AI ส่งผลต่อการเติบโตของ audiobooks อย่างไร ในทางตรงกันข้ามหรือไม่ ?
การถือกำเนิดขึ้นของ AI ที่สามารถอ่านหนังสือให้เราฟังได้คือ ออกมาเป็น audiobook เลย ถือว่าเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้
การทำ audiobook โดยใช้ AI อ่านแล้วบันทึกเสียงนั้นทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการต้องให้คนจริง ๆ อ่านแล้วบันทึกเสียง ซึ่งวิธีการนี้ก็ช่วยสร้างผลกำไรให้กับ audiobook นอกจากนั้นแล้วสำนักพิมพ์ก็ยังสามารถผลิต audiobook ได้มากขึ้นและจำเพาะเจาะจงกับกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย
ทางด้าน เอมิลี ลอว์เรน นักแสดงและผู้ให้เสียงประกอบ ผู้ร่วมก่อตั้ง PANA ให้ความเห็นว่า “มันง่ายมากที่จะลดต้นทุนในเรื่องนี้ลงไปหลายดอลลาร์ แต่มันก็ซับซ้อนยิ่งขึ้นและแตกต่างกัน ถ้าหากการใช้ AI อ่านแพร่หลายออกไปยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ผู้ให้คำบรรยายจะตกงาน เพราะในอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ยังมีผู้คนเกี่ยวข้องอีกมากที่เลี้ยงชีพด้วยการทำงานกับ audiobook ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจสอบการอ่านว่ามีการขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง ตรงกับต้นฉบับเรียบร้อยดีหรือไม่ คนที่แก้ไขเสียง ตัดต่อเสียง”
เธอเชื่อว่ามันยังมีเรื่องของจริยธรรมอีกมากมายที่ข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ยกตัวอย่างเช่น ถ้าฉันอนุญาตให้ใช้เสียงของฉันแล้วหลังจากนั้นก็ไม่สามารถควบคุมได้ว่าเสียงของตัวเองถูกนำไปใช้ทำอะไรที่ผิดจุดประสงค์หรือถูกใช้ไปในทางที่ผิด และผู้ให้เสียงเสี่ยงต่อการถูกละเมิดข้อตกลงนำเสียงไปใช้นอกเหนือจากที่ได้ตกลงกัน ทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม
ข้อดีเพียงอย่างเดียวที่เธอเห็นก็คือเรื่องของการเงิน แต่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ต่างก็ไม่ใช่ผู้ให้เสียงหรือผู้ฟัง คุณคิดจริง ๆ หรือว่า บริษัทที่ทำเสียง AI กำลังจะยอมให้ผลกำไรของพวกเขาตกไปถึงผู้ฟัง ? ไม่เลย!!
สำนักพิมพ์มองเห็นช่องทางใหม่
สำนักพิมพ์บางแห่งที่ทำแต่ audiobook กำลังจับตามองว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะไปได้ไกลแค่ไหนในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่ากำลังกรุยทางคร่าว ๆ ในแง่ของการใช้ AI ผลิต
แอนโทนี่ กอฟฟ์ ประธานอาวุโสของ Hachette Audio กล่าวว่า “มันมีความซับซ้อนมากมายที่นี่ที่เราต้องนำมาพิจารณา ทีมงานของเรากำลังชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีกับข้อเสียอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับกอฟฟ์แล้ว ผู้ให้เสียงคือหัวใจและจิตวิญญาณของอุตสาหกรรมนี้ คุณไม่สามารถเข้าถึงหนังสือเสียงที่ตั้งใจทำออกมาอย่างสวยงาม เราถือว่าเป็นงานศิลปะจากการร่วมมือกันที่มีความเฉพาะตัว เอาใจใส่อย่างพิถีพิถันเพื่อจะคัดเลือกเสียงอ่านให้เหมาะสมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในรูปแบบเสียงได้อย่างเต็มอรรถรส”
เขามองเห็นอนาคตที่ซึ่งคนและเสียงบรรยายที่สร้างจากคอมพิวเตอร์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เราไม่ได้คาดหวังว่าคนจะถูกแทนที่ด้วย AI แต่เราเห็นโอกาสในการใช้เฉพาะทาง

ทางด้าน Amazon ซึ่งเป็นเจ้าของ audiobook รายใหญ่อันดับต้นของโลกในชื่อการค้าว่า Audible ซึ่งเป็นทั้งสำนักพิมพ์และผู้ค้าปลีกหนังสือเสียง ได้มีนโยบายตั้งแต่แรกเริ่มว่าจะไม่ใช่เสียงสังเคราะห์ในการทำ audiobook ซึ่งครอบคลุมไปถึง audiobook จากผู้ขายรายย่อยที่มาลงขายใน audible ด้วย แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง ทั้งผู้ลงเสียงอ่านและผู้ฟังเริ่มจับได้ว่ามี audiobook อยู่หลายรายการที่ใช้ AI อ่าน ทางด้าน Audible จึงถอดรายการ audiobook เหล่านั้นออกจากเว็บไซต์ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้กับผู้ลงเสียงว่าในไม่ช้างานของพวกเขาอาจถูกทดแทนด้วย AI
การขยายตลาด ?
กอฟฟ์ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ทีมของเขากำลังมองหาทางใช้ AI เพื่อผลิต audiobook ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน เพื่อทำให้หนังสือของ Hachette อยู่ในรูปแบบของ audiobook ให้เลือกฟังได้มากมาย “การมุ่งไปยังเนื้อหาที่ไม่เคยทำในรูปแบบ audiobook มาก่อนนั้น อาจช่วยทำให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับว่าอะไรควรไม่ควรในการรุกตลาด”
เมื่อ AI ถูกนำมาใช้เป็นเสียงอ่าน ก็จะช่วยลดต้นทุนให้สำนักพิมพ์และสามารถไปเพิ่มจำนวนหนังสือที่ต้องการนำมาทำ audiobook ได้อีกทางซึ่งรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ผมเห็นภาพดังกล่าวจากสถิติระหว่างจำนวนของ audiobook ที่มีในตลาดและจำนวนหนังสือที่สามารถนำมาทำเป็น audiobook ได้ ซึ่งจากสถิติที่ Audio Publishers Association รวบรวมมานั้น มี audiobook ที่ผลิตในปี 2020 จำนวนมากกว่า 71,000 รายการ ถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูว่าเป็นจำนวนที่มากแต่มันยังเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของจำนวนหนังสือตัวเล่มที่ตีพิมพ์ในปี 2020
ทางด้าน สตีเว่น เจ โคเฮน นักแสดงและผู้ให้เสียงอ่าน audiobook กล่าวว่า “เนื่องจากเนื้อหาที่มีการตีพิมพ์ส่วนใหญ่ในแต่ละปีนั้นแทบจะไม่เคยได้นำมาทำเป็น audiobook ดังนั้นการใช้ AI ลงเสียงอ่านนั้นอาจช่วยแก้ปัญหาในการเข้าถึงหนังสือที่เหลือได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ เพราะเหตุผลที่หนังสืออื่น ๆ ที่ยังไม่ถูกนำมาทำเป็นรูปแบบ audiobook นั้น ไม่ใช่เรื่องของต้นทุนเพียงอย่างเดียวแต่ยังเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ไม่สามารถอ่านให้ฟังแล้วคิดตามได้ เช่น ต้องมีรูปภาพหรือกราฟประกอบการทำความเข้าใจ คือถ้าหนังสือที่จะทำเป็น audiobook ต้องการเพียงแค่เสียงอ่านเท่านั้น ผู้ให้เสียงประกอบก็คงตกงานกันไปนานหลายปีแล้ว”
นอกจากนั้นแล้ว โคเฮน ยังเสนอมุมมองที่ AI อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ว่า “เนื่องจาก AI มีจุดเด่นในเรื่องของการเป็นทางเลือกราคาถูกในการลงเสียงบรรยาย ดังนั้นย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรม โดยในส่วนที่จะได้รับผลกระทบก่อนใครก็คือกลุ่มผู้ผลิตอิสระ ผู้ผลิตขนาดเล็ก จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปหาผู้ผลิตรายใหญ่ตามลำดับ ทุกคนก็จะได้รับผลกระทบในที่สุด สำหรับในส่วนของสำนักพิมพ์ พวกเขาก็อาจหันมาทดลองแปรรูปหนังสือที่ขายได้น้อยหรือไม่ค่อยได้รับความสนใจ โดยนำมาทำเป็น audiobook จากนั้นก็อาจนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป”