กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้ออกมาระงับข้อตกลงซื้อขายระหว่างสำนักพิมพ์ Penguin Random House ที่ก่อนหน้านี้ในปี 2013 ทั้งสองบริษัทได้มีการควบรวมกิจการกันและโอนถ่ายไปอยู่ในมือของสื่อยักษ์ใหญ่ของเยอรมันอย่าง Bertlesmann ทำให้กลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ไปแล้วนั้น และมาถึงวันนี้ก็ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อกิจการของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่มีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์กอย่าง Simon & Schuster ซึ่งมีนักเขียนชื่อดังอยู่ในมืออย่าง สตีเฟน คิงส์ , ฮิลลารี คลินตัน
หากข้อตกลงนี้สำเร็จ จะทำให้สำนักพิมพ์ Penguin Random House อาจเข้าข่ายการผูกขาดทางการค้าและจะส่งผลต่อการคัดเลือกหนังสือที่จะถูกตีพิมพ์ในสหรัฐฯ รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ค่าตอบแทนที่นักเขียนจะได้รับอีกด้วย
ลองนึกภาพตามดูว่า หากสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสามารถควบรวมกิจการกับคู่แข่งทางการค้าเบอร์หนึ่งของตนเองได้แล้วนั้น เราคงไม่ต้องเดาว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถควบคุมความเป็นไปของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นี้ได้มากมายแค่ไหน นักเขียนอาจจะมีหนังสือของตนเองตีพิมพ์น้อยลงหรือได้รับผลตอบแทนลดลง ส่วนผู้อ่านก็มีหนังสือให้เลือกอ่านลดลง ไม่มีความหลากหลายดังเช่นแต่ก่อน
ในสหรัฐฯ นั้น มีสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดไว้เบ็ดเสร็จอยู่ 5 ราย เราเรียกว่า Big Five ซึ่งได้แก่ Penguin Random House , Simon & Schuster , HarperCollins , Hachette Book Group และ Macmillan หากสองในห้าควบรวมกิจการกัน ก็คงจะเหลือเป็น Big 4 แต่ครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น !!
ซึ่งข้อเสนอซื้อกิจการนี้ ทำให้นักเขียนและสำนักพิมพ์อื่น ๆ ต่างก็เกิดความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยนักเขียนคนหนึ่งบอกว่า การควบรวมกิจการนี้จะทำให้การแข่งขันในการพัฒนาเนื้อหา โครงเรื่องของอุตสาหกรรมหนังสือหยุดชะงัก

ทางด้าน รูเพิร์ท เมอร์ด็อคช์ มหาเศรษฐีเจ้าของ News Corp และยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ HarperCollins ครั้งหนึ่งเขาเคยสนใจจะซื้อกิจการของ Simon & Schuster ด้วยเช่นกัน โดยทางซีอีโอของ HarperCollins กล่าวว่า Bertelsmann พยายามซื้อกิจการเพื่อก้าวเข้ามาเป็นยักษ์ที่ใหญ่กว่ายักษ์ตนอื่นเพื่อครองอุตสาหกรรมหนังสือนี้
ส่วนทางด้านทนายความของ Penguin Random House ได้ออกมาชี้แจงว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ นั้น พิจารณาข้อมูลไม่ครบถ้วนและสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่าข้อเสนอยื่นซื้อกิจการในครั้งนี้นั้นจะทำให้การแข่งขันในตลาดหนังสือลดลง นอกจากนั้นแล้วถึงแม้การยื่นซื้อกิจการจะสำเร็จลุล่วง สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในเครือของบริษัทเองก็ยังต้องแข่งขันกันทำหนังสือออกมาเหมือนเดิม ไม่ได้ลดจำนวนหนังสือหรือว่าลดความหลากหลายของหนังสือลงไป หรือลดค่าตอบแทนของนักเขียนอย่างที่กังวลกันไปก่อน
การที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นสอบสวนกรณีดังกล่าวนี้ ถือเป็นคดีที่เกี่ยวกับการค้าผูกขาดคดีแรกในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และการที่สำนักพิมพ์หันมาควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการกันมากขึ้นก็เพื่อที่จะขยับตัวเองขึ้นไปคานอำนาจกับยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ให้ได้บ้าง