หลายคนอาจจะมีคำถามว่าศรัทธากับความเชื่อนั้นแตกต่างกันอย่างไร ?
ศรัทธาเป็นของหินเหล็กไฟ ส่วนความเชื่อนั้นเป็นของ Bodyslam
ปี 1944 ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองใกล้ยุติ (World War II Sep 1, 1939 – Sep 2, 1945) ชาติพันธมิตรได้พบกันที่เมืองเบร็ตตันวูด รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ลงฉันทามติร่วมกันสร้างระบบการเงินโลกขึ้นใหม่เพื่อที่จะทำให้โลกมีเสถียรภาพหลังสงคราม เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกเลือกให้เป็นสกุลเงินสำรองต่างประเทศของโลก ระบบเบร็ตตันวูดส์นี้แทนที่จะใช้ทองคำเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนกับสกลุเงินต่างประเทศคือนำสกุลเงินไปแลกกลับมาเป็นทองคำอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น แต่ได้เปลี่ยนจากทองคำมาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ แทน การที่เลือกใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นก็เพราะก่อนหน้านี้ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีความเสถียรไม่ต่างจากทองคำ
ภายใต้ระบบใหม่นี้ ประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องต้องกันในการที่จะตรึงค่าเงินของพวกเขาไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ผูกค่าอยู่กับทองคำในอัตรา 35 เหรียญฯต่อออนซ์ นั่นก็หมายความว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินของตนกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นก็นำไปเปลี่ยนเป็นทองคำได้ในภายหลัง ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้สกุลเงินทั้งหมดจำเป็นจะต้องมีทองคำหนุนหลังหรืออิงกับทองคำ
เมื่อมีการแลกเปลี่ยนค่าเงินกับทองคำ แทนที่จะต้องขนทองคำจริง ๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปค่อนโลก เสี่ยงกับเรือหาย เรือจม โจรสลัด โปนจ้น เอ๊ย ! โจรปล้น ดังนั้นเวลาที่ประเทศต่าง ๆ ต้องการแปลงเงินของพวกเขาให้เป็นทองคำก็มักเลือกที่จะฝากทองคำไว้ในที่ปลอดภัยบนแผ่นดินอเมริกาแทน
เมื่อเวลาผ่านไป สหรัฐฯ ได้หันมาใช้นโยบายขาดดุลเรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเวียดนาม หลายประเทศก็พากันแลกดอลลาร์สหรัฐฯของพวกเขากลับมาเป็นทองคำ นำโดยฝรั่งเศส
ด้วยนโยบายการใช้จ่ายและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาของสหรัฐฯ หลายประเทศเริ่มแสดงความกังวลว่าสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินมากเกินกว่าปริมาณทองคำสำรองที่มี ดังนั้นพวกเขาจึงหันมาแลกเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ถือครองอยู่เปลี่ยนไปเป็นทองคำในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการที่จะเก็บรักษาทองคำไว้เองไม่ต้องการฝากไว้บนแผ่นดินสหรัฐฯ เหมือนเช่นแต่ก่อน
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทองไหลออกจากแผ่นดินอเมริกาไปมากกว่านี้ ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน จึงสั่งให้หยุดระบบการแลกเปลี่ยนทองคำกับดอลลาร์ไว้เป็นการชั่วคราว
…….
ความสำคัญของทองคำก็คือการเป็นหลักประกันให้กับรัฐบาลในการใช้จ่าย ภายใต้ระบบเดิม หากบริหารประเทศโดยใช้งบประมาณขาดดุล สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือทองคำจะไหลออกจากประเทศจนกระทั่งลดลงมาถึงจุดสมดุลอีกครั้ง แต่เมื่อเราไม่ต้องอ้างอิงกับทองคำ ไม่ต้องใช้ทองคำมาค้ำ ประเทศต่างๆ ก็จะดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลกันอยู่เสมอ ๆ นับตั้งแต่ที่เราออกจากระบบมาตรฐานทองคำ ส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลต่าง ๆ ก็มักจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด ไม่ว่าจะผ่านช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่แย่ แต่ทั้งหมดนี้ก็ดำเนินไปในหลักการงบประมาณขาดดุล
ที่ผ่านมาสหรัฐฯใช้นโยบายขาดดุลอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 60 ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มงบประมาณไปกับการทหารหรือว่างบประมาณเพื่อปากท้องประชาชนซึ่งในช่วงเวลานั้นรัฐบาลเองก็ต้องตัดสินใจกับสงครามเวียดนามที่กำลังดำเนินอยู่อีกด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ต้องหาเงินอุดหนุนโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์รวมถึงโครงการอวกาศทั้งหมด สหรัฐฯ ต้องพิมพ์เงินออกมามากกว่าทองคำสำรองที่ตนเองมี ประเทศต่าง ๆ ที่มองเห็นความไม่น่าไว้ใจดังกล่าวจึงเริ่มที่จะขอคืนทองคำที่ฝากไว้ เพราะว่าพวกเขารู้สึกได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นั้นมีทองคำสำรองไม่เพียงพอที่จะใช้ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินดอลลาร์
ประธานาธิบดีนิกสัน ตัดสินใจออกจากระบบมาตรฐานทองคำในปี 1971
การนำเงินดอลลาร์ออกจากมาตรฐานทองคำ ประธานาธิบดีนิกสันได้สร้างระบบลอยตัวค่าเงินที่ไม่ต้องค้ำด้วยสินทรัพย์ใด ๆ ซึ่งเรารู้จักกันในนาม Fiat Currency (ออกเสียงว่า ฟีเอท พูดเร็วๆ ก็จะเป็นเฟียต เคอเรนซี )
Fiat currency คือสกุลเงินที่ไม่มีอะไรค้ำประกันนอกจากคำมั่นสัญญาของรัฐบาล หากผู้คนมีความเชื่อมั่นในสกุลเงินดังกล่าวบวกกับการที่รัฐบาลมีแรงผลักดันมากเพียงพอที่จะทำให้สกุลเงินดังกล่าวถูกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกก็จะยังคงความเชื่อมั่นและความนิยมในสกุลเงินดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดังกล่าวแข็งค่าขึ้น แต่หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินดังกล่าวถดถอยลง ค่าเงินสกุลดังกล่าวก็จะอ่อนค่าลงเช่นกัน
ด้วยการที่สกุลเงินต่างๆ ไม่ได้มีสินทรัพย์อะไรที่จับต้องได้มาค้ำประกันมูลค่าของมันอีกต่อไป มูลค่าของมันจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับค่าเงินสกุลอื่น ด้วยการที่หลายประเทศมีค่าเงินที่ค่อนข้างอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการในราคาถูกได้ ในบางครั้งจะเห็นว่ามีวิธีการแทรกแทรงเพื่อลดค่าเงินของตนเพื่อที่จะคงความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากค่าเงินสกุลอื่นล้วนต้องอ้างอิงค่าของมันกับดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนลง ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ก็จะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขา
หากสกุลเงินไม่อิงกับมาตรฐานทองคำ ไม่มีทองคำค้ำมูลค่าของเงินที่พิมพ์ออกมาแล้วนั้นกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็สามารถยืมเงินรวมถึงใช้จ่ายเงินเหล่านั้นได้มากตามที่ต้องการ เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯต้องการใช้เงินก็จะทำการกู้เงินกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จากนั้น FED ก็จะพิมพ์วงเงินกู้ดังกล่าวออกมา ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็จะออกพันธบัตรรัฐบาลออกมาเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อพันธบัตรเป็นการดึงดูดเม็ดเงินกลับเข้ารัฐ นำไปใช้จ่ายในส่วนค่าใช้จ่ายภาครัฐ ชำระหนี้และภาระผูกพันต่าง ๆ
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในพันธบัตรที่มีความมั่นคงมากที่สุดในโลก แล้วเหตุใดนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายย่อยไปจนถึงกองทุนขนาดใหญ่ถึงจะไม่เข้าซื้อถือครองไว้ในพอร์ทการลงทุนล่ะ ?
การให้รัฐบาลกู้ยืมเงินนั้นก็เสมือนเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงต่ำมาก อย่างไรก็ตาม หากเงินกู้ยืมดังกล่าวถูกใช้ไปกับค่าใช้จ่ายภาครัฐและจ่ายคืนเงินกู้ก่อนหน้า รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาจ่ายคืนเงินกู้งวดล่าสุดนี้รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินครั้งล่าสุดนี้กันเล่า ?
การสร้างหนี้ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องหาเงินมาจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย เมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่มีเงินจ่าย ทำอย่างไรทีนี้ พวกเขาก็ต้องกู้เงินรอบใหม่เพื่อมาจ่ายเงินกู้รอบเก่าแล้วต้องมีเหลือสำหรับชำระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันอีกบางส่วน เท่ากับว่าต้องกู้เงินก้อนใหญ่ขึ้นซึ่งจะทำให้จมลงไปในกองหนี้ลึกมากขึ้นทุกที
Advertisement | Shopee![](https://down-tx-th.img.susercontent.com/th-11134207-7r98t-lmlos6jkmbd375.webp)
Volcan Energon 300 ความจุ 100800mAh Portable Multi-function Power Station
อ่านมาตั้งนาน มันก็เป็นเรื่องของสหรัฐฯ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา ประเทศใครก็ประเทศมันสิ ใช่หรือเปล่า ?
นับตั้งแต่ปี 1971 สหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการค้ากับคู่ค้าจากทั่วโลก นั่นหมายความว่าสหรัฐฯซื้อสินค้าจากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก มากกว่าที่ประเทศอื่น ๆ ซื้อจากสหรัฐฯ อย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีขายรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สหรัฐฯ ตะวันออกกลางขายน้ำมัน ส่วนจีนนั้นดูเหมือนจะขายทุกอย่างให้ด้วยซ้ำ สหรัฐฯ จ่ายเงินซื้อสินค้าเหล่านี้ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และคู่ค่าทุกคนก็เต็มใจรับดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากประเทศเหล่านี้แปลงกำไรที่ได้ในสกุลเงินดอลลาร์กลับไปเป็นสกุลเงินของตนเอง ก็จะส่งผลให้ค่าเงินของตนเองแข็งค่าขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้สินค้าของพวกเขามีราคาสูงขึ้นแข่งขันในตลาดโลกได้ลดลง ดังนั้นประเทศเหล่านี้เมื่อได้รับกำไรในรูปของสกุลเงินดอลลาร์แล้ว พวกเขาก็จะนำไปลงทุนด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ การที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกขายสินค้าของพวกเขาให้กับสหรัฐฯ โดยรับเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินที่กู้ยืมมาจากธนาคารกลางนั่นเองโดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นสิ่งค้ำประกัน ประเทศต่าง ๆ เมื่อได้รับกำไรจากการค้าในรูปสกุลเดินดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วนั้นก็นำเงินดังกล่าวกลับไปปล่อยกู้ให้กับสหรัฐฯ อีกทอดด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และซื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนเงินกู้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับมานั้นก็จะนำไปใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐรวมถึงนำไปชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยของงวดก่อนหน้าด้วย จากการที่ต้องชำระหนี้เงินกู้งวดก่อนหน้าด้วยเงินกู้ก้อนใหม่ที่มากกว่าเดิมนั้น มันก็เหมือนกับการที่โลกทั้งโลกกำลังนำเงินลงทุนที่หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขาลงไปใน Ponzi scheme กลโกงของพอนซี ในสเกลระดับโลก วนลูปไปเรื่อยๆ
เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องยืมเงินจากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเงินจำนวนมากที่ทั้งโลกให้สหรัฐฯ กู้ยืมในวันนี้ก็จะเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีในอนาคตด้วย ถ้าหากวันใดที่ไม่มีคนซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ก็เหมือนหยุดปล่อยเงินกู้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะล่มสลายลงในทันที รวมทั้งการที่สหรัฐฯ ไม่สามารถชำระหนี้คืนให้แก่พวกเขาได้
คำถามชวนคิด
- หากประเทศยักษ์ใหญ่เทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในที่สุดก็ต้องมีประเทศอื่นวนเข้ามาซื้อต่ออยู่ดี ไม่ล่มสลายหรอก ?
- สหรัฐฯ อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล มันก็ต้องมีสักวันที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ นำมาใช้หนี้ได้ ?
- มีใครเคยเข้าไปนับจำนวนทองคำที่ได้ฝากไว้จริงกับจำนวนที่ลงบัญชีว่าตรงกันหรือไม่ ? ถ้าไม่ตรงจะทำอย่างไร ?
แล้ว Ponzi scheme กลโกงของพอนซี คืออะไร ?
แนะนำบทความ : อะไรแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ได้บ้าง