ทำไมสมองของเราถึงต้องการอ่านทุกวัน
เราจะมีสมองที่ชาญฉลาดและทรงพลังได้อย่างไร ?
โดยทั่วไปแล้ว เวลาที่เราหยิบหนังสือเรียนหรือหนังสือที่มีเนื้อหาทางวิชาการมาอ่านนั้น เพียงแค่พลิกไปไม่กี่หน้าก็ราวกับว่าโดนยานอนหลับ ทำไมมันง่วงอย่างนี้ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นหนังสือการ์ตูนหรือนวนิยาย อื้อหือ เผลอนิดเดียวผ่านไปครึ่งเล่มแล้ว
เพราะการอ่านนวนิยายมันตรงกับธรรมชาติของตัวเรา มนุษย์ชอบอ่านชอบฟังเรื่องราว สมองของเราชอบที่จะหารูปแบบ ตีความหมายและหาความสัมพันธ์กับหลายสิ่งหลายองค์ประกอบ

ต่างจากการที่เราเข้าเรียนไปฟังเลคเชอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริง มีย่อหน้าที่สำคัญเรียงลำดับหนึ่ง สอง สาม สี่ เต็มไปหมด ซึ่งสมองของเราจะทำงานแต่ในส่วนของภาษาเพื่อทำการแปลและเรียงร้อยแต่ละคำให้ออกมาเป็นความหมาย แต่ถ้าหากเราได้ฟังเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่ในส่วนของการถอดรหัสภาษา แต่สมองเรายังถูกกระตุ้นอีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้น ๆ แตกกิ่งก้านออกไปหลายมิติ
เช่น ถ้าหากเราได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการวิ่งของใครคนหนึ่ง สมองส่วน motor cortex ก็จะทำงาน เนื่องจากมันทำหน้าที่สั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวที่อยู่ภายใต้อำนาจของจิตใจที่เกี่ยวกับการวิ่ง และมันง่ายกว่าที่จะจำเรื่องราวมากกว่าข้อเท็จจริงพื้น ๆ ข้อหนึ่ง ข้อสอง ข้อสามที่ไม่มีอะไรตื่นเต้น เพราะว่ามันทำให้เราเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ
นักวิจัยที่ Emory University ค้นพบว่าไม่มีอาหารอะไรที่วิเศษต่อสมองมากไปกว่าหนังสืออีกแล้ว พวกเขาได้ให้กลุ่มทดลองอ่านหนังสือนวนิยายจำนวน 30 หน้า และหลังจากนั้นก็ทำการ fMRI brain scan เป็นระยะเวลา 5 วันติดต่อกัน ผลที่ออกมาพบว่า ผู้ทดลองแสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองในส่วน Temporal cortex มากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ช่วยควบคุมการรับรู้ต่อภาษาของเรา นอกจากนี้แล้วยังพบว่าสมองส่วน central sulci ก็มีการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย
* Functional MRI คือการตรวจเพื่อหาตําแหน่งการทํางานของสมอง จะแสดงผลออกมาให้เห็นเป็นสีต่าง ๆ
ทำไมสมองของเราถึงต้องการอ่านทุกวัน
ดังนั้นการอ่านนวนิยายเพียงแค่วันเดียวก็ช่วยเพิ่มทักษะทางด้านภาษาทุกด้านและถ้าอ่านติดต่อกัน 5 วันก็จะช่วยเพิ่มทักษะในการสั่งการด้วย
นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยชิ้นใหม่ยังชี้ให้เห็นว่า นวนิยายมีความสำคัญในการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ การศึกษาโดยให้กลุ่มทดลองอ่านนวนิยายที่ได้รับความนิยม นวนิยายทั่วไป หนังสืออื่น ๆ หรือไม่อ่านอะไรเลย หลังจากนั้นทำการทดสอบเพื่อดูว่าพวกเขาจะสามารถอนุมานถึงสิ่งที่คนอื่นรู้สึกนึกคิดได้ดีแค่ไหน ซึ่งพบว่าคนที่ไม่อ่านอะไรเลยหรือคนที่ไม่ได้อ่านนวนิยายนั้นแทบไม่มีผลอันใด
ตรงกันข้ามกับคนที่อ่านงานวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการพินิจพิจารณาเพิ่มขึ้นในการทำความเข้าใจสภาวะอารมณ์ของบุคคลอื่น นั่นเป็นเพราะงานเขียนที่เป็นนวนิยายนั้นมีความลึกเชิงเนื้อหาและลักษณะของตัวละคร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร