ยุโรปเผชิญวิกฤติพลังงาน

Listen to this article

ประชาชนชาวยุโรปมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนหลัก ๆ ก็คือค่าไฟกับค่าก๊าซในแต่ละเดือน ในฤดูหนาวความอบอุ่นในบ้านส่วนใหญ่แล้วก็มาจากก๊าซที่ทำให้พวกเขาผ่านคืนและวันอันหนาวเหน็บไปได้

ฟังดูก็ไม่เห็นมีอะไร

ทุก ๆ หนึ่งในสี่หลังของบ้านชาวยุโรป พวกเขาต้องเลือกว่าจะใช้เงินที่มีไปกับค่าก๊าซให้ความร้อนหรือว่าจะเอาไปซื้ออาหาร มีชาวยุโรปราว ๆ 31-50 ล้านคน ที่จัดว่าเป็นกลุ่มผู้ที่ขัดสนทางพลังงาน fuel poverty หรือพูดง่าย ๆ ให้เห็นภาพว่า พวกเขาเหล่านี้จะต้องทนหนาวอยู่หลายวันหรืออาจจะเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว

แสดงว่าก๊าซมีราคาแพงหรือ ทำไมการเข้าถึงช่างดูยากเย็น

แล้วทำไมยุโรปถึงเลือกใช้ก๊าซเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับทำความร้อน

ต่อคำถามที่ว่านี้ เรากำลังพูดถึงทวีปยุโรปที่กำลังต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงาน ซึ่งรัฐบาลของอังกฤษและอีก 27 ประเทศในสหภาพยุโรปกำลังหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว รัฐบาลของสเปนและฝรั่งเศสได้ลดภาษีพลังงานเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ส่วนทางด้านอิตาลีก็อนุมัติเงินอุดหนุนช่วยเหลือเป็นจำนวนถึง 5.5 พันล้านเหรียญฯ สำหรับสวีเดนมีบ้านเรือนกว่า 1.8 ล้านหลังคาเรือนที่ขาดแคลนก๊าซเพื่อทำความร้อน

ยุโรปกำลังต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงาน ส่วนคนยุโรปเองก็ต้องเผชิญกับรายได้ที่หายไปจากการใช้พลังงาน



เหตุใดราคาก๊าซถึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ที่ผ่านมามีอะไรผิดพลาดหรือไม่ แน่นอนว่าการระบาดของโควิด 19 ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้เพราะยุโรปเองไม่ได้คาดคิดถึงวิกฤติสาธารณสุขและผลที่ตามมา สำนักงาน ร้านค้า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปิดทำการชั่วคราว ส่วนทางด้านโรงงานก๊าซก็ต้องมีการปิดซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งมีคนทำงานในแต่ละวันน้อยลงอันเป็นผลเนื่องจากมาตรการป้องกันโควิดและผู้คนก็ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน

หากไม่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ยังพอมีตัวเลือกพลังงานทดแทนอื่น ๆ ไหม

ยุโรปได้ลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินแล้วปรับมาใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วนที่มากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากน้ำ ลมและแสงแดดนั้น เก็บรักษาได้ยากและเมื่อเกิดความต้องการใช้พลังงานพุ่งสูงขึ้นทันทีทันใดก็ไม่อาจเร่งการผลิตตอบสนองต่อความต้องการนั้นได้ทันท่วงที

การที่สหภาพยุโรปมีฉันทามติร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ทำให้การใช้ถ่านหินเป็นเรื่องที่แทบจะไม่นำมาคิดอีกต่อไป เก้าประเทศในยุโรปรวมทั้งเบลเยี่ยมและสวีเดนเลิกใช้ถ่านหินเป็นการถาวร โดยสวีเดนได้ปิดโรงงานถ่านหินแห่งสุดท้ายไปในปี 2020

…………………………….

การรื้อถอนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

ทีนี้เราลองมาดูตัวเลขการผลิตพลังงานของยุโรปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ซึ่งพบว่าสัดส่วนสองในสามของพลังงานที่ผลิตได้นั้นเป็นพลังงานสะอาดซึ่งได้มาจาก พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ คิดเป็นสัดส่วน 39% ถัดมาเป็นพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งสะอาดกว่าพลังงานฟอสซิลคิดเป็น 27% ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2019 และปิดท้ายด้วยตัวเลขพลังงานจากถ่านหินที่ลดลงไปเหลือเพียง 14% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เยอรมนีได้ทำการรื้อถอนเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 3 เตาจากทั้งหมด 6 เตา แล้วเตาที่เหลืออีก 3 เตานั้นได้มีแผนจะหยุดทำการภายในปี 2022

ประเด็นก็คือว่า หากเราลดสัดส่วนการผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ลงไป ทั้งที่เป็นพลังงานที่พึ่งพาได้ เปิดปุ่ม ปรับสวิตซ์เร่งการทำงาน พลังงานก็ออกมาตามความต้องการใช้ หากลดสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์ลงไปแล้ว หมายถึงเราก็จะต้องไปเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจากธรรมชาติแทน ซึ่งไม่สามารถเร่งการผลิตได้ทันทีทันใดให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เยอรมนีไม่ได้มีโซลาฟาร์มหรือกังหันลมที่เตรียมไว้ชดเชยกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น นี่ยังไม่นับถึงว่า ไฟถนน หนทาง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังคงสว่างไสวตามเดิมไม่ได้ปิดหรือดับลง

………

เมื่อภาพรวมเป็นดังนี้ สิ่งที่จะมาทดแทนความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นแบบฉับพลันนั่นก็คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก็วนกลับมาที่เราพูดถึงไปในตอนต้นว่าทำไมประชากรในยุโรปถึงต้องทนหนาวเพราะขาดก๊าซมาทำความร้อนในบ้าน

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในยุโรปรองจากรัสเซีย โดยในเดือนมีนาคม 2018 รัฐบาลดัตช์ได้ปิดโรงงานผลิตแก๊สที่แหล่งโกรนนิงเกนซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปยาวไปจนถึงปี 2030 เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากการที่โรงงานได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว

………………….


สหภาพยุโรปจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อให้ทันกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

ในปี 2019  สหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเกือบ 90%

โดยรัสเซียครองส่วนแบ่งตลาดที่ 43% ตามมาด้วยนอร์เวย์ที่ 23% ตามมาด้วยแอลจีเรียน 12%  UK และ US  รายละ 5% ตามลำดับ มีประเทศเดียวที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดคือรัสเซีย ซึ่งหากรัสเซียเพียงแค่เปิดปิดวาล์วท่อส่งก๊าซ ยุโรปก็จะเจอวิกฤติพลังงานอีกเหมือนเดิม !!

ดังนั้นจึงต้องหาทางออกสำรองไว้ สหภาพยุโรปจึงได้หันกลับไปยังการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เป็นการชั่วคราว

LNG คืออะไร

Liquefied Natural Gas (LNG) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพจากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังที่ต่างๆ ที่มีระยะทางไกลๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน

ในเดือนตุลาคม ปี 2021 เรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวน 49 ลำจากสหรัฐฯ นำเข้า LNG เข้ามาชดเชยความต้องการพลังงาน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำให้วิกฤติขาดแคลนพลังงานยังอยู่ในการควบคุม ซึ่งในตลาด LNG สหรัฐฯ กับ รัสเซียก็กำลังแข่งขันกันครองตลาด

แต่ปัญหาของ LNG ก็คือว่ามีการแข่งขันจากประเทศใหญ่อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่แซงหน้าญี่ปุ่นซื้อ LNG ในรอบห้าปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหามลภาวะ นั่นคือยุโรปมักจะแข่งราคาสู้ไม่ได้ ซึ่งตามกลไกตลาดก็จะเร่งให้ราคาสูงขึ้นนั่นเอง ทำให้ LNG เป็นตัวเลือกที่แย่ ที่จะนำมาแก้ปัญหาพลังงาน

ถ้ามองภาพรวมแล้วลงตัวที่สุดสหภาพยุโรปก็ต้องสั่งซื้อก๊าซจากรัสเซียซึ่งได้มิติความร่วมมือทั้งทางเศรษฐกิจและทางการฑูตรวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดจากทุกช่องทางเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน

Nord Stream 2


แล้ว Nord Stream 2 คืออะไร

Nord Stream 2 คือโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท Gazprom ของรัสเซียกับกลุ่มบริษัทในสหภาพยุโรปเพื่อทำการวางท่อก๊าซความยาวรวม 1,230 กิโลเมตรจากเมืองอัสลูกาในรัสเซียลอดผ่านทะเลบอลติกไปขึ้นฝั่งที่เมืองลูบมินในเยอรมนี ซึ่งโครงการดังกล่าวสำเร็จในปี 2021 แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนีก่อน แล้วก็บังเอิญที่มีเหตุความขัดแย้งจนขยายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนเกิดมาตรการแซงชั่นรัสเซียในมิติต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งหากยุโรปจะแซงชั่นรัสเซียเพื่อแลกกับการถูกปิดวาล์วส่งก๊าซนั้นน่าจะไม่ใช่ทางออกที่ดีของการแก้ปัญหา

รัสเซียเป็นแหล่งก๊าซแห่งเดียวสำหรับแลทเวียและสาธารณรัฐเชคที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย100% ฮังการี 94% ส่วนทางด้านสโลวาเกียและบัลแกเรีย ราว ๆ 85.4% และ 72.2% ตามลำดับ

ประเทศเหล่านี้ไม่อาจจัดหาพลังงานอื่นมาทดแทนได้ดังนั้นก็ไม่อาจร่วมแซงชั่นรัสเซียได้เช่นกัน

สหภาพยุโรปจะแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานต่อไปอย่างไร เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เพราะเราอาจจะนำมาใช้กับประเทศของเราได้เช่นกัน

สนับสนุนการทำบทความ กดไลค์ กดแชร์ หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเราได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM
บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4

Similar Articles

Comments

พื้นที่ลงโฆษณา

สนใจลงโฆษณา ติดต่อ herothailand.com ราคาเพียง 500 บาทต่อปี

Advertisement

โปรโมชั่น 2 ขวด Protriva Black seeds อาหารเสริมน้ำมันงาดำ จำนวน 2 ขวด

Royal Kludge RK68

Royal Kludge RK68 RGB Hotswap USB HUB คีย์บอร์ดเกมมิ่งคีย์ไทย ไร้สายบลูทูธและมีสาย เปลี่ยนสวิตซ์ได้ เลเซอร์ไทย - English

Most Popular

Advertisement SHOPEE THAILAND

บ้านน้องแมว ทำจากไม้