หากเพื่อนบ้านไทยจะใช้บิทคอยน์

Listen to this article

ช่วงนี้เราก็จะเห็นข่าวว่าค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านต่างก็อ่อนค่ากันมาก มีแนวโน้มจะมาใช้เงินบาทกัน ในขณะที่เงินบาทของเราเองก็อ่อนค่าลงเช่นกัน ยิ่ง FED ประกาศล่าสุดคงอัตราดอกเบี้ย แต่ในระยะยาวขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง คือหายใจเฉย ๆ ดอลลาร์ก็แข็งแล้ว หากประเทศเพื่อนบ้านของเราลองใช้วิธีการแบบเอลซัลวาดอร์ รับชำระเงินด้วยบิทคอยน์เพื่อช่วยแก้ปัญหาค่าเงินที่อ่อนค่าลงจะเป็นอย่างไร หรือถ้าบิทคอยน์มันแพงไป เอาเป็นคริปโตอื่น Solana Dogecoin แบบนี้ได้ไหม ?

เราลองไปดูบทเรียนและเรื่องราวจากเอลซัลวาดอร์กันก่อนว่าการนำบิทคอยน์ไปใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร

…. ………….. ……………

7 กันยายน ปี 2021  เป็นวันแรกที่เอลซัลวาดอร์ ยอมรับให้มีการใช้บิทคอยน์ได้ถูกต้องตามกฏหมายเช่นเดียวกันกับเงินสดซึ่งถือว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำแบบนี้ นอกจากเปิดตัวบิทคอยน์เป็นสกุลเงินหลักของประเทศแล้วนั้นยังตามมาด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชัน Digital wallet ออกมารองรับการใช้สกุลเงินดิจิตอลดังกล่าวอีกด้วย โดยรัฐบาลเอลซัลวาดอร์จะมีเงินก้นถุงให้คนที่ดาวโหลดแอพพลิเคชัน Chivo Wallet มาติดตั้งคนละ 30 เหรียญฯ

ประธานาธิบดี บูเคเล กล่าาวว่า “รัฐบาลถือครองบิทคอยน์จำนวน 550 บิทคอยน์ ซึ่งคิดเป็นเงินราว 26 ล้านเหรียญฯ

………………………………..

ความหมายของคำว่าสามารถใช้บิทคอยน์ได้ถูกต้องตามกฏหมายนั้นเป็นอย่างไร ?

สามารถใช้บิทคอยน์ชำระหนี้ได้ตามกฏหมายโดยไม่จำกัดวงเงิน ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ทำธุรกรรม

สามารถใช้บิทคอยน์ชำระค่าสินค้าและบริการ

สามารถใช้บิทคอยน์ชำระภาษี

ในการทำบัญชีจะอ้างอิงราคาบิทคอยน์กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบและมีระบบในการแปลงค่าเงินให้โดยทันที

……………………………………..

ประเทศไทยใช้เงินบาท ประเทศญี่ปุ่นใช้เงินเยน ประเทศจีนใช้เงินหยวน แล้วประเทศเอลซัลวาดอร์ใช้สกุลเงินอะไร ?

ก่อนหน้านี้เอลซัลวาดอร์ใช้สกุลเงินของตัวเองคือโคลอน (colón ใช้ 1892-2001) ในปี 2001 จึงได้เปลี่ยนมาใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักแทน โดยมีเหตุผลคือ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ดึงเงินโคลอนออกจากระบบเศรษฐกิจ ในปัจจุบันธุรกรรมทั้งหมดจะทำในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น สกุลเงินโคลอนอิงระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่(Fixed Exchange Rate) กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 1 USD = 8.75 SVC

แต่ถึงอย่างไรหลังจากเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักแล้วก็ยังคงมีปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องที่ยังแก้ไม่ตก อย่างเช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่ถ่างออก ปัญหาการว่างงาน

…………………………………

How the cryptocurrency experiment is going in El Salvador

ทำไมเอลซัลวาดอร์ถึงใช้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินหลักของประเทศควบคู่ไปกับดอลลาร์สหรัฐฯ

สาเหตุหลัก ๆ มีอยู่สามประการ

ประการแรกก็คือ ตามรายงานของธนาคารโลกระบุว่า กว่า 20% ของ GDP นั้นมาจากการส่งเงินกลับบ้านของชาวเอลซัลวาดอร์ แสดงว่าคนในประเทศต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศซึ่งเป็นจำนวนนับหลายพันล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว แต่ว่าค่าธรรมเนียมในการส่งเงินกลับบ้านนั้นสูงถึง 30-50% ของยอดโอน พอส่งเงินมาให้ที่บ้าน ที่บ้านต้องนั่งรถ ลงเรือ จ้างคน พาไปกดเงินออกจากตู้ ATM หรือจากธนาคารอีกทอดหนึ่ง กว่าจะได้เงินจริง ๆ ก็ได้ไม่เต็มเพราะโดนหักหลายต่อ ดังนั้นถ้าใช้บิทคอยน์ ก็จบเลย ไม่เสียค่าธรรมเนียม ได้รับเงินเข้า Wallet ทันที

ประการที่สอง ชาวเอลซัลวาดอร์ราว 70% ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร เอลซัลวาดอร์มีประชากร 6.4 ล้านคน แต่มีมือถือ 9.94 ล้านเครื่อง หรือเป็นสัดส่วน 155% ของจำนวนประชากร ดังนั้นการส่งเงินให้กันผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือน่าจะครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายเร็วปรูดปร๊าดขนาด 5G ก็น่าจะทำได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างง่ายดาย

ประเด็นที่สาม ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้บิทคอยน์เป็นตัวเก็บมูลค่าสินทรัพย์นั่นเอง ยิ่งหากความขาดแคลน ความหายาก Scarcity ของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นหรือมีกระแสข่าวอะไรที่ทำให้มูลค่าของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นแบบชั่วข้ามคืน เราก็จะได้ประโยชน์จาก leverage อัตราทดของมัน ( ขณะเดียวกันหากราคาบิทคอยน์ร่วงก็อาจต้องทนถือครอง ติดดอยไปก่อน อย่างไรเสียก็ยังดีกว่าการถือครองเงินสดจริงๆ FIAT เพราะในภาวะเงินเฟ้อนั้น ค่าเงินจะอ่อนค่าแบบไม่มีลุ้นให้เด้งกลับมามีมูลค่ามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ )

( บทความแนะนำ อะไรแทนดอลลาร์สหรัฐฯได้บ้าง )

เป้าหมายหลักของการใช้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ ก็คือเพื่อต่อสู้กับความยากจนและช่วยให้ผู้ที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารได้เข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้ง่ายขึ้น สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ให้พวกเขาเข้าถึงสกุลเงินดิจิตัลได้ง่ายผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือและที่สำคัญอีกอย่างคือช่วยทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพขึ้นจากการลดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนั้นแล้วยังช่วยป้องปรามในเรื่องการฟอกเงินและคอรัปชั่นเพราะรัฐสามารถตรวจสอบธุรกรรมการเงินได้ง่ายกว่าเดิม (ก็หลงเข้ามาใช้ app ของรัฐแล้วนี่ รัฐเลยทราบการทำธุรกรรมจากกระเป๋าเงินต้นทางไปยังปลายทางในครั้งแรก) และคาดว่าการเปิดรับบิทคอยน์ได้ถูกกฏหมายแบบนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโตขยายตัวไปพร้อมๆ กัน

Follow The Money #1 – Bitcoin in El Salvador

เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ของผู้คนการใช้บิทคอยน์ในเอลซัลวาดอร์เป็นอย่างไรบ้าง

หลังจากเปิดตัวบิทคอยน์และ Chivo Wallet ไปแล้วนั้น มีประชาชนจำนวนไม่มากนักที่ดาวน์โหลดแอพดังกล่าวมาติดตั้งและใช้งานทันที กว่า 60% ดาวน์โหลดมาและลองใช้บิทคอยน์ที่รัฐแถมมาเป็นเงินก้นถุงในแอพหมดแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ จะมีกลุ่มคนเล็ก ๆ ซึ่งได้แก่คนที่มีบัญชีธนาคาร มีการศึกษาแล้วก็พวกวัยรุ่น ผู้ชาย ที่จะใช้กันคล่องหน่อย แต่ทว่ากลุ่มคนดังกล่าวนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายตามความตั้งใจของการนำบิทคอยน์มาใช้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ

นอกจากที่มีการแถมบิทคอยน์ก้นถุงมูลค่า 30 เหรียญฯ แล้ว ยังมีการลดราคาน้ำมัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ท่องเที่ยว เดินทาง แต่ยอดดาวโหลดแอพพลิเคชันกลับนิ่งรวมถึงการใช้งานแอพ Digital wallet ดังกล่าวในชีวิตประจำวันก็ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่

……………………….

What Bitcoin adoption is ACTUALLY like in El Salvador

เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศเล็ก ๆ และกำลังพัฒนา ซึ่งน่าจะเหมาะกับการนำสกุลเงินคริปโตมาปรับใช้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีประชากรราว 7 ล้านคน พวกเขาพึ่งพาเงินสด ไม่ใช่เครดิตหรือเดบิตการ์ด

จากการไปพบปะสำรวจประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์จำนวน 1,800 คน หลังจากเปิดตัวบิทคอยน์ไปไม่กี่เดือน พบว่า

กว่า 70% ของครัวเรือนไม่มีบัญชีธนาคารและเกือบ 90% ไม่ใช้แอพธนาคาร !! ถึงแม้จะมีเงินก้นถุงให้ 30 เหรียญฯ เป็นแรงจูงใจให้เกิดประสบการณ์ผู้ใช้ ซึ่งเงินก้นถุงจำนวนดัวกล่าวคิดเป็นเกือบ 1% ของรายได้ต่อหัวต่อปีโดยเฉลี่ยของชาวเอลซัลวาดอร์ นอกจากนั้นแล้วหากจ่ายค่าเติมน้ำมันรถด้วยบิทคอยน์ก็ยังมีส่วนลดให้อีก ถึงขนาดนี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยม และที่เราคิดว่าคนเอลซัลวาดอร์มีมือถือ 9.4 ล้านเครื่องมากกว่าจำนวนประชากรถึง 155% ในตอนแรกนั้นเป็นเรื่องจริงแต่ที่จริงยิ่งกว่าคือ คนที่มีมือถือแล้วสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้นั้นมีเพียง 2 ใน 3

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การทำธุรกรรมผ่านแอพ Chivo Wallet นั้นจะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่เมื่อใดที่ทำธุรกรรมนอกแอพ เช่นต้องการโอนบิทคอยน์ไปยัง Digital wallet อื่น ๆ จะมีค่าธรรมเนียมที่แพงมาก อย่างเช่นการฝากถอนบิทคอยน์จากตู้ ATM อาจจะมีค่าธรรมเนียมสูงถึง 20% ของยอดฝากถอน แต่ถ้าใช้การทำธุรกรรมผ่าน Chivo Wallet แปลงบิทคอยน์ไปเป็นดอลลาร์แล้วไปกดเงินดอลลาร์ที่ตู้ Chivo ATM ก็จะไม่เสียค่าธรรมเนียม

เกือบ 78% ของคนที่ดาวโหลดแอพ Chivo Wallet มาติดตั้งนั้นก็เพราะอยากลองใช้เงินก้นถุง 30 เหรียญฯ ที่ติดมากับแอพดังกล่าว ส่วนคนที่รู้จักแอพดังกล่าวแต่ไม่ดาวน์โหลดมาใช้ก็เพราะชอบใช้เงินสดมากกว่า บางส่วนก็บอกว่ายังไม่เชื่อมั่นในระบบของบิทคอยน์หรือไม่ก็มือถือไม่มีอินเตอร์เน็ตรวมถึงดูมันซับซ้อนใช้ยาก

ส่วนทางด้านธุรกิจต่าง ๆ ถึงแม้จะมีกฏหมายบังคับใช้บิทคอยน์ออกมารองรับแล้วนั้น ในความเป็นจริงมีหน่วยธุรกิจเพียง 20% ที่ปฏิบัติตามและรับชำระเป็นบิทคอยน์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของยอดขายทั้งหมดผ่าน Chivo Wallet ซึ่งเมื่อได้รับการชำระเป็นบิทคอยน์ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ กว่า 88% ก็จะแปลงบิทคอยน์เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่เก็บไว้ในรูปของบิทคอยน์

ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ คงไม่ได้ถือครองบิทคอยน์แบบ spot หรือเทรดฟิวเจอร์ส แบบดูกราฟเข้าซื้อขายตามแนวฟีโบ รอ MACD กลับตัวก่อน หรือเส้นค่าเฉลี่ยตัดขึ้นตัดลง คงไม่ได้นั่งรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตัวเลขบ้านสร้างใหม่ ตัวเลข CPI และดัชนีอื่นๆ อีกมากมาย หรือรอฟัง FED แถลงอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการใช้บิทคอยน์เพื่อซื้อสินค้าและบริการอย่างแท้จริง โดยอาจจะมีประโยชน์เพิ่มเติม top up จากการคาดหวังในวันที่บิทคอยน์ดีดกลับขึ้นไปแตะระดับราคาที่สูงกว่าเดิม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าภายในประเทศที่อาจจะปรับสูงขึ้นหรือมีความผันผวนอย่างมาก ถึงแม้ราคาสินค้าจะระบุเป็นหน่วยบิทคอยน์ก็ตาม ราคาสินค้านำเข้ารวมถึงการบริการจะมีความผันผวนอย่างมากเช่นกัน และอย่าลืมว่ายิ่งมีการเปิดกว้างรับบิทคอยน์กระจายออกไปมากเท่าใดก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระดับมหภาคมากขึ้นเท่านั้น

…………………..

El Salvador Bitcoin experiment hits two-year milestone

September 2023

ผ่านมา 2 ปีแล้ว สถานการณ์การใช้บิทคอยน์กับ Digital wallet ของเอลซัลวาดอร์เป็นอย่างไรบ้าง

ถึงตอนนี้เราเองก็ไม่อาจทราบได้แล้วว่ารัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังคงถือครองบิทคอยน์อยู่จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากตัวเลขที่แท้จริงนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ข้อมูลที่พอหาได้คือ ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2023 รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ถือครองบิทคอยน์จำนวน 2,381 BTC โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 43,357 USD/BTC (ขณะที่เขียนบทความนี้ 24 Sept 2023 ราคาบิทคอยน์อยู่ที่ 26,670 USD/BTC หน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯต่อบิทคอยน์ ) โดยตั้งเป้าจะถือครองให้ถึง 100,000 BTC ภายในปี 2024


ทางเว็บไซต์ https://nayibtracker.com/ ได้ประเมินว่ามูลค่าการลงทุนในบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์นั้นติดลบไปราว 35% ทำให้มูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ราว ๆ 80 ล้านเหรียญฯ ซึ่งความผันผวนแบบสุดโต่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาในโลกของคริปโต แต่จำนวนถือครองบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์นั้นก็ยังคงไม่มากมายอะไรเมื่อเทียบกับกองทุนยักษ์ใหญ่ของโลก

จากความตั้งใจที่จะทำให้ชาวเอลซัลวาดอร์สามารถใช้บิทคอยน์ซื้ออาหารข้างทางได้ไปจนถึงซื้ออสังหาริมทรัพย์ผ่านแอพ Chivo แต่ภายหลังก็มีผู้ใช้หลายร้อยรายโดนขโมยบัญชีผู้ใช้แล้วเอาเงินพร้อมกับข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของไปด้วย

รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ได้พยายามเน้นย้ำให้เห็นถึงข้อดีของการใช้บิทคอยน์ที่ลูกหลานหรือผู้ที่ไปทำงานในต่างประเทศสามารถส่งเงินกลับบ้านได้ทันที โดยตรง ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่จากสถิติล่าสุดจากธนาคารกลางในปี 2023 นี้ พบว่า มีเพียง 1.3% ของการส่งเงินจากต่างประเทศเท่านั้นที่เป็นการส่งบิทคอยน์เข้า Digital wallet ในขณะที่เมื่อเทียบกับของประเเทศเม็กซิโกใช้ช่องทาง Digital wallet ส่งเงินกลับบ้านถึง 4%

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Ark Invest ได้รายงานว่าการใช้บิทคอยน์ในอาเจนตินาได้แซงหน้าเอลซัลวาดอร์ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเอลซัลวาดอร์ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ช่วยรักษาอำนาจซื้อของผู้คนได้ในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ราคาบิทคอยน์มีความผันผวนมาก บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีของอาเจนตินานั้นได้ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาได้อย่างน้อยก็ราวสองทศวรรษแล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีความพร้อมในการปรับใช้สกุลเงินคริปโตได้รวดเร็วกว่าและวงกว้างกว่า

การที่จะปรับใช้สกุลเงินดิจิตอลหรือว่าคริปโตนั้น ไม่ใช่เรื่องความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีแต่ที่จะต้องเติบโตขึ้นมาพร้อมกันก็คือการศึกษา การมีความรู้ของผู้คน ดังนั้นประเทศต่าง ๆ คงต้องอาศัยระยะเวลาที่แตกต่างกันกว่าที่ทุกอย่างจะดำเนินไปในแนวทางที่เหมาะสม

พื้นที่โฆษณา / Advertisement

MEX กาต้มน้ำไฟฟ้าปรับอุณหภูมิได้ รุ่น KATE KPLG105TW-1

…………………………………..

ภาวะเงินเฟ้อ !!!!

ในปี 2021 เอลซัลวาดอร์มีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกากลางเกือบ ๆ 7% เป็นรองก็แต่เพียงนิการากัว และถือว่าเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 25 ปีเลยทีเดียว ราคาอาหารปรับตัวขึ้นถึง 14% ส่งผลให้ประชาชนกว่า 900,000 คนต้องขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะผู้คนในชนบท

โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลมักชอบภาวะเงินเฟ้ออ่อน ๆ เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ดึงดูดใจให้มีการลงทุน เกิดการจ้างงาน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้นก็จะส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้คนลดลงสวนทางกับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น การเข้าถึงปัจจัย 4 ทำได้ยาก ดังนั้นหากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

เมื่อประชาชนรู้สึกได้ว่า ทำไมราคาสินค้าหรือว่าบริการมันแพงขึ้นกว่าเดิมเร็วจัง วันก่อน เดือนก่อนยังไม่กี่ตังค์ มาวันนี้ โห แพงขึ้นขนาดนี้เลยเหรอ พอรู้อะไรไม่สู้รู้งี้ งั้นเราก็ซื้อตุนไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลยแล้วกัน เดาว่าต่อไปมันจะต้องแพงกว่านี้อีก นั่นก็จะทำให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน เกิดการกักตุนสินค้าและในที่สุดสินค้าก็ขาดแคลนดำเนินไปเป็นวัฏจักรที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นทุกที คนที่เกษียณอายุมีเงินเก็บเงินออมที่เสื่อมมูลค่าลงไปมาก ธนาคารหรือผู้ให้กู้พากันล้มละลายเนื่องจากเงินกู้ของพวกเขาด้อยค่าลง ขาดเงินสด ขาดสภาพคล่องเพราะไม่มีใครเอาเงินมาฝาก

อาจจะเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ทำให้การที่เอลซัลวาดอร์ยังใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเดิม อาจต้องอาศัยระยะเวลาอีกนานพอสมควรเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ถ้าหากลองใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ๆ อย่างเช่นการใช้บิทคอยน์จะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ไหม ประชาชนที่ยากจนมีอำนาจซื้อมากขึ้น มีการกระจายรายได้ออกไปถึงผู้คนได้มากขึ้น หลากหลายกลุ่ม และอาจจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลจูงใจให้เกิดการคิดนอกกรอบ เป็นการทดลองที่น่าสนใจไม่น้อย ในเวลาปกติก็ใช้ดอลลาร์ยืนพื้นไว้ก่อนเมื่อไหร่ที่บิทคอยน์ราคาดีดกลับก็จะได้เงินออมคืนกลับมา แล้วถ้าหากราคาบิทคอยน์ยังพุ่งสูงไม่หยุดก็จะได้เป็นโบนัสมูลค่าเพิ่มไป แต่หากราคาบิทคอยน์ร่วงลงไปต่ำกว่านี้เรื่อย ๆ หรือมีคริปโตตัวอื่นที่ดึงส่วนแบ่งการตลาดจากบิทคอยน์ไป หรือธนาคารกลางสหรัฐ FED ยังคงขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อกดเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% ก็เป็นการทุบตลาดคริปโตทางอ้อม เอลซัลวาดอร์จะปรับสัดส่วนการถือครองอย่างไร เป็นศิลปะบนความเสี่ยงที่น่าสนใจไม่น้อย

มีประเทศอีกกว่า 35 ประเทศที่เฝ้าดูพัฒนาการดังกล่าวนี้ของเอลซัลวาดอร์เพื่อที่จะได้นำไปปรับใช้ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อ หนี้ และปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ขยายตัวออกทุกที และกลับไปตอบคำถามข้างบน หากเพื่อนบ้านไทยจะใช้บิทคอยน์ ก็น่าจะทำได้ แต่รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องสร้างแอพพลิเคชันที่เป็น Digital wallet ต้องทำเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ต้องมีระบบการศึกษาที่รองรับกับ IT ผู้คนในกลุ่มอายุต่าง ๆ ก็ต้องเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นแล้วแนวคิดดังกล่าวก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้บริษัทของไทยที่มีความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว ที่อาจจะ copy and paste ระบบของตัวเองใช้ engine เดิมเพราะดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว เปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนภาษา ทำ UI UX ที่เป็นภาษาเพื่อนบ้านรุกตลาดเพื่อนบ้านได้ทันที!!! ไม่ต้องมารอนับหนึ่งใหม่

สนับสนุนการทำบทความ กดไลค์ กดแชร์ หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเราได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์: สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อบัญชี : HEROTHAILAND.COM
บัญชี : ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 667-265599-4

Similar Articles

Comments

พื้นที่ลงโฆษณา

สนใจลงโฆษณา ติดต่อ herothailand.com ราคาเพียง 500 บาทต่อปี

Advertisement

โปรโมชั่น 2 ขวด Protriva Black seeds อาหารเสริมน้ำมันงาดำ จำนวน 2 ขวด

Royal Kludge RK68

Royal Kludge RK68 RGB Hotswap USB HUB คีย์บอร์ดเกมมิ่งคีย์ไทย ไร้สายบลูทูธและมีสาย เปลี่ยนสวิตซ์ได้ เลเซอร์ไทย - English

Most Popular

Advertisement SHOPEE THAILAND

บ้านน้องแมว ทำจากไม้