกขยะพวกผ้าอ้อมใช้แล้ว ผ้าอนามัย เสื้อผ้าเก่า ตะกั่ว ถุงพลาสติก ไปยังประเทศกำลังพัฒนา โดยแจ้งเท็จว่าส่งออกกระดาษ

ก่อนหน้านั้นจีนเป็นตลาดรับซื้อวัตถุดิบรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อนโยบายของจีนเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมการกำจัดขยะโลกก็เริ่มได้รับผลกระทบเพราะว่าพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับขยะที่มากมายเหล่านั้นอย่างไรดี เอาทิ้งในประเทศตัวเองก็ไม่ได้ ส่งชิงโชคก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมองหาประเทศอื่นๆ ที่เต็มใจจะรับขยะพวกนี้ไป เราจึงพบเห็นว่ามีขยะเต็มตู้คอนเทนเนอร์หลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากว่าประเทศเหล่านี้ไมได้มีระบบบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีเผาทำลายหรือไม่ก็เป็นการลักลอบทิ้งขยะอย่างผิดกฏหมาย การเผาขยะก็ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น ควัน ก๊าซมีเทนรวมทั้งสารพิษต่าง ๆ ที่กระจายออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แม้แต่ในยุโรปเองก็มีการลักลอบทิ้งขยะอย่างผิดกฏหมาย ที่มาเลเซียเองเด็กเล็กหลายรายในชุมชนแห่งหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคทางเดินหายใจอันมีสาเหตุมาจากการเผาขยะ ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสาธารณสุข รัฐบาลมาเลเซียรับทราบในปัญหาดังกล่าวจึงมีมาตรการตีกลับตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะกลับไปยังประเทศต้นทางในกลุ่มยุโรป นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยและอินเดียก็ได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน ประเทศเหล่านี้ลำพังการจัดการขยะในประเทศก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะยังไม่เพียงพอและไม่ทันสมัย ทำให้มีขยะที่ไม่ได้รับการจัดการหลุดลอดออกไปในแม่น้ำลำคลองแล้วลงสู่มหาสมุทรในที่สุด

How People Live On A Flaming Garbage Dump | World Wide Waste | Business Insider

ทำไมถึงมีขยะมากมาย ผู้คนต่างรณรงค์ลดโลกร้อน ลดขยะ รวมถึงส่งเสริมการรีไซเคิลกันมานานนับสิบปีแล้วไม่ใช่หรือ ?

From birth to ban : A history of the plastic shopping bag

ถุงพลาสติกถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดยวิศวกรชื่อ Sten Gustaf Thulin จากบริษัท Celloplast บริษัทสัญชาติสวีเดน ในปี 1965 ผู้คนชื่นชอบถุงพลาสติกก็เพราะว่ามันเบาแถมยังทนด้วย แน่นอนว่าก็เป็นคุณสมบัติทางเคมีที่ทำให้ถุงพลาสติกมีความทนทานและนั่นก็ทำให้มันย่อยสลายได้ยาก โดยพลาสติกบางประเภทอาจต้องใช้เวลาหลายร้อยหลายพันปีในการย่อยสลาย หนึ่งในผู้ที่นำพลาสติกไปใช้รายใหญ่ที่สุดก็คือซูเปอร์มาเก็ตที่มักจะหุ้มห่อสินค้าเกือบทุกชนิดที่พวกเขาขายด้วยพลาสติกประเภทต่าง ๆ ทำให้สามารถเก็บสินค้า หรือผลิตสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าเดิม เน่าเสียช้าลง ส่งผลให้มีความนิยมในการใช้พลาสติกในการหุ้มห่ออาหารดังที่เราเห็นในซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ผักและผลไม้ รวมถึงสินค้าต่าง ๆ ล้วนหุ้มห่อด้วยพลาสติกที่ส่วนใหญ่ใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้ง ต่างจากการไปเลือกซื้อสินค้าตามตลาดท้องถิ่นหรือสินค้าออร์แกนิกที่แทบจะไม่ได้ใช้พลาสติกหุ้มห่อสินค้ากัน

อีกธุรกิจที่น่าสนใจก็คือธุรกิจน้ำอัดลมระดับโลก หากย้อนกลับไปสัก 30-40 ปี หรือในช่วงทศวรรษที่ 70 หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับระบบแลกคืนขวด ที่เมื่อเราซื้อน้ำอัดลมซึ่งบรรจุอยู่ในขวดแก้วหลังจากดื่มหมดแล้วก็สามารถนำขวดมาคืนที่ร้านเพื่อรับเงินค่ามัดจำขวดคืน ในห้วงเวลานั้นเราแทบจะไม่เห็นขวดพลาสติก การคืนขวดแก้วนั้น ขวดแก้วจะถูกนำกลับไปใช้ทั้งหมดเฉลี่ย 15 ครั้งก่อนจะเลิกใช้แล้วนำไปหลอม ซึ่งถือว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

Advertisement SHOPEE THAILAND

โซฟา 1 ที่นั่ง ปรับระดับได้ อเนกประสงค์ ปรับเอนได้

แต่ต่อมาพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป บริษัทน้ำอัดลมเริ่มทดลองตลาดด้วยการใช้ขวดพลาสติกแทนขวดแก้ว เนื่องจากเล็งเห็นว่าขวดแก้วมีน้ำหนักมาก แตกง่าย หากเปลี่ยนมาใช้ขวดพลาสติกแทนจะทำให้พกพาได้สะดวก เนื่องจากน้ำหนักเบากว่า ยิ่งหากซื้อหลายขวด น้ำหนักรวมก็ยิ่งเบากว่าเมื่อเทียบกับขวดแก้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องขวดแตกอีกด้วย รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ก็ดูดีอีกด้วย ไม่ต้องสนใจเรื่องการคืนขวด

นอกจากน้ำอัดลมแล้ว ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็เริ่มหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดพลาสติกด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันกับข้างต้น คือเบา เหนียว ทนทาน แตกยาก สะดวกและปลอดภัยในการพกพา แล้วสายพานการผลิตขวดแก้วก็ค่อย ๆ ลดลง เปลี่ยนมาเป็นสายพานการผลิตขวดพลาสติกกันมากขึ้น

สถิติเมื่อไม่กีปีมานี้พบว่าเพียงแค่ระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที น้ำอัดลมรายใหญ่ของโลกที่บรรจุขวดพลาสติกก็มียอดขายทั่วโลกรวมกันไปแล้วกว่า 13 ล้านขวด !! ในขณะที่สายพานการผลิตน้ำอัดลมบรรจุขวดพลาสติกจากโรงงานเพียงแห่งเดียวที่เดินเครื่องมาแล้วสองชั่วโมงครึ่งผลิตไปแล้วจำนวน 86,340 ขวด ซึ่งหมายถึงกำลังการผลิตตีเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ก็คือ 10 ขวดต่อวินาที! และนี่เป็นเพียงแค่จากสายพานการผลิตเพียงสายการผลิตเดียวจากโรงงานเพียงแห่งเดียวและในประเทศเดียวเพียงเท่านั้น !!! แล้วหากคิดรวมกันทั้งโลกจะมหาศาลขนาดไหนกัน

เมื่อมีขวดพลาสติกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วกลายเป็นขยะถูกทิ้งขว้างก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากนั้นเมื่อขยะพลาสติกเพิ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนก็เริ่มคิดถึงการรีไซเคิล เพราะหวังว่าการรีไซเคิลจะเป็นทางออกของปัญหาทุกอย่าง

image Source : https://www.circularonline.co.uk

การรีไซเคิลจะเป็นทางออกของปัญหาทุกอย่าง จริงหรือ ?

แน่นอนว่าพวกเราก็คงไม่ได้ดื่มน้ำอัดลมจนหมดขวดแล้วปาขวดเข้าเครื่องรีไซเคิล จบทุกขั้นตอนเลย ณ ตรงนั้น ในความเป็นจริงแล้วการรีไซเคิลที่หลายคนเข้าใจมักจะเริ่มจาก มีขวดพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างขวด PET ถูกนำมาทิ้งขยะ หากทิ้งลงถังขยะก็จะมีรถเก็บขยะมาเก็บหรือไม่ก็คนเก็บของเก่ามาเก็บไป แต่หากขวดพวกนั้นถูกทิ้งตามข้างถนน ในป่า ริมลำธารหลังจากไปนั่งดื่มกินกันชิล ๆ แล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นขยะที่ย่อยสลายยากอยู่ในสิ่งแวดล้อม

เราจะเห็นอาชีพคนเก็บของเก่า เดินหาเก็บขวดเก็บกระป๋องขายซึ่งเป็นอาชีพที่มีอยู่ทั่วโลกในยุครีไซเคิล

ที่ประเทศแทนซาเนียซึ่งเป็นดินแดนซาฟารีอันสวยงามตื่นตาตื่นใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีภูเขาขวดพลาสติกที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน ตั้งแต่ที่โรงงานน้ำอัดลมในประเทศนี้ยกเลิกการใช้วิธีคืนขวดแก้วแล้วหันมาใช้สายพานการผลิตด้วยขวดพลาสติกแทน ขวดพลาสติกก็เกลื่อนประเทศนี้ ผู้มีรายได้น้อย คนยากจนก็อาศัยการเก็บขวดพลาสติกโดยเฉพาะขวด PET ซึ่งจะได้ราคาดีไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า หากเราไปที่โกดังรับซื้อของเก่าจะเห็นคนงานจำนวนมากเดินแบกกระสอบที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ ใส่ขวดพลาสติกที่คัดแล้วขึ้นหลังเดินแบกขึ้นไปเทลงบนยอดภูเขาขวดพลาสติก

คนเก็บของเก่าก็ใช่ว่าพวกเขาจะมีรายได้ดีจากการเก็บขวดพลาสติกที่เกลื่อนประเทศ เพราะขวดพลาสติกมีมาก คนเก็บขวดพลาสติกก็มีมาก ราคาขวดพลาสติกก็เลยถูก พวกเขาต้องใช้เวลาหาเก็บขวดนานขึ้นหรืออาจจะทั้งวันเพื่อให้มีรายได้เพียงพอจุนเจือครอบครัว ขวดพลาสติกที่พวกเขาเก็บมานี้จะถูกนำไปบดจนละเอียดแล้วส่งไปที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรับซื้อพลาสติกรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2017 ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าพลาสติกใช้แล้วเนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศกลายเป็นถังขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็ทำให้ตลาดส่งออกหายวับไปกับตา ผลกระทบก็ย้อนกลับมาสู่รายได้ของผู้คนที่อาศัยเก็บขวดเก็บของเก่าเลี้ยงชีพ แล้วพลาสติกก็คั่งค้างอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้นแล้วธุรกิจทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของการรีไซเคิลพลาสติกก็เริ่มสั่นคลอน ต่างก็ได้รับผลกระทบกันเป็นทอด ๆ

ในเดือนมิถุนายน ปี 2019 ประเทศแทนซาเนียได้ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังแทนซาเนียต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้รัฐบาลแทนซาเนียต้องการที่จะลดขยะพลาสติกในประเทศรวมทั้งช่วยฟื้นฟูและรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติอันสวยงามของแทนซาเนีย

หากการรีไซเคิลคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลกับปริมาณการผลิตขวดพลาสติก มันจะมีประโยชน์แบบไหนกัน ?

ลองนึกภาพว่าเราผลิตน้ำอัดลมบรรจุขวดพลาสติกเพียงครึ่งชั่วโมง 86,340 ขวด แล้วในจำนวนนี้มาจากพลาสติกรีไซเคิลเพียง 7% มันแทบไม่มีผลอะไรกับการลดการก่อขยะพลาสติก นอกจากนั้นหากเรามองกว้างออกไปถึงเรื่องของถุงพลาสติกและขยะพลาสติกอื่นๆ อีก ภาพรวมของโลกเราในไม่ช้าจะเป็นอย่างไร

ตามรายงานของ the Organisation for Economic Co-operation and Development’s (OECD) ชี้ให้เห็นว่าเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นรวมถึงการมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งสองปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วคนอเมริกันสร้างขยะพลาสติก 221 กิโลกรัมต่อคนต่อปี กลุ่มประเทศยุโรปเฉลี่ย 114 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เฉลี่ย 69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ดังนั้นเราเข้าใจผิดเรื่องการรีไซเคิลหรือเปล่า หรือว่ามีอะไรผิดพลาดเกี่ยวกับการรีไซเคิล ?

การรีไซเคิลไม่ได้เริ่มจากการนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปเข้าโรงงานรีไซเคิล แต่เริ่มจากการ Reduce Reuse Recycle นั่นก็คือ การลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น เพิ่มการใช้ซ้ำเพื่อยืดอายุการใช้งานและลดการเพิ่มปริมาณขยะ จากนั้นก็ต้องอาศัยการรีไซเคิลเพื่อลดการผลิตพลาสติกใหม่ออกมาและในอนาคตก็ต้องเพิ่มสัดส่วนทั้งสามอย่างนี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้กับการทิ้ง

เรามักจะเข้าใจผิดว่าสัญลักษณ์ที่เห็นแบ่งประเภทพลาสติกออกเป็น 7 ชนิดนั้นคือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่านำไปรีไซเคิลได้

ถ้าจะเข้าใจให้ถูกต้องก็คือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผลิตจากพลาสติกประเภทไหนแต่อาจจะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด โดยพลาสติกส่วนใหญ่ตั้งแต่ 1-7 นั้น หากเป็นพลาสติกแข็งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ในส่วนของหมายเลข 6 ที่เป็น Polystyrene foam , ถุงพลาสติกซึ่งจะอยู่ในหมวดเลข 2 หรือว่าเลข 4 ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนมากจะถูกนำไปฝังกลบ

1.Polyethylene terephthalate (PET) / 2. High density polyethylene (HDPE) / 3. Polyvinyl chlorine (PVC)

4. Low density polyethylene (LDPE) / 5. Polypropylene (PP) / 6. Polystyrene (PS) / 7. Bisphenol and others

แต่อยู่ดี ๆ จะให้ทุกคนลุกมาแยกขยะอาจจะฟังดูไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เช่นนั้นแล้วช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี ขยะพลาสติกของเราคงจะไม่เพิ่มจนล้นเมืองขนาดนี้ อาจจะไม่พูดเกินจริงว่าล้นลงไปในทะเลอย่างที่เราเห็นได้จาก เกาะขยะ GREAT PACIFIC GARBAGE PATCH

สิ่งที่ต้องเกิดควบคู่ไปกับการรีไซเคิลก็คือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ ลองนึกภาพว่าหากราคาซื้อขายขวดน้ำอัดลม PET มีราคาสูงขึ้น คนก็คงจะแย่งกันเก็บขวดมากขึ้น หรือสร้างแรงจูงใจทางสังคมอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นส่วนลด การสมนาคุณ คะแนนพลเมือง รวมทั้งการบังคับใช้กฏหมายให้ผู้ผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรมต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 10-15% เป็นต้น สัดส่วนตรงนี้ก็ปรับลดได้ตามความเหมาะสม มีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลในการผลิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนทางด้านผู้บริโภคเองก็อาจจะหันมาใช้ขวดแก้วทดแทนพลาสติกมากขึ้น มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ซ้ำมากขึ้นจากที่เคยใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อให้เราเข้าสู่สมดุลการผลิตกับการทิ้งเป็นขยะได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

และส่วนที่เหลือเป็นขยะหลังจากที่เราพยายาม Reduce Reuse Recycle แล้วนั้นก็จะถูกระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพของท้องถิ่นนำไปยังโรงงานขยะที่มีเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้ก็น่าจะทำให้โลกของเราสะอาดขึ้นและส่งผลดีกับพลเมืองโลกทุกคน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อจะได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย กลุ่มประเทศยากจนคงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าจะจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเองก็หวังว่าจะมีเงินทุนสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วเข้ามาช่วยเหลือเพื่อยกระดับการบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้น

สนับสนุนการทำบทความ กดไลค์ กดแชร์ หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเราได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM
บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4

Similar Articles

Comments

พื้นที่ลงโฆษณา

สนใจลงโฆษณา ติดต่อ herothailand.com ราคาเพียง 500 บาทต่อปี

Advertisement

โปรโมชั่น 2 ขวด Protriva Black seeds อาหารเสริมน้ำมันงาดำ จำนวน 2 ขวด

Royal Kludge RK68

Royal Kludge RK68 RGB Hotswap USB HUB คีย์บอร์ดเกมมิ่งคีย์ไทย ไร้สายบลูทูธและมีสาย เปลี่ยนสวิตซ์ได้ เลเซอร์ไทย - English

Most Popular

Advertisement SHOPEE THAILAND

บ้านน้องแมว ทำจากไม้