ในช่วง 50 -60 ปีที่ผ่านมา การเดินทางไปอวกาศหรือการศึกษาเกี่ยวกับอวกาศจะมีเพียงกลุ่มประเทศแค่หยิบมือเท่านั้นที่ทำได้ เพราะต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการทำโครงการอวกาศไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างดาวเทียมหรืออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายในการสร้างและปล่อยจรวดขนส่ง ค่าใช้จ่ายเรื่องเจ้าหน้าที่และสถานี เป็นต้น
ราวปี 2008 การปล่อยจรวด Falcon 1 ที่สร้างโดย SpaceX ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่มีมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จในโครงการอวกาศ SpaceX ต้องใช้เวลา 7 ปี เริ่มต้นจากศูนย์จนสามารถส่งจรวดลำแรกขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ
เมื่อเห็นตัวอย่างที่ภาคเอกชนสามารถกรุยทางไปสู่อวกาศได้แล้วจากเดิมที่ทำได้แต่ในภาครัฐ จึงทำให้มีบริษัทต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเกือบ 400 บริษัทที่มุ่งเน้นทำธุรกิจอวกาศซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทสร้างจรวดและดาวเทียม
…………. …………………………
แต่ที่เรารู้จักและเห็นกันตามสื่อบ่อย ๆ นั้นก็เห็นจะเป็นสามบริษัทของมหาเศรษฐีอย่าง SpaceX ของอีลอน มัสก์ Blue Origin ของเจฟฟ์ เบโซส เจ้าของ Amazon และ Vergin Galactic ของเซอร์ ริชาร์ด แบรนด์สัน โดยสองบริษัทหลังเน้นธุรกิจที่พานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอวกาศในระดับวงโคจรต่ำ แต่ที่เป็นจุดร่วมกันของบริษัทที่ทำธุรกิจอวกาศก็คือการลดต้นทุนโดยเน้นการใช้จรวดหรืออากาศยานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ยิ่งลดต้นทุนการเดินทางไปอวกาศได้มากเท่าไหร่ ความถี่ในการเดินทางไปอวกาศก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีผู้ทำได้ให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ผู้คนจำนวนมากก็ตระหนักว่าตนเองก็น่าจะทำได้หรือน่าจะมีโอกาสได้เดินทางขึ้นไปในอวกาศสักครั้งในชีวิต
จะมีศัพย์ที่เรียกว่า NewSpace ซึ่งโดยกว้าง ๆ แล้วหมายถึงการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขยายพรมแดนการสำรวจอวกาศให้กว้างไกลออกไปพร้อมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจที่รองรับในส่วนนี้ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะเรียกว่า NewSpace economy
…….
วันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2021 เจฟฟ์ เบโซส หนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลก เขาเป็นเจ้าของค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Amazon และยังเป็นเจ้าของบริษัท Blue Origin พร้อมลูกเรืออีกสามคน ได้เดินทางขึ้นไปกับยานอวกาศ New Shepard ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วน ได้แก่ส่วนของจรวดและส่วนของแคปซูลห้องโดยสาร โดยทั้งสองส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งสี่คนได้ขึ้นไปถึงรอยต่อระหว่างชั้นบรรยากาศของโลกกับอวกาศที่เรียกว่าระดับ Suborbital ระดับความสูงจากพื้นโลก 107 กิโลเมตร เพื่อสัมผัสกับภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลาราว 4 นาที
ก่อหน้านั้นไม่นาน ในวันที่ 11 กรกฏาคม เซอร์ริชาร์ด แบรนด์สัน เจ้าของบริษัทท่องเที่ยวอวกาศ Virgin Galactic ก็ได้ขึ้นยานที่ชื่อว่า Space plane เพื่อไปสัมผัสกับภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลาไม่กี่นาทีมาแล้วเช่นกัน
การท่องอวกาศด้วยยานพาหนะแบบใหม่และเป็นของเอกชนทั้งสองเที่ยวบินนี้ได้กระตุ้นให้ผู้คนทั่วทั้งโลกถึงการเดินทางท่องอวกาศของพวกเขาเองบ้าง นี่เป็นการเปิดศักราชใหม่ของยุคการท่องเที่ยวอวกาศ
ทางด้าน SpaceX เองก็มีความก้าวหน้าไปอีกขั้น ในวันที่ 15 กันยายน ปีเดียวกัน ทาง SpaceX ได้ปล่อยยาน Inspiration 4 เพื่อทำภารกิจนำมนุษย์ขึ้นไปยังวงโคจร โดยภารกิจดังกล่าวได้นำมนุษย์ขึ้นไปที่ความสูง 590 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งสูงกว่าการท่องอวกาศในทั้งสองเที่ยวบินก่อนหน้านั้นที่ยังอยู่เพียงในระดับ suborbital และสูงกว่าสถานีอวกาศนานาชาติด้วยซ้ำ (408 กิโลเมตรจากพื้นโลก) แล้วใช้เวลาโคจรรอบโลกเป็นเวลา 3 วัน เที่ยวบินส่วนตัวไปอวกาศนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ไปถึงระดับวงโคจร (วงโคจรต่ำ < 2,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก) โดยไม่มีนักบินอวกาศร่วมเดินทางไปด้วย นี่คือการเริ่มต้นของการแข่งขันที่ตื่นเต้นกับธุรกิจการท่องอวกาศ
…………………
ในด้านอวกาศแล้ว ทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีบริษัทเอกชนที่สนใจในด้านอวกาศเกิดขึ้นมากมายกำลังสร้างเทคโนโลยีที่ผลักดันการดำรงอยู่ของมนุษยชาติให้ขยายออกไปสู่นอกโลกเร็วกว่าที่เคย ซึ่งการปฏิวัติทั้งหมดนี้จะทำให้เราขยายขอบเขตของโลกสีน้ำเงินอันสวยงามของเราออกไปและกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่สามารถดำรงชีพข้ามดาวได้อย่างแท้จริง

ดังคำกล่าวของนักฟิสิกส์ นวัตกรและวิศวกรการบินชาวรัสเซีย คอนสตันติน ซีออลคอฟสกี Konstantin E. Tsiolkovsky .”Earth is the cradle of humanity, but one cannot remain in the cradle forever.” โลกเป็นเหมือนกับเปลเด็กสำหรับมนุษยชาติ แน่นอนว่าเราคงไม่อาจอยู่ในเปลนั้นได้ตลอดไป
………………
นับตั้งแต่การส่งยานสปุตนิกส์ (Sputnik 1957) มาจนถึงการส่งยานอพอลโล่ไปลงดวงจันทร์ เรามีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีในการสำรวจอวกาศอย่างมหาศาล นำโดยฝั่งของรัฐบาล สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ต่างก็แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศเพื่อหาทางส่งคนไปลงดวงจันทร์ จากการแข่งขันกันทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รุดหน้าและทำสำเร็จหลายอย่าง แต่พอหมดยุคสงครามเย็นก็ไม่มีปัจจัยมากระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันเหมือนเดิม การพัฒนาในส่วนนี้จึงดูถดถอยลงไปรวมทั้งต้นทุนในโครงการสำรวจอวกาศนับตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปี 2010 นั้นไม่ได้ลดลงเลยซึ่งมันไม่น่าเป็นไปได้หากเราลองเทียบกับความก้าวหน้าในสาขาอื่น ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ ในขณะที่ราคาของคอมพิวเตอร์ถูกลงนับจากปี 1970 ถึงปี 2010 ความสามารถของคอมพิวเตอร์กลับเพิ่มขึ้นหลายพันเท่า แต่ไม่เป็นเช่นเดียวกันนี้กับเทคโนโลยีด้านอวกาศที่ดูเหมือนจะหยุดนิ่ง
หลังจากนั้นราว ๆ ปี 2010 ด้วยปฏิบัติการ Falcon 9 และการทำให้จรวดขนส่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งช่วยลดต้นทุนการปล่อยจรวด โดยช่วยลดต้นทุนจาก 10,000 เหรียญฯ ต่อกิโลกรัมเหลือเพียง 2,000 เหรียญฯ ต่อกิโลกรัม
บริษัทอย่าง SpaceX และ Blue Origin ซึ่งนอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ว่ามาแล้วนี้ที่ได้คิดค้นพัฒนาสร้างจรวดที่มีขนาดใหญ่ มีแรงยกสูงและสามารถนำมากลับมาใช้ได้นั้น ก็ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งที่มุ่งจับกลุ่มเป้าหมายตลาดเกิดใหม่โดยการสร้างจรวดที่มีขนาดเล็กลงพร้อมทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการใช้ปล่อยดาวเทียมหรือวัตถุที่มีน้ำหนักไม่มากเข้าสู่วงโครจรของโลก โดยหลักการทำให้ต้นทุนต่ำนั้นจะอาศัยการใช้จรวดสองท่อน หลังจากการแยกตัวของจรวดทั้งสองท่อนนั้น จรวดท่อนแรกจะตกลงสู่ทะเล โดยมีร่มชูชีพคอยประคองการตกเพื่อจะได้นำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนจรวดท่อนที่สองจะจุดระเบิดแล้วพุ่งขึ้นไปต่อจนเข้าสู่วงโคจรของโลก จากนั้นก็จะปล่อยวัตถุซึ่งหลัก ๆ ก็คือดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร จากนั้นจรวดท่อนที่สองก็จะตกลงมาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศถูกเผาไหม้จนหมด
…. …… ….
การนำกลับมาใช้ใหม่เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางด้านอวกาศ ทำให้เราสามารถขึ้นไปถึงวงโคจรของโลกได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงกว่าหลายปีก่อนหน้านี้ ดังนั้นแล้วอวกาศจึงเปิดกว้างให้พวกเราเข้าถึงมากขึ้นและเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
……… …….
บริษัทอย่าง Astra ผู้ผลิตจรวดที่ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย คริส เคมป์ ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและซีอีโอบอกว่า บริษัทเราไม่ได้ใช้วัสดุที่หายากหรือว่าแปลก แต่กำลังสร้างจรวดจากอลูมิเนียมซึ่งมันสามารถดัดโค้ง เชื่อม ได้อย่างรวดเร็ว โดยแนวคิดก็คือ หากเราสามารถผลิตจรวดได้เหมือนเราผลิตรถยนต์หรือว่าเครื่องบินซึ่งใช้เวลาไม่นานและลดต้นทุนได้มาก ก็จะทำให้ตลาดตรงนี้เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นกัน
โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการผลิตจรวดจากรายเดือนในปีนี้ ให้เป็นการผลิตได้รายสัปดาห์ในปี 2023 และสองอาทิตย์ต่อลำในปี 2024 รวมถึงสามารถผลิตจรวดได้รายวันในปี 2025 ซึ่งนอกจากผลิตจรวดแล้วก็จะมีบริการปล่อยจรวด โดยตั้งเป้าปล่อยจรวดให้ได้อย่างน้อย 1 ลำต่อวันซึ่งต้องหาทางลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างแรงจูงใจ
ทำไมถึงคิดว่าจะสร้างและปล่อยจรวดได้ถี่ขนาดนั้น ?
เนื่องจากในปัจจุบันมี Startups ที่ทำเกี่ยวกับดาวเทียมเกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อพวกเขาต้องการปล่อยดาวเทียมกลับต้องรอคิวเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรืออาจจะหลายปี ต้องรอคิวอนุมัติจากบริษัทใหญ่ที่รับปล่อยดาวเทียมซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่ง ดังนั้นกำหนดการปล่อยดาวเทียมของพวกเขาจึงกลายเป็นกำหนดการที่บริษัทรับปล่อยดาวเทียมสะดวกแทน!
ถ้าหากบริษัทเล็ก ๆ สักแห่งต้องการใช้จรวดของ SpaceX เพื่อปล่อยดาวเทียมดวงเล็ก ๆ จะมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งราว 60 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นการส่งขึ้นไปพร้อมกับคิวการส่งดาวเทียมดวงใหญ่อีกที เมื่อดาวเทียมดวงใหญ่ถูกปล่อยออกไปแล้ว ดาวเทียมของพวกเขาก็จะถูกปล่อยตามมา จากนั้นดาวเทียมก็ต้องจุดระเบิดเครื่องยนต์ขนาดเล็กของตัวเองเพื่อดันตัวเองให้ไปยังตำแหน่งในวงโคจรที่ต้องการ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมารับประกันได้ว่าจะเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการนั้นได้จริง ๆ

ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ Astra มองเห็น จึงพยายามสร้างจรวดให้เสร็จเร็ว ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการปล่อยดาวเทียมดวงเล็ก ๆ ซึ่งจะสามารถส่งเข้าไปใกล้เคียงกับตำแหน่งที่ต้องการมากกว่าการฝากขึ้นไปตามการปล่อยดาวเทียมดวงใหญ่ อย่างเช่น ถ้าคุณต้องการปล่อยดาวเทียมสักดวง ก็เพียงแค่เข้าไปในเว็บไซต์ คลิกจองเวลาปล่อยดาวเทียม จากนั้นก็ส่งดาวเทียมของคุณไปที่ Astra แล้วก็หวังว่าภายในระยะเวลาสองหรือสามสัปดาห์ดาวเทียมดวงดังกล่าวก็จะเข้าไปอยู่ในวงโคจรเรียบร้อย
มันก็เหมือนกับการที่ Amazon มีคลังสินค้าขนาดใหญ่และมีรถบรรทุกเพื่อส่งสินค้า เขาไม่ได้ใช่เครื่องบินลำใหญ่ไปจอดส่งของตามท้องถนน การจัดส่งสินค้าก็ใช้เพียงรถตู้คันหนึ่งแล้วก็มีคนเดินเอาของมาส่งให้เรา จริงๆ เราต้องการแค่สเกลที่มันเหมาะสมเท่านั้นเอง
ในขณะที่เที่ยวบินส่วนตัวไปอวกาศกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแต่อัตราความสำเร็จยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก มีจรวดของ Start up กว่า 20 ลำที่ไม่ประสบความสำเร็จและมีอย่างน้อยอีก 80 ลำ ที่กำลังจะทดสอบยิงขึ้นจากโลก ในตอนนี้มีเพียงบริษัทเอกชนสองแห่งคือ SpaceX และ Rocket Lab ที่ทำภารกิจปล่อยจรวดไปอวกาศได้อย่างต่อเนื่องและ Astra อาจจะเป็นบริษัทที่สามที่ทำอย่างนั้นได้
…… …….
เม็ดเงินจำนวนหลายแสนล้านเหรียญฯ หมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมดาวเทียมในขณะนี้ สองสามปีก่อนหน้า ดาวเทียมต่าง ๆ มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรถโรงเรียน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งทางด้านซอฟท์แวร์และวิศวกรรมทำให้เราสามารถสร้างดาวเทียมที่มีขนาดเล็กลงจนมีน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม เราเรียกดาวเทียมขนาดเล็กนั้นว่านาโนแซท (nanosat) แต่ยังมีดาวเทียมที่มีขนาดเล็กกว่านาโนแซทอีกซึ่งเราเรียกว่าคิวบ์แซท Cubesat ซึ่งมีขนาด 10×10 เซนติเมตรและหนักเพียง 1 กิโลกรัม
ไม่แน่ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เกือบจะมีดาวเทียมส่วนตัวกันแล้ว หากไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเพราะไม่เพียงแต่เราจะสามารถใช้โทรศัพท์หรือว่าอินเตอร์เน็ทผ่านดาวเทียมในตอนนี้ แต่ในไม่ช้าความสามารถในการตรวจวัดระยะไกลจะกลายมาเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ดาวเทียมขนาดเล็กเหล่านี้มีแอพพลิเคชั่นที่ทำงานได้จริงหลายอย่างที่เรากำลังใช้งานกันอยู่ในชีวิตประจำวันจากผู้ให้บริการการสื่อสาร อุตุนิยมวิทยา การทหารและแผนที่ GPS I แม้กระทั่งตอนนี้ดาวเทียมก็กำลังโคจรอยู่รอบโลก ในอนาคตอันใกล้ ดาวเทียมจะสามารถโคจรห่างจากโลกยิ่งขึ้นไปอีกอย่างเช่นโคจรรอบดวงจันทร์หรือดาวอังคาร

sources : https://aerospace.csis.org/aerospace101/earth-orbit-101/
เราอาจพูดได้ว่าอวกาศมีทั้งคุณภาพและคุณค่าในตัวมันเอง ภาวะไร้น้ำหนักหรือภาวะสุญญากาศ ความพิเศษเหล่านี้ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ทวีคูณจากการนำไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งที่อวกาศมีให้เรานั้นซึ่งเราสามารถพบได้ในระดับวงโคจรต่ำนั้นทำให้การวิจัยในแขนงต่าง ๆ มีความเป็นไปได้ ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงการแพทย์ในระดับนาโน เวชกรรมหรือการผลิตเบียร์ หลายภาคส่วนกำลังศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากคุณภาพอันทรงคุณค่าเหล่านี้เพื่อปรับปรุงการผลิตบนโลก
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นวันที่มนุษย์สามารถผลิตวัตถุได้นอกโลกแล้วนำมันกลับลงมายังพื้นโลกเป็นครั้งแรก
ดิมิทรี สตาโรดูบอฟ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ FOMS Inc. ซึ่งรับผิดชอบโครงการผลิตสายไฟเบอร์ออปติกเพื่อการค้า โดยทดลองผลิตสายไฟเบอร์ออปติกบนแพลทฟอร์มที่อยู่ในวงโคจร เขากล่าวว่า “เราสามารถผลิตเส้นใยไฟเบอร์ชิ้นเล็ก ๆ และพิสูจน์ได้ว่าเราสามารถผลิตสายไฟเบอร์ออปติกในสภาวะไร้น้ำหนักได้จริงและมันดีกว่าการผลิตบนโลกสำหรับสายไฟเบอร์ออปติกชนิดพิเศษอย่าง Fluoride optical fibers, ZBLAN type ทำให้ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น”
เราหวังว่าก้าวแรกที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้จะนำพาไปสู่ความสำเร็จอื่น ๆ อีก อวกาศกำลังเปิดกว้างให้กับความเป็นไปได้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจที่เราไม่เคยแม้แต่จะฝันถึงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
ดวงจันทร์คืออาณาเขตต่อไป สถานที่ที่มนุษย์เคยไปเดินเมื่อ 50 ปีที่แล้วและเรากำลังจะกลับไปอีกครั้งในอีกไม่ช้าและมันจะไม่ใช่เพียงการกลับไปเยือนเพียงเท่านั้นแต่เป็นการไปเพื่อตั้งรกรากถาวร
ที่ดวงจันทร์นั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรจำนวนมาก เราจะพบน้ำแข็งอยู่ตลอดเวลาในส่วนด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งข้อมูลตรงนี้เราได้มาจากการตรวจสอบจากหลาย ๆ ภารกิจของนาซ่ารวมถึงภารกิจจากนานาชาติ ในตอนนี้เรารู้ว่าบนดวงจันทร์มีทรัพยากรที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการตั้งอาณานิคมถาวรบนดวงจันทร์ในอนาคต ดังนั้นเพื่อที่จะทำการวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสมนั้นรวมถึงการสกัดเอาทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ การเริ่มต้นสำรวจดวงจันทร์เพื่อการพาณิชย์หลายโครงการเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่างก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท Lunar Outpost โดยพวกเขาได้พัฒนายานสำรวจที่มีความซับซ้อนเพื่อการสำรวจหาแร่บนดวงจันทร์ที่ชื่อ The MAPP
The MAPP เป็นหุ่นยนต์สำรวจหาทรัพยากรบนดวงจันทร์ที่สร้างขึ้นเพื่อการพาณิชย์เป็นตัวแรก โดยถูกออกแบบให้วิเคราะห์ดินบนดวงจันทร์เพื่อหาทรัพยากร ตัวหุ่นถูกออกแบบให้สามารถทำงานได้ทั้งด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของระบบกล้องถ่ายภาพ ในอนาคตหากเรามีฝูงของหุ่นยนต์สำรวจดังกล่าวนี้ เราก็จะสามารถไปถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติการสำรวจพื้นที่เหล่านั้นได้เลย สำหรับ MAPP นั้น มีการขับเคลื่อนและปฏิบัติการโดยใช้ระบบนำทางที่ต่างกันสองระบบ ระบบแรกเป็นระบบอัตโนมัติที่ไว้ขับเคลื่อนบนพื้นผิวของดวงจันทร์ซึ่งจะใช้ทั้งระบบการนำทางที่อิงกับการมองเห็นโดยอาศัยข้อมูลจากกล้องที่แสกนพื้นผิว อย่างไรก็ตามหากตัวหุ่นต้องไปทำงานในด้านมืดของดวงจันทร์หรือในพื้นที่ที่มีเงาดำปกคลุมนั้น ตรงนี้กล้องจะไม่สามารถมองเห็นได้ เราก็จะเปลี่ยนมาใช้ระบบ LiDAR ซึ่งจะมีเลเซอร์วัดระยะและระบบตรวจจับที่ทำให้ยานสำรวจมองเห็นและสำหรับในพื้นที่ที่มืดมาก ๆ ได้ ตัวหุ่นยนต์ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับศึกษาและวิเคราะห์สเปกตรัมของแสง ซึ่งใช้สำหรับตรวจวัดทรัพยากรที่พบบนพื้นผิวของดวงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น หิน หรือแม้กระทั่งการเจาะสำรวจตัวอย่างดินบริเวณใต้พื้นผิว ทุกครั้งที่หุ่นสำรวจขับไปรอบ ๆ บนพื้นผิวของดวงจันทร์ พวกมันก็จะทำแผนที่ของทรัพยากรเหล่านั้นและวางซ้อนลงไปบนแผนที่ภูมิประเทศของดวงจันทร์
หากมีบริษัทที่ทำคล้ายกันนี้อีกสัก 100 บริษัท ดวงจันทร์ก็คงจะแคบลงในไม่ช้า แต่พอรู้ว่าบนดวงจันทร์มีอะไรแล้ว เราจะทำอย่างไรกันต่อ ?
3D printing : เครื่องพิมพ์สามมิติ
การสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์นั้น มีแนวความคิดหลายอย่างที่ทำโมเดลขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ โดยใช้ฝุ่นหินในพื้นที่เป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ในอนาคต
3d printing เป็นการปฏิวัติวิธีการที่เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ บนอวกาศ เช่น ทำให้สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เพียงเราสามารถเครื่องพิมพ์สามมิติขึ้นไปในอวกาศและใช้วัตถุดิบที่มีบนนั้นเพื่อสร้างโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้นมาได้ อย่างบนดวงจันทร์ที่พื้นผิวมีอุณหภูมิติดลบ 230 องศาเซลเซียส ส่วนพลังงานที่ทำให้ฝุ่นหินเหล่านั้นอ่อนตัวก็ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานหลัก ทำให้เราสามรารถใช้ฝุ่นผงบนดวงจันทร์เป็นวัตถุดิบเพื่อขึ้นรูปสร้างวัตถุที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องการหรืออะไรก็ตามที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่นั่น เนื่องจากเราคงไม่สามารถให้จัดส่งทุกสิ่งมาจากโลกได้
โลกเป็นเหมือนเปลเด็กแต่สิ่งที่อยู่ในเปลก็คือเด็กที่กำลังโต เขาเริ่มจะออกจากเปลแล้วไปโรงเรียน และที่สนามของโรงเรียนในระบบสุริยะจักรวาลก็เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อไปยังสิ่งที่กว้างใหญ่กว่าคือหมู่ดาวต่าง ๆ
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM
บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4