เศรษฐกิจโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนมีโครงการ Belt and Road initiative (BRI)
รถไฟความเร็วสูงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจีนยุคใหม่และด้วยความเร็วดังกล่าวสามารถกระจายสินค้าออกไปด้วยความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากมองอย่างผิวเผิน จีนกำลังหาทางฟื้นฟูเส้นทางสายไหมในอดีตด้วยโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่เพื่อเป็นระเบียงเศรษฐกิจ โดยอาศัยระบบรางและถนนเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับท่าเรือใหญ่ต่าง ๆ วนรอบกลับไปที่จีน
แต่ในความเป็นจริงแล้วมันซับซ้อนกว่านั้นมาก
ทุกวันนี้ขนาดเศรษฐกิจของจีนเกือบจะเท่ากับสหรัฐฯ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะวัดในแบบไหน มันอาจจะใหญ่กว่ามาก ๆ หากเทียบในปริมาณการค้า ดังนั้นแล้ว BRI จึงเป็นเรื่องราวการเกิดขึ้นของจีนและการเปิดประเทศจีน
เส้นทางเดินเรือ ถนนใหม่ รางรถไฟใหม่ แนวท่อใหม่ ท่าเรือแห่งใหม่ ซูเปอร์ไฮเวย์ของจีนกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ขับเคลื่อนสินค้าของจีนเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ จีนได้ล่อใจหลายประเทศตามเส้นทางสายไหมด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อทำการขยายโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาและส่งผลในท้ายที่สุดเป็นการก่อหนี้มหึมา ท่าเรือ Piraeus ในกรีซและ Hambantota ในศรีลังกาในตอนนี้ก็ตกอยู่ในมือของจีนแล้ว ศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่ดี จีนลงทุนสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่นี่แต่ว่ามันไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นในตอนนี้จีนจึงเข้าถือครองท่าเรือและพื้นที่โดยรอบ เป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็นประเทศเล็ก ๆ ต้องเผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ โครงสร้างพื้นฐานฟังดูเหมือนจะดีแต่ถ้าหากมันไม่ได้สร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องขึ้นจำนวนมากมันก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดีได้
ราว ๆ 70 ประเทศที่จีนร่วมทุน หนี้สาธารณะของ 27 ประเทศในนี้ถูกจัดอันดับให้เป็น Junk หรือต่ำกว่าอันดับการลงทุน ส่วนอีก 14 ประเทศ อย่างอัฟกานิสถาน อิหร่าน ซีเรีย ไม่ได้ถูกนำมาจัดอันดับ
…………………………..
ความได้เปรียบทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับอินเดีย มุมมองต่อเรื่อง BRI นั้นเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน โครงการที่ใหญ่ที่สุดของจีนในตอนนี้ ได้ทำตลอดแนวพรมแดนของเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานมายังท่าเรือ Gwadar ด้านมหาสมุทรอินเดีย
โครงการเดียวที่ใหญ่ที่สุดของ BRI ก็คือ ระเบียงเศรษฐกิจของจีนกับปากีสถานซึ่งเริ่มจากด้านตะวันตกสุดของจีนไล่ไปตามแนวพิพาทเขตแดนของแคว้นแคชเมียร์ไปออกสู่ทะเลอาหรับ
CPC (ระเบียงเศรษฐกิจจีนปากีสถาน) นั้นมาไกลมากจนถึงวันนี้ ถือว่าน่าจะเป็นโครงการเดียวที่ใหญ่ที่สุดของ BRI ซึ่งมีความสำคัญต่อทั้งสองประเทศ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่ปากีสถานขาดแคลนไฟฟ้า ปากีสถานนั้นเป็นพันธมิตรกับจีนมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันปากีสถานก็เป็นขั้วตรงข้ามกับอินเดียแล้วโครงการดังกล่าวยังทำให้จีนมีทางออกทางทะเลที่ทะเลอาหรับ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นแนวพรมแดนที่มีความอ่อนไหวของจีนซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดซินเจียง ดังนั้นมันจึงมีความสำคัญกับทั้งสองฝ่าย
บางประเทศในกลุ่มอาเซียนกังวลกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ จีนได้ทุ่มเงินจำนวนมากกับโครงการในกัมพูชา ลาว ซึ่งเหมือนเป็นการซื้อมิตรภาพจากสองประเทศนี้และพวกเขาได้เอื้อประโยชน์คล้ายกับอำนาจในการ VETO ภายในกลุ่มอาเซียนในการลงฉันทามติ สมมติว่าหากมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องทะเลจีนใต้ ก็พอจะอนุมานได้ว่ากัมพูชากับลาวนั้นจะอยู่ข้างจีน ป้องกันไม่ให้อาเซียนทำอะไรที่ส่งผลกระทบกับจีน
เมื่อเราพูดกันถึงเส้นทางสายไหมทางทะเล ความจริงก็คือ ทุกวันนี้จีนได้เข้ามาควบคุมส่วนแบ่งในท่าเรือ 75 แห่งใน 35 ประเทศ ซึ่งมันอาจไม่ได้มีไว้เพียงแค่จุดประสงค์ทางการค้า
ที่ประเทศเปรู ห่างจากกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรูราว 68 กิโลเมตรกำลังมีการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ในเมือง Chancay ซึ่งไม่ไกลจากบริเวณก่อสร้างท่าเรือนั้นจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ การสร้างท่าเรือดังกล่าว ที่เรียกว่า “Megapuerto” หรือ Megaport นั้นทำให้คนในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรื่องการสร้างท่าเรือนี้เป็นประเด็นถกเถียงกันเป็นเวลาหลายปี การถกเถียงดำเนินไปเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างระบบนิเวศกับระบบเศรษฐกิจ สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างท่าเรือแห่งนี้ก็มาจากจีน
ชาวเมือง Chancay นั้น ส่วนใหญ่อาศัยเลี้ยงชีพด้วยการทำประมง นอกจากนั้นแล้วยังมีโรงงานปลาป่นอยู่ราวๆ 90 แห่งกระจายอยู่ทั่วแนวชายฝั่งของเปรูที่ทอดยาวไปตามมหาสมุทรแปซิฟิคกว่า 3,000 กิโลเมตร ปลาป่นที่ผลิตได้ 97-98% จะถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้ว 70% ส่งไปขายที่จีน นั่นหมายความว่าจีนคือหนึ่งในผู้ซื้อปลาป่นรายใหญ่ที่สุด การมีท่าเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ในพื้นที่แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้าน ปริมาณปลาที่จับได้รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบ แล้วชาวประมงพื้นบ้านจะทำอย่างไรต่อไป
ที่ผ่านมาจีนเข้ามาจับปลาแบบผิดกฏหมายในน่านน้ำเปรู ไม่ว่าจะเป็นการใช้อวนลากในทะเลลึก ตกปลาหมึกยักษ์ เรือประมงของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ จำนวนเรือหาปลาขนาดใหญ่ของจีนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า
แพลทฟอร์มที่เรียกว่า Global Fishing Watch แสดงให้เห็นการเคลื่อนที่ของเรือประมงจีนได้เป็นอย่างดี ในเดือนกรกฏาคม เรือประมงจีนอยู่ทางตอนใต้ของเกาะกาลาปากอส หลังจากนั้นพวกเขาก็มุ่งลงใต้มายังชายฝั่งของเปรูและชิลีและบางทีก็ไปไกลถึงอาเจนตินาและนั่นคือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่มีกับจีน
จีนไม่ได้มาลงทุนในธุรกิจประมงของเปรู !! แล้วเหตุใดจีนถึงมาสร้างท่าเรือที่นี่ ?
….. ……..
เปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ต่างจากสหรัฐฯ เพราะไม่มีเงินมาอุดหนุนหรืออัดฉีดเศรษฐกิจ (ทำ QE) ปัญหาคอรัปชันและการบริหารจัดการที่ล้มเหลวยิ่งซ้ำเติมการพัฒนาเศรษฐกิจให้อ่อนแอลงไปกว่าเดิม
เปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 มากที่สุดในโลก การระบาดของโควิดนั้นทำให้เศรษฐกิจนอกระบบขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม ประเทศนี้มีทรัพยากรอยู่มากมายแต่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวจีน เรามีเหมืองลิเธียมทางตอนใต้ของประเทศอยู่ใกล้พรมแดนชิลี ลิเธียมนั้นมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมาก หลายประเทศต่างก็ให้ความสนใจ อย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ต้องการใช้ประโยชน์จากมัน
จีนมีการลงทุนในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาทั้งหมดรวมถึงเปรู พวกเขาต้องการสร้างท่าเรือทางตอนเหนือซึ่งจะช่วยเปิดเส้นทางเดินเรือในแถบแปซิฟิก สำหรับเปรูแล้วการประมงยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของคนท้องถิ่น แต่มีการลงทุนในส่วนนี้จากต่างประเทศน้อยมากแม้แต่จีนเองซึ่งเน้นลงทุนจำนวนมากไปกับการทำเหมืองแร่และไฮโดรคาร์บอนแต่ไม่มีการลงทุนด้านการประมง
นั่นก็คือเหตุผลที่จีนลงทุนสร้างท่าเรือ เพื่อเป็นศูนย์โลจิสติกส์ในแถบนี้ พวกเขาไม่ได้ส่งออกเฉพาะปลาป่นแต่ยังส่งแร่ที่ขุดได้ไปจีนอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ขนสินค้าจากจีนกลับมาเทียบท่าที่นี่ขายให้กับเปรูและกระจายไปยังประเทศโดยรอบ นั่นก็หมายความว่าท่าเรือที่สร้างขึ้นใหม่ที่นี่เป็นการอำนวยความสะดวกให้จีนเป็นส่วนใหญ่
แต่หากมองในฝั่งของเปรูที่อย่างน้อยก็อาจจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยพลิกฟื้นศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างท่าเรือขนาดใหญ่ที่รองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่โดยจะเข้ามาแทนที่ท่าเรือสำคัญของชิลีอย่างท่าเรือ San Antonio และ Mejillones
เปรูเป็นประเทศกำลังพัฒนา สามในสี่ของชาวเปรูทำงานอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ พวกเขาได้ค่าจ้างเป็นครั้ง ๆ ไป รวมถึงงานที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรการช่วยเหลือทางสังคมรองรับ ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะทำมันขึ้นมา คนที่มีการศึกษาดีก็พากันไปหางานทำในประเทศอื่น ผลลัพธ์ก็คือทำให้เศรษฐกิจของเปรูอ่อนแอลงทุกที
ในปี 2000 “Mibanco” เป็นธนาคารแห่งแรกในเปรูเพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับคนที่ยากจนมาก ๆ ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาค้ำประกัน ที่เรียกว่า “microloans” เศรษฐกิจนอกระบบนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของเปรู มันเป็นผลมาจากการอพยพที่ผู้คนมากมายพากันอพยพจากชนบทและพื้นที่แถบ Andean เข้ามาหางานทำในกรุงลิมา การปล่อยเงินกู้ไมโครเครดิตเช่นนี้ให้กับประชาชนในชนบท เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถช่วยตัวเองและเป็นการรวมพวกเขาเข้ากับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ชาวประมงหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า ชีวิตของเธอดีขึ้นจากไมโครเครดิต “ฉันมักจะไม่มีเงินติดบ้านเลย แต่ตอนนี้ฉันมีความสุขเพราะว่าลูก ๆ ได้ไปโรงเรียน ฉันสามารถช่วยครอบครัวได้”
แต่นั่นหมายความว่า เงินทุนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ยังมีเรื่องต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่งและอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นปัจจัยประกอบกันเพื่อที่จะทำให้สินค้าและบริการที่ตนผลิตในประเทศนั้น ๆ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก อย่าลืมว่าแม้แต่อุตสาหกรรมเหล็กของเยอรมนีก็ยังล่มสลายไปเพราะเหล็กราคาถูกจากจีน สะพานในสหรัฐฯพัง จะซ่อมสะพานยังต้องสั่งซื้อเหล็กจากจีน !
ข้อดีของโลกการค้าเสรีก็คือ มันเป็นการนำคนมารวมกันโดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ศาสนา แต่ทว่ามันก็นำไปสู่การสร้างผู้ชนะเพียงแค่หยิบมือ ซึ่งก็หมายถึงการมีคนจนอีกมากมายต้องเป็นผู้แพ้ หากคนจนเหล่านั้นไม่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมา พึ่งพาตัวเองได้หรือไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากรัฐแล้วเพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันที่เปิดกว้าง โลกการค้าเสรีก็ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับประเทศและจะยิ่งโหดร้ายกับคนที่ไม่มีความพร้อม รวมถึงผลกระทบที่ตามมาอาจทำให้เศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือว่าการเกษตรล่มสลายลงได้ภายในะระยะเวลาไม่นาน